xs
xsm
sm
md
lg

“ธนาคารผลไม้บ้านแม่กึ๊ด” ต้นแบบเด็กโภชนาการสมวัยด้วยพลังชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

จากข้อมูลสุขภาพฟันเด็กไทยของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า เด็กอายุ 3 ขวบเป็นโรคฟันน้ำนมผุร้อยละ 61 และเพิ่มถึงร้อยละ 81 เมื่ออายุ 5 ขวบ ปัญหาเกิดจากผู้ปกครองเริ่มแปรงฟันให้เด็กช้า ไม่แปรงฟันทุกวัน และเด็กนิยมบริโภคขนมและน้ำอัดลม

ไม่เพียงเท่านั้น นายสง่า ดามาพงษ์ อุปนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยภายหลังศึกษาดูงานโครงการพัฒนาระบบกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย ที่บ้านแม่กึ๊ด อ.เสริมงาม จ.ลำปาง ของคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยว่า ปัญหาสุขภาพเด็กไทยที่พบมาก คือ ผอมเตี้ยอ้วนโง่ มีสาเหตุมาจากเรื่องโภชนาการ การจะสร้างระบบกลไกให้เด็กมีสุขภาพดีสมวัยทั่วประเทศถือเป็นเรื่องยาก เนื่องจากอำนาจตกมาอยู่ที่ท้องถิ่น ดังนั้น จึงต้องทำให้คนในท้องถิ่นลุกขึ้นมาสร้างเด็กให้มีสุขภาพดี ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศในอนาคตให้ได้ วิธีหนึ่งที่ได้ผลดีคือ การทำให้ผู้นำชุมชนเห็นความสำคัญและลงมือปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนคล้อยตามได้ง่ายกว่าเจ้าหน้าที่จาก กทม.

บ้านแม่กึ๊ด จ.ลำปาง เป็นตัวอย่างที่ผู้นำชุมชนเห็นความสำคัญของโภชนาการเด็กสมวัย และคนในชุมชนมีส่วนร่วมปฏิบัติ ทั้งเจ้าหน้าที่ศูนย์เด็กเล็ก ผู้ปกครอง และ อสม.รวมกันเป็นพลังชุมชน โดยอาศัยนวัตกรรม คือ โครงการธนาคารผลไม้ ส่งผลให้สุขภาพเด็กในหมู่บ้านดีขึ้น

จากการสอบถาม นางวิสัย อุดก้อน เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขชำนาญการ รพ.เสริมงาม ทำให้ทราบว่า เด็กแม่กึ๊ดอายุ 2-4 ขวบ มีจำนวน 28 คน มีปัญหาฟันผุมากถึงร้อยละ 67 แต่เมื่อนำโครงการธนาคารผลไม้มาใช้ ปรากฏว่า จำนวนเด็กฟันผุลดลงเหลือร้อยละ 45 เท่านั้น นอกจากนี้ เด็กยังรู้จักเลือกกินอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายด้วย

สำหรับธนาคารผลไม้ นางวิสัย อธิบายว่า มีเทคนิคปฏิบัติ 2 วิธี คือ การออมและการให้คะแนน โดยปกติเมื่อเด็กได้รับเงินจากผู้ปกครองจะนิยมซื้อขนมมากิน จึงนำเรื่องการออมมาบูรณาการโดยให้เด็กเลือกกระปุกออมสินรูปผลไม้เป็นผลไม้แทนตัว เช่น กล้วย จากนั้นจะสอนให้เด็กรู้จักประโยชน์ของกล้วยในทุกด้าน ขณะที่ อสม.เมื่อมาตรวจสุขภาพจะช่วยย้ำถึงประโยชน์ของผลไม้ที่มีต่อร่างกาย และอาหาร ขนม น้ำประเภทใดที่กินมากๆ แล้วจะมีโทษต่อร่างกาย ส่วนผู้ปกครองให้ความร่วมมือด้วยการให้เด็กนำผลไม้ไปกินทุกวัน เมื่อเด็กมีผลไม้ไว้กินแล้วก็จะนำเงินที่ได้รับแต่ละวันมาออมแทน

“ผู้ปกครองจะเป็นผู้กรอกจำนวนเงินออมในสมุดประจำตัวเด็ก ซึ่งเงินและสมุดจะเก็บไว้ที่เจ้าหน้าที่ศูนย์เด็กเล็ก และจะส่งคืนให้ในช่วงสิ้นปี เด็กบางคนออมได้หลายพัน บางคนก็ได้เป็นหมื่น ซึ่งเงินตรงนี้เหมือนเป็นรางวัลของเด็กให้ไปซื้อของที่อยากได้ แต่บางรายก็เก็บไว้ออมต่อในปีหน้า”

ส่วนการให้คะแนน นางวิสัย อธิบายว่า เด็กที่นำผลไม้มากินจะให้บวก 1 คะแนน แต่ถ้านำขนมมาจะให้ลบ 1 คะแนน ยอมรับว่าทั้งสองวิธีนั้น แรกๆยังไม่ได้รับความร่วมมือ แต่เมื่อทำไปสักพักจะเกิดการแข่งขันกันเอง เด็กมีการฟ้องว่าใครแอบเอาขนมมา ทำให้เด็กเกิดความอายและรู้สึกผิดในการกินขนม สุดท้ายจึงพร้อมใจกันนำผลไม้มากินทุกวันแทนโดยปริยาย

นอกจากนี้ แต่ละวันผู้ปกครองจะสลับกันมาทำอาหารกลางให้เด็ก ซึ่งวัตถุดิบนั้นรับซื้อมาจากผลผลิตในหมู่บ้านซึ่งปลูกเองกินเอง ทำให้ข้าว ผัก และผลไม้มีความสะอาด ปลอดสารพิษ ได้ประโยชน์ครบถ้วน ซึ่งตรงนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในชุมชนด้วยเช่นกัน

ด้าน นายก้องภพ อินต๊ะจักร ผู้นำเกษตรกรบ้านแม่กึ๊ด อธิบายเพิ่มเติมว่า ผลผลิตในหมู่บ้านจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์และไม่ใช้สารฆ่าแมลง อย่างข้าวจะอาศัยการทำนาดำ ซึ่งจะมีการถอนกล้าเพื่อบำรุงดินก่อนดำนาอีกครั้ง ทำให้ข้าวมีความอุดมสมบูรณ์กว่าการหว่านข้าวทั่วไป ส่วนผักผลไม้ทุกบ้านจะปลูกกินเองอยู่แล้ว หากเหลือก็จะนำไปขายทั้งศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน และโรงพยาบาล ทำให้เด็กและผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีตามหลักโภชนาการสมวัย

นับว่าพฤติกรรมการดูแลโภชนาการเด็กสมวัยของบ้านแม่กึ๊ด มีความสอดคล้องกับเรื่องอาหารปลอดภัยของ สสส.พอดี ซึ่ง รศ.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส.เปิดเผยว่า สสส.จะให้ความสำคัญเรื่องอาหารปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางคือเรื่องของการทำเกษตรกรรม การขนส่งอาหาร ตลาดสด การผลิตอาหาร สถานที่ ไปจนถึงการบริโภค ซึ่งจะรณรงค์มากเป็นพิเศษในสถานที่สำคัญ อาทิ โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก โรงพยาบาล และวัด โดยเน้นในเรื่องของการบริหารจัดการภายในชุมชน อย่างบ้านแม่กึ๊ดถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ เนื่องมาจากความร่วมมือของคนในชุมชน เป็นสัญญาณว่าการส่งเสริมสุขภาพเด็กให้มีโภชนาการสมวัยนั้น ต้องเริ่มจากการปลุกพลังชุมชนก่อน จึงจะสามารถสร้างสุขภาพที่ดีให้เด็กในชุมชนได้อย่างยั่งยืน




กำลังโหลดความคิดเห็น