“ณัชนพ วงษ์หาญ” จากคนจับปืนสู่นักสื่อความหมายจากผืนป่า
รัชญา จันทะรัง
จากเจ้าหน้าที่สายตรวจป่าไม้ที่จบเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วพลิกผันตัวเองไปเป็น “เจ้าหน้าที่สื่อความหมาย” ประจำเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 ปราจีนบุรี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ประจำ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาเมื่อปี 2548 นับเป็นเวลาเกือบ 6 ปี ที่ พี่อึ่ง-ณัชนพ วงษ์หาญ หนุ่มชัยภูมิวัย 37 ปี รับหน้าที่สื่อความหมายแทนผืนป่าเขาใหญ่แห่งนี้....
พี่อึ่งเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการนี้ว่า ตนเองเป็นลูกชายคนโตของบ้านพอเรียนจบชั้น ม.6 ปี 2535 ก็ออกมาทำงานโดยสมัครเป็นสายตรวจป่าไม้เริ่มงานที่แรกที่วังน้ำเขียว จากนั้นย้ายไปประจำที่จังหวัดสระบุรี โดยในช่วงที่ทำงานเป็นสายตรวจป่าไม้อยู่นั้นก็เกิดเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย เช่น เคยหลงป่ากับเพื่อนอีก 3 คนเพราะต้องวิ่งไล่ตามคนที่มาลักลอบหาไม้หอมที่วังน้ำเขียวซึ่งพวกเขาวิ่งหนีเข้าไปในป่าลึกทำให้หาไม่เจอ แต่ในสุดท้ายก็จับผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 6 คน แต่ก็ต้องแลกกับที่เราหลงป่าถึง 4 คืน ต้องกินผักกับน้ำ และอาศัยรอยทางเดินของชาวบ้านที่เข้ามาหาของป่าและเดินทางตามลำธารลงไปจนท้ายที่สุดเราก็ไปออกที่แก่งหินเพลิงที่ขณะนั้นยังไม่เป็นที่รู้จัก ไม่มีการล่องแก่งเหมือนในวันนี้
“ส่วนอีกเหตุการณ์หนึ่งที่พี่เกือบตาย คือเมื่อประมาณปี 2537-2538 มีคนลักลอบเข้ามาเลื้อยไม้มะค่าเพื่อไปทำเฟอร์นิเจอร์ ใช้ควายลากไม้มะค่าที่เลื่อยเสร็จแล้วออกไปใส่ที่รถ 6 ล้อซึ่งตอนที่พวกพี่ไปซุ่มอยู่ ควายเกิดได้กลิ่นคนขึ้นมามันก็วิ่งไล่เราเล่นเอาเกือบตาย ส่วนผู้ต้องหาวิ่งเข้าไปหลบในป่าหวายแล้วออกมาไม่ได้เพราะหนามของหวายไปเกี่ยวที่จมูกจึงทำให้ถูกจับ ส่วนควายนั้นสุดท้ายพี่ก็ไม่โดนขวิดเพราะโซ่ที่ล่ามควายไว้กับมือที่ลากแต่ก็เป็นประสบการณ์ที่พี่ไม่เคยลืมเลย”
เมื่อทำงานมาได้ 9 ปีก็ถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกก้าวหนึ่งของชีวิตผู้ชายคนนี้ เมื่อเขาตัดสินใจเรียนต่อในระดับปริญญาตรี จึงลาออกจากการถือปืนพิทักษ์ป่าสู่การจับปากกาเพื่อสร้างอนาคตให้ตนเองใหม่อีกครั้ง
พี่อึ่งเล่าต่อว่า หลังจากที่ตนเรียนจบแล้วก็กลับมาสมัครทำงานที่กรมอุทยานฯ อีกครั้ง โดยสมัครในตำแหน่งเจ้าหน้าที่สื่อความหมาย ซึ่งตำแหน่งนี้จะมีหน้าที่ในการจัดกิจกรรมนันทนาการ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา รวมถึงงานมวลชนสัมพันธ์ โดยตอนที่ไปอบรมก่อนที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนี้ทำให้ตนได้มุมมองใหม่ ได้เรียนรู้ถึงการกิจกรรมสื่อความหมาย ฝึกการพูด การเรียนรู้พรรณไม้ชนิดต่างๆ การดูผีเสื้อ นก คุณภาพน้ำ รวมถึงโครงสร้างการบริหารอุทยาน แนวทางปฏิบัติ การจัดการอุทยานทั่วประเทศซึ่งมันแตกต่างกันมากเพราะตอนที่เป็นสายตรวจป่าไม้ต้องคอยถือปืนลาดตระเวนอย่างเดียว รู้จักพรรณไม้ไม่มาก แต่พอมาอบรมเพื่อที่จะมาเป็นเจ้าหน้าที่สื่อความหมายนี้ทำให้พี่ได้รู้อะไรอีกมากมาย
“พอพี่ได้มาเป็นวิทยากรอบรมให้เด็ก พี่ก็ได้นำสิ่งที่พี่เรียนรู้รวมถึงประสบการณ์ที่เคยเป็นสายตรวจป่าไม้มาถ่ายทอดให้พวกเขาได้รับถึงวิธีการอยู่กับป่าอย่างถูกต้อง การเป็นครูทำให้พี่ภูมิใจเพราะเราสามารถสอนเด็กๆ ได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับเขาใหญ่ เนื่องจากผืนป่าแห่งนี้สำหรับพี่แล้วเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยธรรมชาติ ห้องเรียนธรรมชาติที่เรียนรู้ไม่จบเพราะมีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน ขณะที่เราอยู่กับมันทุกวันเรายังรู้ไม่หมดยังต้องติดตามจากงานวิจัยใหม่ๆ ของนักวิชาการ ดังนั้นที่นี่จึงเป็นมหาวิทยาลัยธรรมชาติอันดับหนึ่งของโลกเลย”
แต่มหาวิทยาลัยธรรมชาติของพี่อึ่งจะเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณ และสัตว์น้อยใหญ่นานาชนิดได้นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าชุมชนรอบข้างก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่คงความเขียวให้ป่าเขาใหญ่แห่งนี้
พี่อึ่งเล่าว่า ทางอุทยานฯ มีแผนการประชาสัมพันธ์ไปยังหมู่บ้านทั้ง 127 โรงเรียน องค์การบริหารส่วนตำบล โดยสื่อความหมายให้พวกเขารู้ว่าเขตอุทยานเป็นพื้นที่ห้ามบุกรุก ห้ามล่าสัตว์ซึ่งก็ได้ผลพอสมควร ผู้ใหญ่บ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ต่างจากเมื่อก่อนที่ยากมาก แต่ตอนนี้เพราะรอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีโรงแรม รีสอร์ตมากมายทำให้เขามีงานทำจึงไม่มีการบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ
“สำหรับพี่แล้วพี่อยากให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเขาใหญ่ให้น้อยลง เพื่อที่จะช่วยกันลดมลพิษ ปริมาณขยะ การใช้พลังงาน Iไม่ให้อาหารสัตว์ รวมถึงไม่ขับรถเสียงดัง ไม่ขับรถเร็วเพราะแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวขับรถชนสัตว์จำนวนมากซึ่งหากทำได้ดังนี้ก็จะทำให้เขาใหญ่ได้” ความในใจสุดท้ายที่พี่อึ่ง นักสื่อความหมายของผืนป่าฝากไว้...