xs
xsm
sm
md
lg

ห้ามเคเบิลโฆษณายา อาหารเสริม อ้างสรรพคุณเกินจริงหลอกลวงผู้บริโภค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กพย.หนุน กสท อย.ไทยคม ใช้ยาแรง ยุติเคเบิลทำรายการโฆษณายา อาหารเสริม อวดอ้างเกินจริงหลอกลวงผู้บริโภค พบอัดงบโฆษณาสื่อดาวเทียม วิทยุท้องถิ่นสูงลิ่ว เกือบ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ย้ำ ยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ไม่ให้เกิดรายการใหม่เพื่อปกป้องประชาชน

ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังสุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) กล่าวถึงกรณีที่กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เพื่อยุติการเผยแพร่ภาพทางโทรทัศน์ดาวเทียมที่ออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์เอนไซม์เจนิฟูดส์ ซันคลาร่า และเกร็กคู เนื่องจากโฆษณาเกินความจริง ว่า กพย.ขอชื่นชมและสนับสนุนการตรวจสอบดังกล่าว เพราะเป็นการปกป้องสิทธิผู้บริโภคอย่างหนึ่ง ไม่ถือว่าเป็นการกระทำเกินเลยแต่อย่างใด ซึ่งที่ผ่านมา การบังคับใช้เฉพาะกฎหมายของ อย.สามารถควบคุมและระงับได้เป็นครั้งคราว เมื่อพบการกระทำผิด แต่พบว่า ผู้ประกอบการมักละเมิดและกระทำผิดใหม่ๆ ตลอดเวลา ทำให้ไม่สามารถควบคุมได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว เช่น การระงับโฆษณาโอ้อวดเกินจริงกับผลิตภัณฑ์ที่อ้างเรื่อง อกฟู รู ฟิต ก็ปรากฏผลิตภัณฑ์ใหม่ในแนวเดียวกันอีก ดังนั้น การเตือนไม่ให้ประชาชนหลงเชื่อโฆษณาที่ไม่ได้ขออนุญาต โฆษณาเกินจริงเท่านั้นจึงไม่เพียงพอ แต่ต้องส่งเสริมให้ผู้บริโภครู้เท่าทันสื่อโฆษณาด้วย เช่น ต้องทราบว่าโฆษณาที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง ต้องแสดงเลขที่โฆษณา และโฆษณาอาหารทุกตัวไม่สามารถอ้างสรรพคุณว่ารักษาโรคได้ รวมทั้ง อย.ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้สื่อมวลชนรับทราบด้วยว่า ตามกฎหมายอาหารและยา ความผิดไม่ได้เฉพาะเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ว่าจ้างโฆษณาเท่านั้น ช่องทางสื่อสาร รวมทั้งเจ้าของรายการก็มีควผิดหวัง

ผศ.ดร.นิยดา กล่าวต่อว่า กพย.จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการทำงานของ กสทช.ทั้งข้อมูลเชิงวิชาการ และการขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ตกเป็นเหยื่อโฆษณาเกินจริงเหล่านี้ โดยมีข้อเสนอต่อ กสทช.ดังนี้ 1.แม้จะมีการระงับการออกอากาศไปแล้ว แต่ยังต้องเฝ้าระวังติดตามการโฆษณาผลิตภัณฑ์ผ่านทางโทรทัศน์ดาวเทียมที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงอย่างใกล้ชิด และยุติการเผยแพร่ทันที เพราะมักพบช่องใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา 2.เฝ้าระวังติดตามการโฆษณาผลิตภัณฑ์ทางสถานีวิทยุและสถานีวิทยุท้องถิ่นเพิ่มเติม โดยใช้แนวทางเดียวกันกับการเฝ้าระวังการโฆษณาทางโทรทัศน์ดาวเทียม และ 3.ผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบ กสทช.และผู้ประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ รวมทั้งผู้ประกอบกิจการให้บริการอย่างดาวเทียมไทยคม เพื่อให้เกิดการเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ ซึ่งเท่าที่ทราบมา ผู้บริหารดาวเทียมไทยคมเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาการโฆษณาเกินจริงแล้ว

ผศ.ดร.นิยดา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันปัญหาการโฆษณาอวดอ้างเกินจริงของยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากการนำเสนอในที่ประชุมสมัชชาแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พบว่า การโฆษณายาในช่วงปี 2549-2552 มีมูลค่าสูงกว่า 2.5 พันล้านบาทต่อปี ส่วนการโฆษณาอาหารมีมูลค่าการโฆษณาสูงถึง 1.7 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยสูงกว่าปี 2539 ถึง 12 เท่า โดยเฉพาะมูลค่าการโฆษณาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเสริมอาหารจากข้อมูลบริษัทผลิตสื่อโฆษณาเพียงบริษัทเดียวในปี 2545 พบว่า การโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีมูลค่าสูงถึง 821 ล้านบาท และมีการขยายตัวต่อเนื่องเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคผ่านสื่อหลายรูปแบบ นอกจาก เคเบิลดาวเทียมแล้ว ยังมีวิทยุท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันทั่วประเทศมีมากกว่า 7,700 แห่ง โดยพบว่า ส่วนใหญ่จะเป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและมักโฆษณาเกินจริง อวดอ้างสรรพคุณให้เข้าใจผิด ว่า สามารถรักษาโรคได้ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนที่เป็นคนจน อยู่ห่างไกลอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในขณะนี้ ที่ยังไม่มีมาตรการกำกับดูแลที่ชัดเจน และ อย.ควรให้ความสำคัญในฐานะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องหามาตรการที่เด็ดขาด จริงจังมาดำเนินการเช่นเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น