xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ออกประกาศใหม่ให้แสดงข้อความสารก่อมะเร็งที่ซองบุหรี่ 10 แบบเริ่ม 25 เม.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 16 ว่าด้วยการแสดงข้อความเกี่ยวกับสารพิษ หรือสารก่อมะเร็งในฉลากของบุหรี่ซิกาแรต 10 แบบ มีผลใช้บังคับ 25 เมษายน นี้

วันนี้ (25 เม.ย.) ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันการสูบบุหรี่ยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติ 2 ฉบับอย่างเคร่งครัด ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 และได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้มีผลบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 19 พ.ศ.2553 เรื่องกำหนดชื่อหรือประเภทของสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และกำหนดส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่สาธารณะดังกล่าวเป็นเขตสูบบุหรี่ หรือเขตปลอดบุหรี่ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2553 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 15 พ.ศ.2554 เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงคำหรือข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือจูงใจให้บริโภค ในฉลากของบุหรี่ซิกาแรต บุหรี่ซิการ์ ยาเส้น หรือยาเส้นปรุง โดยมีผลใช้บังคับวันแรกตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2555 และประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 16 พ.ศ.2554 เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การแสดงข้อความเกี่ยวกับสารพิษ หรือสารก่อมะเร็งในฉลากของบุหรี่ซิกาแรตโดยจะมีผลใช้บังคับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2555 เป็นต้นไป โดยบุหรี่ซิกาแรตต้องเปลี่ยนเป็นรูปแบบใหม่ทั้งหมด
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ดร.นายแพทย์ พรเทพ กล่าวต่อว่า สารสำคัญของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 16 มีดังนี้ 1.บุหรี่ซิกาแรต ที่ผลิตหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักร ต้องจัดให้มีฉลากแสดงข้อความเกี่ยวกับสารพิษ หรือสารก่อมะเร็ง 10 แบบคละกันไป ฉลากแสดงข้อความเกี่ยวกับสารพิษ หรือสารก่อมะเร็งทั้ง 10 แบบ ซึ่งมีดังต่อไปนี้ แบบที่ 1 ควันบุหรี่มีสารพิษไฮโดรเจนไซยาไนด์ แบบที่ 2 ควันบุหรี่มีสารพิษคาร์บอนมอนอกไซด์ แบบที่ 3 ควันบุหรี่มีสารพิษมากกว่า 250 ชนิด แบบที่ 4 ควันบุหรี่เป็นสารพิษสำคัญที่สุดในบ้าน แบบที่ 5 ควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งฟอร์มาลดีไฮด์ แบบที่ 6 ควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งเบนโซไพรีน แบบที่ 7 ควันบุหรี่มีสารก่อมะเร็งไนโตรซามีน แบบที่ 8 ควันบุหรี่เป็นสารก่อมะเร็งที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ แบบที่ 9 ควันบุหรี่มีสารกัมมันตรังสีโพโลเนียม 210 และแบบที่ 10 ควันบุหรี่มีสารเสพติดนิโคติน

2.การพิมพ์ชื่อสารพิษ และสารก่อมะเร็ง สามารถพิมพ์ชื่อสารพิษ หรือสารก่อมะเร็งแบบเดียวกันทั้งสองด้าน หรือพิมพ์ชื่อสารพิษหรือสารก่อมะเร็งคละแบบกันได้

3.ขนาดพื้นที่อย่างน้อยที่สุดที่บังคับให้ต้องแสดงข้อความเกี่ยวกับสารพิษ และสารก่อมะเร็ง ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ทั้งหมดของด้านที่จัดพิมพ์

4.กรณีที่ยกเว้นให้ไม่ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวง หากผลิตหรือนำเข้าบุหรี่ซิกาแรตเพื่อการจำหน่ายในราชอาณาจักรก่อนประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ยกเว้นการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้ 90 วัน

5.กรณีมิให้บังคับใช้ประกาศกระทรวง บุหรี่ซิกาแรตที่ผลิต หรือนำเข้าเพื่อการจำหน่ายนอกราชอาณาจักร หรือนำเข้ามาเพื่อการทดสอบ วิเคราะห์ หรือวิจัย โดยมีหลักฐานในการผลิตหรือนำเข้ามาเพื่อการดังกล่าวอย่างชัดเจน และบุหรี่ซิกาแรตที่ผู้เดินทางนำติดตัวเข้ามาตามจำนวนที่ได้รับการผ่อนผันให้นำติดตัวเข้ามา โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงานตามประกาศกรมสรรพสามิต ทั้งนี้ เฉพาะเพื่อการบริโภคของผู้นั้น

6.การพิมพ์ฉลากแสดงข้อความเกี่ยวกับสารพิษ หรือสารก่อมะเร็ง ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าบุหรี่ซิกาแรตต้องจัดพิมพ์จากต้นฉบับที่ได้รับจากสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น

เมื่อประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2554 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 มีผลใช้บังคับแล้วผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้ขายต้องปฏิบัติตามประกาศกฎกระทรวง ซึ่งผู้ผลิตและผู้นำเข้าเมื่อไม่ปฏิบัติตามประกาศกฎกระทรวง มีความผิดตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนผู้ขายเมื่อไม่ปฏิบัติตามประกาศกระทรวง มีความผิดมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท หากผู้ใดพบการกระทำความผิดตามประกาศกระทรวงฉบับดังกล่าว สามารถร้องเรียนได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร.1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร.0 2590 3333 หรือต้องการคำปรึกษาเพื่อช่วยให้คุณเลิกบุหรี่ได้ สามารถโทร.สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600” ดร.นพ.พรเทพ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น