อุบลราชธานี-ภาคประชาชนมอง กกต.ยุคแรกทำงานจริงจังได้ผล แต่ยุคหลังตามไม่ทันผู้สมัคร และบางช่วงยังให้ความร่วมมือกับผู้สมัคร แต่ทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ต้องมี กกต.ไว้ตรวจสอบนักการเมือง แม้ต้องใช้เวลานานเป็นร้อยปี เพื่อให้ได้นักการเมืองที่บริสุทธิ์ตรงตามความต้องการของประชาชน
วันนี้(3มี.ค.)ที่ศูนย์ความรู้กินได้ ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี จัดเวทีถก "12 ปี กกต.สำเร็จหรือล้มเหลว" โดยมีนายนิกร วีสเพ็ญ คณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัด นายสุเชาวน์ มีหนองหว้า ประธานสาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี นายชาญชัย พีระภาณุรักษ์ เลขาธิการเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้งจ.อุบลราชธานี (พีเน็ต) และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และ น.ส.นิฤมล ลิ้มสวัสดิ์ ประธานกลุ่มสหอาสาจับตาเลือกตั้ง ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น โดยมีนายสุชัย เจริญมุขยนันท และ น.ส.ชนินทร์ญา คำดี เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
นายสุชัยในฐานะผู้ดำเนินการเสวนาได้ให้ผู้ร่วมรายการประเมินผลการดำเนินงานของ กกต.ที่ผ่านมา จากการปฏิบัติงาน 100% ให้คะแนน กกต.จำนวนเท่าไหร่ ซึ่งผู้ร่วมรายการให้คะแนน กกต.ที่ผ่านมา 60-70% พร้อมให้ความเห็นว่าการปฏิบัติงานของ กกต.ชุดแรกได้ผลดี แต่ กกต.ชุดหลังๆ ล้วนประสบความล้มเหลว
ผู้ร่วมรายการทั้งหมดยังต้องการให้มีคณะ กกต.ต่อไป แทนการยุบทิ้งเหมือนที่มีนักวิชาการบางสายและนักการเมืองบางคนต้องการ เพราะเชื่อว่า กกต.ยังเป็นความหวังของประชาชนในการสร้างความบริสุทธิ์ยุติธรรมในการเลือกตั้ง เพื่อนำไปสู่การคัดเลือกผู้สมัครที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานให้กับประชาชน
นายสุเชาวน์ มีหนองหว้า ประธานสาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เล่าถึงที่มาของ กกต.ว่า มีการตั้งองค์กรขึ้นเมื่อปี 2542 และควบคุมดูแลการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2544
ผลการปฏิบัติงานของ กกต.ชุดแรกของจังหวัดอุบลราชธานี มีการแจกทั้งใบเหลือ และใบแดง ให้ผู้สมัคร ส.ส.และ สว. ทำให้มีการเลือก ส.ส.ถึง 5 ครั้ง สว. 6 ครั้ง เพราะขณะนั้นนักการเมืองยังปรับตัวไม่ทัน และผู้ทำหน้าที่ กกต.เอาจริงเอาจังกับการปฏิบัติหน้าที่อย่างมาก แต่ต่อมาผู้สมัครมีการปรับกลยุทธ์หลีกเลี่ยงข้อปฏิบัติของ กกต. ทำให้ กกต.ตามไม่ทัน และยากแก่การตรวจสอบการกระทำความผิด ทำให้ความคาดหวังของประชาชนระยะหลังต่อการทำงานของ กกต.ลดลง
นอกจากนี้ ยังมองว่า กกต.ยังต้องเป็นหน่วยอิสระ เพื่อตรวจสอบนักการเมือง เพราะถ้ามีการแก้ไขให้ กกต.ไปอยู่ใต้การกำกับของรัฐบาล ก็เหมือนกรณีกระทรวงมหาดไทยที่ทำหน้าตรวจสอบการเลือกตั้งของนักการเมือง แต่กระทรวงมหาดไทยก็เป็นลูกน้องของนักการเมือง ซึ่ง กกต.ก็คงทำหน้าไม่ได้เช่นเดียวกัน
"แม้ต้องใช้ความพยายามเป็นร้อยปีเพื่อตรวจสอบการเข้าสู่กระบวนการทางการเมืองของนักการเมืองให้บริสุทธิ์ยุติธรรมเชื่อว่าประชาชนก็ทนได้"
ด้านนายชาญชัย พีระภาณุรักษ์ เลขาธิการเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง จ.อุบลราชธานี หรือพีเน็ต กล่าวถึงบทบาทหน้าที่พีเน็ตหลังมี กกต. บางครั้งพีเน็ตให้ข้อมูลการทุจริตต่างๆของผู้สมัคร ก็ไม่ได้รับความสนใจจาก กกต. จึงมองว่ากกต.อยู่ระหว่างเส้นแบ่งของความล้มเหลวกับความสำเร็จ และปัจจุบันพี่เน็ตได้ปรับลดบทบาทจากผู้ตรวจสอบเป็นเพียงผู้จับตาดูการลงคะแนนตามหน่วยเลือกตั้ง จึงเหมือนเป็นไม้ประดับให้ กกต. เพราะไม่สามารถตรวจสอบการทุจริตได้อย่างจริงจังเหมือนในอดีต
รวมทั้งปัจจุบันไม่มีกฏหมายให้ความคุ้มครองผู้มาให้การเป็นพยานเหมือนกรณีคดีอาญาทั่วไป และบางครั้งพยานถูก กกต.สอบสวนเหมือนเป็นผู้ต้องหาเสียเอง เนื่องจากอิทธิพลของผู้สมัครเหนือกว่าผู้มาให้การเป็นพยาน ทำให้พยานล้มหายตายจากไปจากกระบวนการตรวจสอบของภาคประชาชน
"ถ้า กกต.ต้องการได้ความยอมรับได้รับความร่วมมือในการตรวจสอบการเลือกตั้งอย่างจริงจังต้องให้ความคุ้มครองอาสาสมัครเหล่านี้ด้วย"
ขณะที่ น.ส.นิฤมล ลิ้มสวัสดิ์ ประธานกลุ่มสหอาสาจับตาเลือกตั้งระบุว่า เคยให้ข้อมูลการทำทุจริตของผู้สมัครกับ กกต. แต่เพียงวันเดียวพยานก็ถูกคุกคามจากผู้สมัครถึงบ้านพัก และมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางหน่วยงานคอยติดตามความเคลื่อนไหวของพยาน ทำให้พยานเกิดความกลัว ต้องหลบหนีออกไปจากพื้นที่ จึงไม่เชื่อถือการทำงานของ กกต. แต่ก็ยังเป็นอาสาสมัครจับตาดูการเลือกตั้ง เพราะเชื่อว่าสักวันหนึ่ง การเลือกตั้งของประเทศไทยจะดีขึ้น
ด้านนายนิกร วีสเพ็ญ คณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดชุดปัจจุบันระบุว่า ก่อนมาเป็น 1 ในคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัด มีส่วนร่วมจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนตรวจสอบการเลือกตั้งในภาคอีสาน คอยสอดส่องคืนหมาหอนร่วมกับกำลังพล ตชด.ซึ่งขณะนั้นสามารถจับความผิดปกติได้จำนวนมาก เพราะองค์กรแข็งแกร่ง กระทั่งมี กกต.จึงเป็นหน่วยงานที่เป็นความหวังของประชาชน จะเป็นหน่วยงานที่คัดกรองคนดีเข้าสภา แทนผู้รับเหมา หรือบรรดาเจ้าพ่อ
"แต่ก็มักเกิดอุบัติเหตุในการเลือกตั้ง โดยบางครั้งเกิดไฟดับระหว่างนับคะแนนทำให้ผู้สมัครที่รั้งท้ายกลายเป็นผู้ชนะ"
แต่ กกต.ในยุคสมัยของพวกตน นอกจากผู้สมัครรับเลือกตั้งจะตรวจสอบกันเองแล้วจะปรับกุลยุทธ์หนุนภาคประชาชนเข้ามาร่วมตรวจสอบกับ กกต.โดยให้เป็นผู้ตรวจสอบทั้งผู้สมัครและการทำงานของคณะ กกต.เพราะเราต้องกวาดบ้านตัวเองให้สะอาดเพื่อให้ประชาชนยอมรับในการทำหน้าที่ของพวกเราด้วย”นายนิกรกล่าวถึงการพลิกโฉมหน้าการทำงานของ กกต.ชุดนี้ในอนาคต