สงกรานต์ปีนี้ผมอยู่ที่แพร่ครับ
จำได้ว่ามาแพร่ครั้งแรกในชีวิตปี 2535 ที่จำได้ก็เพราะปีนั้นจบการศึกษา และต้องจับสลากเลือกสถานที่ทำงาน ปีนั้นพวกเราที่จบจากมหิดลมากันหลายคน และทุกคนก็ตื่นตาตื่นใจกับประเพณี วัฒนธรรมของภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทศกาลสงกรานต์
หลายท่านคงคุ้นชินกับภาพการเล่นสงกรานต์ของเชียงใหม่ เมืองหลวงของการเล่นสงกรานต์ แต่หากใครได้เคยมาที่แพร่ ก็จะพบว่า เทศกาลสงกรานต์ที่นี่ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าที่ไหน ถนนรอบคูเมืองเป็นที่มั่นของการเล่นน้ำของเมืองเชียงใหม่ฉันใด ถนนเจริญเมืองของแพร่ก็เป็นที่มั่นของการเล่นน้ำของเมืองแพร่ฉันนั้น มีทั้งการเล่นน้ำ การละเล่นอื่นๆ การประกวดประขันทั้งหลายก็จะเกิดบนถนนเส้นนี้ เริ่มเล่นกันในช่วงสายๆ และเริ่มคับคั่งอย่างมากในช่วงบ่ายและสลายตัวกันไปในยามค่ำ
ปีแรกๆ พวกเราสนุกกันมากกับเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนั่งอยู่หลังรถกระบะพร้อมภาชนะบรรจุน้ำ อากาศร้อนแค่ไหนก็ทำอะไรเราไม่ได้ เพราะเมื่อตัวเปียกน้ำเมื่อไร ความร้อนก็จะมลายหายไป เหลือแต่ความเย็นชุ่มฉ่ำ เสียงหัวเราะ ความสนุกสนาน จนกระทั่ง…
ช่วงเวลาของการเป็นน้องใหม่ในที่ทำงานใหม่มีเพียงสั้นๆ เท่านั้นนะครับ อย่างมากก็ 1 ปี พอมีน้องรุ่นใหม่มา พวกเราก็จะขยับเป็นรุ่นพี่ เทศกาลที่ควรเป็นวันหยุดพักผ่อน สำหรับบุคลากรทางการแพทย์คือวันทำงาน หรือช่วงเวลาที่ต้องเตรียมตัวรองรับงานที่อาจจะเกิดขึ้น และภาพอีกด้านหนึ่งของสงกรานต์ก็มาทักทายให้พวกเราได้รู้จัก
ทันตแพทย์อย่างผมอาจโชคดีที่ไม่ต้องไปอยู่ประจำห้องฉุกเฉิน แต่เพื่อนๆ แพทย์ พยาบาลมักต้องยึดห้องฉุกเฉินเป็นสถานที่ทำงาน พักผ่อน และเตรียมพร้อมสำหรับเหตุที่ไม่คาดฝันอยู่เสมอ และบางครั้งก็ตลอด 24 ชั่วโมง ในขณะที่หลายคนกำลังรดน้ำกันอย่างสนุกสนาน ก็ยังมีอีกหลายคนกำลังง่วนอยู่กับการปฐมพยาบาล ทำแผล ผ่าตัด เข้าเฝือก …
คนไทยโชคดีอยู่อย่างหนึ่ง คือ ได้รับความคุ้มครองจากรัฐในการดูแลสุขภาพยามเจ็บไข้ได้ป่วย หากรับราชการก็จะได้รับความคุ้มครองในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ขณะนี้มีสมาชิกราว 6 ล้านคน หากทำงานในภาคเอกชนเป็นมนุษย์เงินเดือนก็จะได้รับความคุ้มครองในระบบประกันสังคม ซึ่งมีสมาชิกราว 10 ล้านคน และถ้าเป็นประชาชนนอกเหนือจากสองกลุ่มข้างต้น ก็จะได้รับความคุ้มครองจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมีสมาชิกราว 48 ล้านคน นอกเหนือจากนี้ยังมีประชาชนอีกราว 2 ล้านคน ที่มีสิทธิอื่นๆ เช่น ครูโรงเรียนเอกชน รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นต้น กติกาในการรับการรักษาพยาบาลก็ไม่มีอะไรซับซ้อน หลักการง่ายๆ ก็คือ สมาชิกที่อยู่ในความคุ้มครองของระบบใด ก็เลือกโรงพยาบาลที่จะฝากผีฝากไข้ไว้ก่อนล่วงหน้า เมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาก็ไปรับบริการในโรงพยาบาลที่เราได้เลือกไว้แล้ว โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากอาการของเราหนักเกินกว่าโรงพยาบาลที่เราเลือกไว้จะรักษาได้ คุณหมอก็จะส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าเราก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ในชีวิตจริงจะมีคนจำนวนหนึ่งไม่อยู่ในภูมิลำเนาตลอดเวลา อาจเป็นเพราะหน้าที่การงาน หรือเดินทางท่องเที่ยว หากเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นมา ไม่สามารถไปรับบริการยังโรงพยาบาลหลักของเราได้ในขณะนั้น ก็ยังสามารถไปรับบริการยังโรงพยาบาลเครือข่ายในระบบของเราได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
โชคดีว่าโรงพยาบาลในเครือข่ายของแต่ละระบบมีจำนวนมากในทุกจังหวัดในประเทศไทย แต่บางครั้งประชาชนอาจเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ที่ห่างไกลจากโรงพยาบาลในระบบ จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างรีบด่วนในโรงพยาบาลนอกระบบ ซึ่งมักเป็นโรงพยาบาลเอกชน ถ้าเป็นเช่นนี้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ประชาชนต้องสำรองจ่าย ซึ่งก็จะทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น มากบ้างน้อยบ้างตามอาการฉุกเฉินที่เข้ารับบริการ
เราคงเคยได้ยินข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง ลงข่าวชาวบ้านที่ต้องขายทรัพย์สินเพื่อไปใช้หนี้รักษาพยาบาล
รัฐบาลก็ตระหนักในปัญหาดังกล่าว จึงดำริให้ประชาชนที่ประสบภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิตสามารถไปรับบริการที่โรงพยาบาลใดๆ ก็ได้ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากระบบเดิมคือ ประชาชนสามารถไปรับบริการในโรงพยาบาลเอกชนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะรัฐจะเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนประชาชนในอัตราและเงื่อนไขที่กำหนดขึ้น
แปลว่าต่อจากนี้ เจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อไร จะไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนที่ไหนก็ได้ใช่ไหม คำตอบก็คือ ใช่และไม่ใช่ครับ ที่ “ใช่” คือ หากเจ็บป่วยฉุกเฉินที่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิต ญาติสามารถนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทันที และหากโรงพยาบาลดังกล่าวเป็นโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบ ประชาชนก็ไม่ต้องสำรองจ่าย รัฐจะเป็นคนจ่ายค่าบริการให้แทน โดยจะจ่ายให้จนกว่าผู้ป่วยจะพ้นภาวะวิกฤติ และเมื่อพ้นภาวะวิกฤต และมีอาการดีขึ้นจนสามารถเคลื่อนย้ายได้ ก็จะส่งผู้ป่วยกลับไปรักษายังโรงพยาบาลในระบบต่อไป แต่ที่ว่า “ไม่ใช่” ก็คือ หากผู้ป่วยหรือญาตินำคนไข้ที่แม้ว่าจะเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน จำเพาะเจาะจงไปรับการรักษายังโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียง ระหว่างการเคลื่อนย้ายก็ผ่านโรงพยาบาลในระบบตนเองไปเสียหลายแห่ง กรณีอย่างนี้ไม่เข้าข่ายครับ เพราะถ้าฉุกเฉินรุนแรงจริง คงไม่มีเวลานั่งเลือกโรงพยาบาล ใกล้ที่ไหนก็ต้องเข้ารับบริการก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อไปรับการปฐมพยาบาลก่อน หากเกินขีดความสามารถหรืออาการหนักเกินไป คุณหมอท่านก็จะส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่มีขีดความสามารถเหนือกว่าเอง
ผลการให้บริการผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันที่ 15 เมษายน 2555 มีจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้นอย่างเป็นทางการรวม 437 ราย เฉลี่ยวันละเกือบ 30 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 7 ราย ผู้ป่วยในเฉลี่ยวันละ 23 ราย
การดำเนินโครงการ รัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่เป็นสำนักงานหักบัญชี (Clearing House) โดยเปิดสายด่วน 1330 ให้ประชาชนโทรไปสอบถามหากมีข้อสงสัย เรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการรับบริการ และเปิดสายด่วน 1669 สำหรับประชาชนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการฉุกเฉิน หรือแจ้งให้ส่งรถฉุกเฉินมารับตัวไปรักษาตัวในโรงพยาบาล
คำถามยอดนิยมผ่านสายด่วน 1330 และ 1669 ก็คือ อาการเช่นนี้ เช่นนั้น เข้าข่าย “ฉุกเฉิน” หรือไม่ ก็ต้องเรียนย้ำอีกครั้งนะครับว่า อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เข้าข่าย หมายถึงการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งแน่นอนว่าช่วงหน้าสิ่งหน้าขวาน ก็ควรจะเข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด อย่างน้อยก็ให้ไปถึงมือหมอเสียก่อน จะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนก็ได้ ช่วง 15 วันที่ผ่านมา พบอยู่บ่อยครั้งนะครับที่ผู้ป่วยมีอาการไม่เข้าข่ายฉุกเฉินจริง มุ่งหน้าตรงไปรับการรักษายังโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียง ถ้าเป็นอย่างนี้ต้องถือว่าไม่เข้าข่ายนะครับ เหตุก็เพราะว่า โรงพยาบาลแต่ละแห่ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน ก็ล้วนแล้วแต่มีทรัพยากรจำกัดทั้งสิ้น ดังนั้นแต่ละแห่งจะมีเตียงไว้รองรับผู้ป่วยอาการฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตจำนวนจำกัด หากมีผู้ป่วยที่มีอาการไม่ฉุกเฉินจริงและรับเข้ารักษาไปแล้ว ก็จะเหลือเตียงไว้รับผู้ป่วยอาการฉุกเฉินจริงๆ ไม่พอ
ผมเชื่อว่า ไม่มีใครอยากเจ็บป่วยฉุกเฉินหรอกครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่มีอันตรายจนถึงแก่ชีวิต แต่เมื่อเกิดเหตุอันสุดวิสัยนั้นขึ้นมา เราสามารถเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้โดยมีใครสักคนช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายจนอาการทุเลา น่าจะเป็นของขวัญชิ้นเยี่ยมจากภาครัฐที่มอบให้กับคนไทยทุกคนครับ
คอลัมน์...ได้อย่างไม่เสียอย่าง โดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการชดเชยค่าบริการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบกับหมอเอกได้ทุกสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน นะคะ!
จำได้ว่ามาแพร่ครั้งแรกในชีวิตปี 2535 ที่จำได้ก็เพราะปีนั้นจบการศึกษา และต้องจับสลากเลือกสถานที่ทำงาน ปีนั้นพวกเราที่จบจากมหิดลมากันหลายคน และทุกคนก็ตื่นตาตื่นใจกับประเพณี วัฒนธรรมของภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทศกาลสงกรานต์
หลายท่านคงคุ้นชินกับภาพการเล่นสงกรานต์ของเชียงใหม่ เมืองหลวงของการเล่นสงกรานต์ แต่หากใครได้เคยมาที่แพร่ ก็จะพบว่า เทศกาลสงกรานต์ที่นี่ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าที่ไหน ถนนรอบคูเมืองเป็นที่มั่นของการเล่นน้ำของเมืองเชียงใหม่ฉันใด ถนนเจริญเมืองของแพร่ก็เป็นที่มั่นของการเล่นน้ำของเมืองแพร่ฉันนั้น มีทั้งการเล่นน้ำ การละเล่นอื่นๆ การประกวดประขันทั้งหลายก็จะเกิดบนถนนเส้นนี้ เริ่มเล่นกันในช่วงสายๆ และเริ่มคับคั่งอย่างมากในช่วงบ่ายและสลายตัวกันไปในยามค่ำ
ปีแรกๆ พวกเราสนุกกันมากกับเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนั่งอยู่หลังรถกระบะพร้อมภาชนะบรรจุน้ำ อากาศร้อนแค่ไหนก็ทำอะไรเราไม่ได้ เพราะเมื่อตัวเปียกน้ำเมื่อไร ความร้อนก็จะมลายหายไป เหลือแต่ความเย็นชุ่มฉ่ำ เสียงหัวเราะ ความสนุกสนาน จนกระทั่ง…
ช่วงเวลาของการเป็นน้องใหม่ในที่ทำงานใหม่มีเพียงสั้นๆ เท่านั้นนะครับ อย่างมากก็ 1 ปี พอมีน้องรุ่นใหม่มา พวกเราก็จะขยับเป็นรุ่นพี่ เทศกาลที่ควรเป็นวันหยุดพักผ่อน สำหรับบุคลากรทางการแพทย์คือวันทำงาน หรือช่วงเวลาที่ต้องเตรียมตัวรองรับงานที่อาจจะเกิดขึ้น และภาพอีกด้านหนึ่งของสงกรานต์ก็มาทักทายให้พวกเราได้รู้จัก
ทันตแพทย์อย่างผมอาจโชคดีที่ไม่ต้องไปอยู่ประจำห้องฉุกเฉิน แต่เพื่อนๆ แพทย์ พยาบาลมักต้องยึดห้องฉุกเฉินเป็นสถานที่ทำงาน พักผ่อน และเตรียมพร้อมสำหรับเหตุที่ไม่คาดฝันอยู่เสมอ และบางครั้งก็ตลอด 24 ชั่วโมง ในขณะที่หลายคนกำลังรดน้ำกันอย่างสนุกสนาน ก็ยังมีอีกหลายคนกำลังง่วนอยู่กับการปฐมพยาบาล ทำแผล ผ่าตัด เข้าเฝือก …
คนไทยโชคดีอยู่อย่างหนึ่ง คือ ได้รับความคุ้มครองจากรัฐในการดูแลสุขภาพยามเจ็บไข้ได้ป่วย หากรับราชการก็จะได้รับความคุ้มครองในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ขณะนี้มีสมาชิกราว 6 ล้านคน หากทำงานในภาคเอกชนเป็นมนุษย์เงินเดือนก็จะได้รับความคุ้มครองในระบบประกันสังคม ซึ่งมีสมาชิกราว 10 ล้านคน และถ้าเป็นประชาชนนอกเหนือจากสองกลุ่มข้างต้น ก็จะได้รับความคุ้มครองจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งมีสมาชิกราว 48 ล้านคน นอกเหนือจากนี้ยังมีประชาชนอีกราว 2 ล้านคน ที่มีสิทธิอื่นๆ เช่น ครูโรงเรียนเอกชน รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นต้น กติกาในการรับการรักษาพยาบาลก็ไม่มีอะไรซับซ้อน หลักการง่ายๆ ก็คือ สมาชิกที่อยู่ในความคุ้มครองของระบบใด ก็เลือกโรงพยาบาลที่จะฝากผีฝากไข้ไว้ก่อนล่วงหน้า เมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้นมาก็ไปรับบริการในโรงพยาบาลที่เราได้เลือกไว้แล้ว โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หากอาการของเราหนักเกินกว่าโรงพยาบาลที่เราเลือกไว้จะรักษาได้ คุณหมอก็จะส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพมากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าเราก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ในชีวิตจริงจะมีคนจำนวนหนึ่งไม่อยู่ในภูมิลำเนาตลอดเวลา อาจเป็นเพราะหน้าที่การงาน หรือเดินทางท่องเที่ยว หากเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นมา ไม่สามารถไปรับบริการยังโรงพยาบาลหลักของเราได้ในขณะนั้น ก็ยังสามารถไปรับบริการยังโรงพยาบาลเครือข่ายในระบบของเราได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
โชคดีว่าโรงพยาบาลในเครือข่ายของแต่ละระบบมีจำนวนมากในทุกจังหวัดในประเทศไทย แต่บางครั้งประชาชนอาจเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ที่ห่างไกลจากโรงพยาบาลในระบบ จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาอย่างรีบด่วนในโรงพยาบาลนอกระบบ ซึ่งมักเป็นโรงพยาบาลเอกชน ถ้าเป็นเช่นนี้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ประชาชนต้องสำรองจ่าย ซึ่งก็จะทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น มากบ้างน้อยบ้างตามอาการฉุกเฉินที่เข้ารับบริการ
เราคงเคยได้ยินข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง ลงข่าวชาวบ้านที่ต้องขายทรัพย์สินเพื่อไปใช้หนี้รักษาพยาบาล
รัฐบาลก็ตระหนักในปัญหาดังกล่าว จึงดำริให้ประชาชนที่ประสบภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิตสามารถไปรับบริการที่โรงพยาบาลใดๆ ก็ได้ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากระบบเดิมคือ ประชาชนสามารถไปรับบริการในโรงพยาบาลเอกชนได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะรัฐจะเป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนประชาชนในอัตราและเงื่อนไขที่กำหนดขึ้น
แปลว่าต่อจากนี้ เจ็บไข้ได้ป่วยเมื่อไร จะไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนที่ไหนก็ได้ใช่ไหม คำตอบก็คือ ใช่และไม่ใช่ครับ ที่ “ใช่” คือ หากเจ็บป่วยฉุกเฉินที่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิต ญาติสามารถนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้ทันที และหากโรงพยาบาลดังกล่าวเป็นโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบ ประชาชนก็ไม่ต้องสำรองจ่าย รัฐจะเป็นคนจ่ายค่าบริการให้แทน โดยจะจ่ายให้จนกว่าผู้ป่วยจะพ้นภาวะวิกฤติ และเมื่อพ้นภาวะวิกฤต และมีอาการดีขึ้นจนสามารถเคลื่อนย้ายได้ ก็จะส่งผู้ป่วยกลับไปรักษายังโรงพยาบาลในระบบต่อไป แต่ที่ว่า “ไม่ใช่” ก็คือ หากผู้ป่วยหรือญาตินำคนไข้ที่แม้ว่าจะเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน จำเพาะเจาะจงไปรับการรักษายังโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียง ระหว่างการเคลื่อนย้ายก็ผ่านโรงพยาบาลในระบบตนเองไปเสียหลายแห่ง กรณีอย่างนี้ไม่เข้าข่ายครับ เพราะถ้าฉุกเฉินรุนแรงจริง คงไม่มีเวลานั่งเลือกโรงพยาบาล ใกล้ที่ไหนก็ต้องเข้ารับบริการก่อนเป็นอันดับแรกเพื่อไปรับการปฐมพยาบาลก่อน หากเกินขีดความสามารถหรืออาการหนักเกินไป คุณหมอท่านก็จะส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่มีขีดความสามารถเหนือกว่าเอง
ผลการให้บริการผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน จนถึงวันที่ 15 เมษายน 2555 มีจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้นอย่างเป็นทางการรวม 437 ราย เฉลี่ยวันละเกือบ 30 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ 7 ราย ผู้ป่วยในเฉลี่ยวันละ 23 ราย
การดำเนินโครงการ รัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทำหน้าที่เป็นสำนักงานหักบัญชี (Clearing House) โดยเปิดสายด่วน 1330 ให้ประชาชนโทรไปสอบถามหากมีข้อสงสัย เรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการรับบริการ และเปิดสายด่วน 1669 สำหรับประชาชนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการฉุกเฉิน หรือแจ้งให้ส่งรถฉุกเฉินมารับตัวไปรักษาตัวในโรงพยาบาล
คำถามยอดนิยมผ่านสายด่วน 1330 และ 1669 ก็คือ อาการเช่นนี้ เช่นนั้น เข้าข่าย “ฉุกเฉิน” หรือไม่ ก็ต้องเรียนย้ำอีกครั้งนะครับว่า อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เข้าข่าย หมายถึงการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ซึ่งแน่นอนว่าช่วงหน้าสิ่งหน้าขวาน ก็ควรจะเข้ารับบริการในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด อย่างน้อยก็ให้ไปถึงมือหมอเสียก่อน จะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนก็ได้ ช่วง 15 วันที่ผ่านมา พบอยู่บ่อยครั้งนะครับที่ผู้ป่วยมีอาการไม่เข้าข่ายฉุกเฉินจริง มุ่งหน้าตรงไปรับการรักษายังโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียง ถ้าเป็นอย่างนี้ต้องถือว่าไม่เข้าข่ายนะครับ เหตุก็เพราะว่า โรงพยาบาลแต่ละแห่ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน ก็ล้วนแล้วแต่มีทรัพยากรจำกัดทั้งสิ้น ดังนั้นแต่ละแห่งจะมีเตียงไว้รองรับผู้ป่วยอาการฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตจำนวนจำกัด หากมีผู้ป่วยที่มีอาการไม่ฉุกเฉินจริงและรับเข้ารักษาไปแล้ว ก็จะเหลือเตียงไว้รับผู้ป่วยอาการฉุกเฉินจริงๆ ไม่พอ
ผมเชื่อว่า ไม่มีใครอยากเจ็บป่วยฉุกเฉินหรอกครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่มีอันตรายจนถึงแก่ชีวิต แต่เมื่อเกิดเหตุอันสุดวิสัยนั้นขึ้นมา เราสามารถเข้ารับการรักษายังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดได้โดยมีใครสักคนช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายจนอาการทุเลา น่าจะเป็นของขวัญชิ้นเยี่ยมจากภาครัฐที่มอบให้กับคนไทยทุกคนครับ
คอลัมน์...ได้อย่างไม่เสียอย่าง โดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการชดเชยค่าบริการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบกับหมอเอกได้ทุกสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน นะคะ!