สธ.ส่งแพทย์ป้ายแดง 634 คน ดูแลสุขภาพชาวชนบท เริ่มปฏิบัติงาน 1 เมษายนนี้ ปฐมนิเทศแพทย์ ทั้งที่จบจากระบบปกติ และโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ทันตแพทย์ เภสัชกรจบใหม่ ที่ จ.นครนายก 1-2 เมษายน เผยแพทย์จบใหม่ปีนี้ เรียนดีเยี่ยมระดับเกียรตินิยมถึงร้อยละ 26
วันนี้ (31 มี.ค.) ที่โรงแรมริชมอนด์ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีมอบสัมฤทธิบัตร แพทย์ที่สำเร็จการศึกษาโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท รุ่นที่ 12 จำนวน 634 คน โดยแพทย์ดังกล่าวจะเริ่มปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน สังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นไป โดยปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนในภาคกลาง 95 คน ภาคเหนือ 211 คน ตะวันออกเฉียงเหนือ 220 คน และใต้ 108 คน ในจำนวนนี้ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส 24 คน
นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแพทย์ โดยเฉพาะการกระจายแพทย์ในชนบท โดยร่วมมือกับทบวงมหาวิทยาลัย จัดโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท เป็นกรณีพิเศษ นอกเหนือจากการผลิตแพทย์ในระบบปกติ เริ่มตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา ตามมติคณะรัฐมนตรี และขยายโครงการฯอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 5 โครงการ เป้าหมายการผลิตรวมทั้งหมด 11,495 คน จนถึงขณะนี้ สามารถผลิตแพทย์จากโครงการ ไปดูแลประชาชนในชนบทรวมที่จบปีนี้ 12 รุ่น จำนวน 3,219 คน
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ในการกระจายแพทย์ลงไปประจำโรงพยาบาลชุมชนสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ จะมีคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรไปปฏิบัติงานในจังหวัดต่างๆ โดยให้แพทย์เลือกลงพื้นที่ตามความสมัครใจ หากเกินจากโควตาที่กำหนดจะใช้วิธีจับฉลาก โดยในวันที่ 1-2 เมษายน 2555 นี้ จะจัดปฐมนิเทศแพทย์ทั้งที่จบจากระบบปกติและโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ ทันตแพทย์ เภสัชกรจบใหม่ ที่จ.นครนายก ซึ่งตนจะเดินทางไปมอบนโยบายการทำงาน ในวันที่ 1 เมษายน 2555 ด้วย
ด้านนพ.สมชัย นิจพานิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แพทย์ที่จบใหม่ในปีนี้ 634 คน มีผลการเรียนดีเยี่ยมระดับเกียรตินิยมถึงร้อยละ 26 ประกอบด้วย เกียรตินิยมอันดับ 1 จำนวน 52 คน เกียรตินิยมอันดับ 2 จำนวน 112 คน ในการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มฯ จะคัดเลือกผู้ที่มีผลการเรียนดี เข้าเรียน 6 ปี ตามหลักสูตรมาตรฐานของคณะแพทย์ เมื่อจบแล้วจะกลับไปทำงานในภูมิลำเนาที่รับทุนเป็นเวลา 3 ปี ขณะนี้มีมหาวิทยาลัยให้ความร่วมมือในการผลิต 13 แห่ง ได้แก่ ขอนแก่น จุฬาลงกรณ์ เชียงใหม่ ธรรมศาสตร์ นเรศวร มหิดล สงขลานครินทร์ เทคโนโลยีสุรนารี นเรศวร มหาสารคาม วลัยลักษณ์ บูรพา อุบลราชธานี และนราธิวาสราชนครินทร์ โดยมหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอนภาคทฤษฎีในชั้นปีที่ 1-3 และในชั้นปีที่ 4-6 จัดการเรียนการสอนภาคปฏิบัติในโรงพยาบาลศูนย์ของกระทรวงสาธารณสุข 34 แห่ง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2538-2554 รับนักเรียนเข้าเรียนแล้ว 17 รุ่น จำนวน 8,017 คน สำเร็จการศึกษาไปปฏิบัติงานในพื้นที่แล้ว 11 รุ่น รวม 2,585 คน โดยอยู่ในภาคใต้ 365 คน กลาง 534 คน เหนือ 906 คน และตะวันออกเฉียงเหนือ 780 คน
ทั้งนี้ 5 โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ได้แก่ 1.โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท พ.ศ.2538-2549 จำนวน 3,000 คน 2.โครงการเร่งรัดการผลิตแพทย์ของโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท พ.ศ.2547-2556 จำนวน 3,807 คน 3.โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐด้านสาธารณสุข พ.ศ.2549-2552 จำนวน 2,798 คน 4.โครงการผลิตและพัฒนาศักยภาพแพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุข พ.ศ.2553-2555 จำนวน 1,620 คน และ 5.โครงการผลิตแพทย์เพื่อ 3 จังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ.2548-2556 จำนวน 270 คน