สธ.เร่งผลิตทันตาภิบาล 3,200 คน ในปี 55-56 แก้ปัญหาการขาดแคลนใน รพ.สต.ดูแลสุขภาพปากและฟันประชาชนที่อยู่ในชนบทประมาณ 50 ล้านคน คาดจะเริ่มรับสมัครปีแรก 1,600 คนใน มิ.ย.นี้ เผยขณะนี้มีทันตาภิบาลปฏิบัติงานใน รพ.สต.เพียง 1,500 คนเท่านั้น
นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงฯ ได้พัฒนาสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 9,750 แห่งทั่วประเทศ และได้ปรับยุทธศาสตร์การทำงานเน้นการให้บริการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคเป็นหลัก และให้การรักษาพยาบาลการเจ็บป่วยเบื้องต้นแก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชนบทซึ่งมีประมาณ 50 ล้านคน อย่างไรก็ดี จากการสำรวจบุคลากรของ รพ.สต.พบว่า มีความขาดแคลนทันตาภิบาล ซึ่งทำหน้าที่ในการดูแล ส่งเสริมสุขภาพช่องปากและฟัน มากถึงร้อยละ 80 โดยมีทันตาภิบาลปฏิบัติงานเพียงประมาณ 1,500 แห่ง หรือประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น ส่วนที่เหลือประชาชนต้องเดินทางไปใช้บริการที่โรงพยาบาลชุมชน ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปี 2555 จึงมีนโยบายจัดทำโครงการผลิตทันตาภิบาล เพื่อปฏิบัติงานใน รพ.สต.เป็นกรณีเร่งด่วน จำนวน 3,200 คน ระหว่าง พ.ศ.2555-2556 ผลิตปีละ 1,600 คน โดยใช้งบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีละ 30 ล้านบาท
ด้าน นพ.นิทัศน์ รายยวา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โดยทั่วไป สถาบันพระบรมราชชนก ผลิตทันตาภิบาลในระบบปกติปีละ 300-400 คน ในการผลิตทันตาภิบาลแก้ไขปัญหาเร่งด่วนนี้ จะเริ่มรับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ เช่น หมู่บ้าน ตำบล หรือในอำเภอนั้นๆ เข้าเรียน โดยศึกษาที่วิทยาลัยการสาธารณสุข สังกัดสถาบันพระบรมราชชนกที่มี 7 แห่งทั่วประเทศ ในเดือนมิถุนายน 2555 และจะฝึกภาคปฏิบัติในโรงพยาบาลชุมชน ภายใต้การดูแลของทันตแพทย์ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะส่งไปปฏิบัติงานใน รพ.สต.ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับการดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน เช่น ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน เคลือบหลุมร่องฟัน ใกล้บ้าน ไม่ต้องเดินทางไปหาทันตแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชน รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ป้องกันปัญหาฟันผุในเด็กนักเรียน เด็กเล็กในพื้นที่ด้วย
ผลการสำรวจสุขภาพช่องปากประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในระดับประเทศครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2550 พบว่าเด็กอายุ 3 ปี พบฟันน้ำนมผุร้อยละ 61 พบในเด็กที่อยู่ในเขตชนบทร้อยละ 67 ในเขตเมือง ร้อยละ 55 กลุ่มเด็กอายุ 5 ปี พบว่ามีประสบการณ์ฟันผุร้อยละ 81 กลุ่มเด็กอายุ 12 ปี พบฟันผุร้อยละ 57 มีประสบการณ์ฟันผุ พบในภาคกลางสูงสุดเฉลี่ยร้อยละ 64 กลุ่มอายุ 15 ปี มีฟันผุร้อยละ 66 พบในชนบทสูงกว่าเขตเมือง ส่วนในกลุ่มอายุ 35-44 ปี พบร้อยละ 83 สูญเสียฟัน เฉลี่ยคนละเกือบ 4 ซี่ ในกลุ่มผู้สูงอายุ เสียฟันมากกว่ากลุ่มอื่น เฉลี่ยมากกว่า 10 ซี่ และยังพบฟันที่เหลือมีปัญหาผุที่รากฟันด้วย จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากทันตบุคลากรตั้งแต่เด็ก ซึ่งจะสามารถปลูกฝังพฤติกรรมการดูสุขภาพช่องปากอย่างถูกต้อง และจะสามารถลดการสูญเสียฟันในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุได้