xs
xsm
sm
md
lg

บทความพิเศษ : เลือกผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อย่างชาญฉลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก อาจเป็นผลมาจากการละเลยการดูแลสุขภาพด้วยวิธีที่ถูกต้อง ประกอบกับการใช้กลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดของผู้ผลิตและผู้ประกอบการ โดยใช้การโฆษณาที่มีลักษณะอวดอ้างต่างๆ เช่น สามารถเสริมสร้างความจำ ช่วยลดน้ำหนัก เสริมสร้างกระดูก รักษาโรคกระดูกพรุน หรือช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ผู้สูงอายุและสมาชิกในครอบครัว จึงควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคืออะไร

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary Supplement) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทาน นอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ ซึ่งมีสารอาหารหรือสารอื่นเป็นองค์ประกอบ มักอยู่ใน รูปของเม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลว หรือลักษณะอื่น ซึ่งมิใช่รูปแบบอาหารปกติ สำหรับผู้บริโภค ที่หวังประโยชน์ทางด้านส่งเสริมสุขภาพ

ดังนั้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงเป็นเพียงอาหารชนิดหนึ่ง และอาหารย่อมไม่ใช่ยาที่จะไปรักษาโรคใดๆ ได้

การโฆษณาในเชิงช่วยรักษาโรคมะเร็ง โรคอ้วน โรคกระดูกพรุน จึงเป็นการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง!!


หากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้นมีสรรพคุณตามอวดอ้าง ก็ควรขึ้นทะเบียนเป็นยา ซึ่งจะมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด เพื่อพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีสรรพคุณตามระบุไว้หรือไม่

ทั้งนี้ มีคำถามว่า ผู้สูงอายุควรรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือไม่?

โดยข้อเท็จจริงแล้ว การรักษาสุขภาพของผู้สูงอายุให้แข็งแรง เพียงรับประทานอาหาร ให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณพอเหมาะ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ ออกกำลัง กายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง ทำจิตใจให้สดชื่น แจ่มใส เมื่อมีอาการเจ็บป่วย ควรพบแพทย์ เพียงเท่านี้ การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็ไม่มีความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม ในผู้สูงอายุบางรายอาจ จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งข้อแนะนำการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีดังนี้

• สังเกตบนฉลาก ต้องมีเลขสารบบอาหาร ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้รับเลขสารบบอาหารภายในเครื่องหมาย อย. แสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีสถานที่ผลิต ทั้งผู้ผลิตภายในประเทศและต่างประเทศ มีหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี และสูตรส่วนประกอบที่ใช้ในการผลิตนั้นมีความปลอดภัย

• ไม่ควรหลงเชื่อโฆษณา ควรเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้รับ กับฉลากแสดงข้อมูลของผลิตภัณฑ์ ถ้าไม่ตรงกัน หรือแสดงสรรพคุณนอกเหนือจากฉลาก ให้เชื่อเฉพาะข้อมูลที่ปรากฏบนฉลากเท่านั้น

(จากหนังสือ กินเป็น ใช้เป็น ปลอดภัย
โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)


พึงระลึกไว้เสมอว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารคืออาหาร ไม่ใช่ยา จึงไม่สามารถบรรเทา บำบัด หรือรักษาโรคใดๆ ตามที่โฆษณาอวดอ้างได้

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 135 มีนาคม 2555 โดย กองบรรณาธิการ)


กำลังโหลดความคิดเห็น