“สุขุมพันธุ์” ทุ่ม 43 ล้าน ซ่อมสะพานไทย-เบลเยี่ยม หลังพบแผ่นคอนกรีตบางส่วนของสะพานหลุดร่อน ขณะที่เตรียมเปิดผิวถนนจุดทรุดตัวที่พระราม 4 หาสาเหตุที่แท้จริงพรุ่งนี้ เผย พบโพรงใต้ดินแห่งใหม่ที่ถนนพระราม 4 ฝั่งขาออก
วันนี้ (20 เม.ย.) เวลา 10.00 น.ที่แยกวิทยุ ถนนพระราม 4 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยนายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม. นายวินัย ลิ่มสกุล ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) และเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่ตรวจสอบเร่งรัดการซ่อมแผงคอนกรีตกันตกของสะพานข้ามทางแยกไทย-เบลเยี่ยม ที่ชำรุดเสียหายบางส่วน พร้อมทั้งมีการนำเครื่องตรวจสภาพใต้พื้นดิน ตรวจสอบถนนพระราม 4 ฝั่งขาออก
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวภายหลังการตรวจสอบ ว่า สะพานไทย-เบลเยี่ยม ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2531 และต่อมาในปี 2540 ได้ปรับปรุงครั้งใหญ่ ให้เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ผ่านมาหลายปี สะพานจึงชำรุดเสียหาย เบื้องต้นพบการหลุดร่อนของแผ่นคอนกรีต ตนจึงได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 43 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมสะพานใหม่ทั้งหมด ทั้งการซ่อมแผ่นคอนกรีต ทาสี พื้นผิวจราจร เป็นต้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการประกวดราคา หาผู้รับจ้าง อย่างไรก็ตาม นอกจากสะพานดังกล่าวแล้ว ยังมีสะพานข้ามแยกอีกหลายจุดที่ชำรุดมีการหลุดร่อนของคอนกรีต ทั้งที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กทม.และของหน่วยงานอื่น จึงได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งซ่อมแซม โดยในส่วนของ กทม.นั้น ทาง สนย.ได้มีแผนการซ่อมบำรุงรักษาสะพานข้ามแยก จำนวน 42 สะพาน โดยใช้งบประมาณ 168 ล้านบาท โดยในกลุ่มที่ 1 จำนวน 21 สะพาน งบประมาณ 77 ล้านบาท ประกอบด้วย สะพานข้ามแยกถนนพหลโยธิน-กำแพงเพชร (กำแพงเพชร), รัชดาภิเษก-พหลโยธิน (รัชโยธิน), รัชดาภิเษก-วิภาวดีรังสิต (รัชวิภา), รามคำแหง-ศรีนครินทร์ (ลำสาลี), ลาดพร้าว-สุขาภิบาล 2 (บางกะปิ), เพชรบุรี-พิษณุโลก, เพชรบุรี-พญาไท, เพชรบุรีตัดใหม่-ราชปรารภ, เอกมัย-เพชรบุรี (เอกมัย), เพชรบุรีตัดใหม่-สุขุมวิท 71 (สั้น), ถนนศรีนครินทร์-ถนนพัฒนาการ, พระรามที่ 4-สุนทรโกษา (สุนทรโกษา), ไทย-เบลเยียม (วิทยุ), ถนนดินแดง-ถนนประชาสงเคราะห์, รามคำแหง-พระราม 9 (รามคำแหง), ฉลองกรุง-ถนนสุวินทวงศ์, เจ้าคุณทหาร-สถานีบรรจุ และแยกสินค้ากล่องลาดกระบัง, รามคำแหง-มีนพัฒนา, รามคำแหง-ร่มเกล้า, ทางยกระดับรามคำแหง, ทางยกระดับเลียบบึงมักกะสัน
กลุ่มที่ 2 จำนวน 21 สะพาน งบประมาณ 91 ล้านบาท ประกอบด้วย สะพานข้ามแยกถนนศรีนครินทร์-พัฒนาการ, ศรีนครินทร์-สุขุมวิท 77, ศรีนครินทร์-สุขุมวิท 103, ประดิษฐ์มนูธรรม-ลาดพร้าว, ประดิษฐ์มนูธรรม-เกษตรตัดใหม่, ราชวิถี-พระราม 6 (ตึกชัย), ศรีอยุธยา-พญาไท (พญาไท), ดินแดง-ประชาสงเคราะห์ (โบสถ์แม่พระฯ), พระราม 3-นางลิ้นจี่, พระราม 3-สาธุประดิษฐ์ตัดใหม่-วงแหวนอุตสาหกรรม (สาธุประดิษฐ์), พระราม 3-นราธิวาสฯ, พระรามที่ 3-รัชดาภิเษก, พระราม 3-สาธุประดิษฐ์, พระรามที่ 3-เจริญราษฎร์, บางขุนเทียน-พระราม 2, สุขสวัสดิ์-พระรามที่ 2 (พระราม 2), พุทธมณฑลสาย 1-บรมราชชนนี, พุทธมณฑลสาย 2-บรมราชชนนี (พุทธมณฑลสาย 2), พุทธมณฑลสาย 3-บรมราชชนนี, ทางลงสิรินธร, บรมราชชนนี-จรัญสนิทวงศ์ และอุโมงค์ จำนวน 12 แห่ง
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวต่อว่า สำหรับถนนพระราม 4 ที่ทรุดตัวนั้น ในวันที่ 21 เมษายน เวลาประมาณ 22.00-04.00 น.เจ้าหน้าที่ สนย.ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประปานครหลวง (กปน.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะทำการเปิดผิวจราจรถนนพระราม 4 หาสาเหตุของการทรุดตัวที่แท้จริง โดยจะดำเนินการขุดลงไปที่ความลึก 3 เมตร เพื่อให้ถึงระดับความลึกของท่อระบายน้ำของ กทม.โดยแต่ละหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงสร้างใต้ดินบริเวณดังกล่าว จะเข้าทำการตรวจสอบ และประเมินผลร่วมกันพร้อมทั้งกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกัน อีกทั้ง วสท.จะร่วมดำเนินการจัดเก็บข้อมูลทางวิชาการ เพื่อนำมาใช้สรุปร่วมกันต่อไป ทั้งนี้ ในวันนี้เจ้าหน้าที่ได้นำเครื่องตรวจสภาพใต้พื้นดิน หรือ Ground Penetrating Radar (GPR) พบว่า ถนนพระราม 4 ฝั่งขาออก พบโพรงใต้ดินในบางจุด ซึ่งเมื่อทำการเปิดผิวจราจรฝั่งขาเข้าแล้ว จะเปิดผิวจราจรฝั่งขาออกเพื่อทำการซ่อมแซมด้วย
ผู้สื่อข่าวถามด้วยว่า สาเหตุที่ถนนทรุดตัวมาจากแผ่นดินไหวด้วยหรือไม่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ตนคิดว่า ไม่ย่าจะเกี่ยวข้องกันเพราะถนนมันทรุดตัวมาก่อนจะเกิดแผ่นดินไหวแล้ว