xs
xsm
sm
md
lg

มติ คกก.คุมเหล้า ตีกลับ ประกาศห้ามขายเหล้าบนทางเท้า “นพ.สมาน” เล็งหารือสวนดุสิตโพลสำรวจความเห็นประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“นพ.สมาน” เล็งหารือสวนดุสิตโพล ทำแบบสำรวจทั่วประเทศกรณีห้ามดื่มเหล้าบนทางเท้า หลังมติ คกก.ควบคุมฯ ตีกลับให้ศึกษาใหม่

จากกรณีที่มติคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พิจารณาร่างประกาศ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จำนวน 4 ฉบับ แต่เห็นชอบ 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างประกาศ ห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงงานอุตสาหกรรม 2.ร่างประกาศห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ 3.ร่างประกาศห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน รถยนต์ทุกประเภท ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร รวมทั้งท้ายรถกระบะ ซึ่งจะมีนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่มี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็นประธานพิจารณาในวันที่ 16 พฤษภาคม ก่อนจะประกาศใช้ ส่วนอีก 1 ฉบับ คือ ร่างประกาศห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มในทางสาธารณะ หรือไหล่ทาง ทางเท้านั้น ตกไปและให้นำกลับไปศึกษา พร้อมทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้

นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีดังกล่าว ว่า มติที่ประชุมให้มีการศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับประกาศห้ามขายและห้ามดื่มเครื่องดื่มในทางสาธารณะ โดยเฉพาะประเด็นการดื่มในที่สาธารณะ ทางเท้า ไหล่ทาง โดยขณะนี้ได้ประสานความร่วมมือไปกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ในการสำรวจเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยจะสำรวจกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ทั้งที่ดื่มและไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศ ประมาณ 4,000-5,000 ตัวอย่าง ซึ่งแบบสำรวจจะถามถึงความเห็นของร่างประกาศที่ผ่านมติคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3 ฉบับด้วย แต่จะเน้นในเรื่องของร่างประกาศห้ามดื่มในที่สาธารณะ ทางเท้า ไหล่เท้า จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พิจารณาต่อไปในอีก 3 เดือนข้างหน้า พร้อมทั้งจะนำร่างประกาศเกี่ยวกับมาตรการโซนนิ่งร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ซึ่งจะห้ามขายในบริเวณ 300 เมตร และ 500 เมตร เข้าสู่การประชุมด้วยเช่นกัน

นายชูวิทย์ จันทรส เลขานุการเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วเกี่ยวกับร่างประกาศห้ามขายห้ามดื่มในที่สาธารณะ ทางเท้า ไหล่ทาง ไม่จำเป็นต้องทำประชาพิจารณ์ หรือสำรวจความคิดเห็นใดๆ ให้ยุ่งยาก เนื่องจากการควบคุมเป็นเรื่องที่ดี และไม่ใช่เรื่องยากในการแยกคนทำถูกหรือทำผิดกฎหมาย เนื่องจากในแง่เทคนิคไม่ต้องไปตรวจวัดลมหายใจ ก็สามารถตรวจจับได้ โดยหากพบว่ามีคนเมาเดินถือขวดเหล้า หรือกระป๋องเหล้าที่เปิดฝาอยู่ และมีการดื่มบนพื้นที่สาธารณะ ทางเท้า ไหล่ทาง มีสภาพเมามาย มีกลิ่นเหล้าติดตัว ทั้งหมดถือว่ามีองค์ประกอบครบ สามารถดำเนินคดีได้
นายชูวิทย์ กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นที่ระบุว่า หากจะไปออกกฎเกณฑ์ควบคุมร้านค้าที่ขายอาหาร พร้อมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามทางเท้า จะเป็นการออกกฎซ้ำซ้อนกับกฎหมายเดิม ทั้งพ.ร.บ.ทางจราจร หรือกฎหมายของกรมสรรพสามิต ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ เนื่องจากการออกกฎหมายตรงนี้มาจะช่วยให้การจับกุมเข้มงวดขึ้น เพราะปัจจุบันแค่กฎหมายของกรมสรรพสามิต ที่ระบุว่า หากไม่มีใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเหล้าในประเทศจะปรับไม่เกิน 500 บาท แต่หากเป็นเหล้าต่างประเทศจะปรับไม่เกิน 2,000 บาท นับเป็นกฎหมายที่มีโทษเล็กน้อย คนถึงกล้าทำผิด ดังนั้น การมีกฎหมายอีกฉบับในการช่วยควบคุมเรื่องนี้ ถามว่าไม่ดีหรืออย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น