xs
xsm
sm
md
lg

มติ ทปอ.ประกาศปรับค่าน้ำหนักสาขาวิชาสอบแอดมิชชัน เริ่มปี 56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สุชาติ” แนะมหา’ลัยหาสถาบันทดสอบที่เชื่อใจ จัดสอบรับตรงที่เดียวและนำผลใช้กับทุกมหา’ลัย เพื่อลดปัญหาเด็กวิ่งรอกสอบ เปิดทางมหา’ลัย นอกระบบ และหาทางเพิ่มรายได้ให้ตนเองไม่ใช่ของบรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ขณะที่ ทปอ.มีมติปรับค่าน้ำหนักองค์ประกอบกลุ่มสาขาวิชาในการสอบแอดมิชชัน เริ่มใช้ปี 56 ย้ำ ไม่ต้องประกาศล่วงหน้า 3 ปี เพราะไม่ได้ปรับองค์ประกอบใหญ่
 ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช
วันนี้ (18 ก.พ.) ที่อาคารโดมบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวภายหลังมอบนโยบายที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ว่า ได้มอบนโยบายให้มหาวิทยาลัยไปปรับระบบรับตรงของแต่ละแห่ง แทนที่จะจัดสอบเองซึ่งทำให้เด็กต้องวิ่งสอบหลายแห่งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ก็ให้มาใช้คะแนนที่จัดสอบโดยสถาบันทดสอบกลางซึ่งมหาวิทยาบันยอมรับ และเชื่อถือ มาเป็นผู้จัดสอบแทน ซึ่งหากมหาวิทยาลัยไม่มั่นใจก็อาจจะไปร่วมดำเนินการจัดสอบเพื่อให้เกิดความยุติธรรมก็ย่อมได้ ซึ่งวิธีการนี้ตนเชื่อว่าจะช่วยลดภาระเด็ก และลดการเรียนกวดวิชาลงไปได้

“ระบบสอบรับตรงของมหาวิทยาลัย ขณะนี้ทำให้เด็กต้องวิ่งสอบ 20 ที่ ต้องเรียนพิเศษ 20 แบบ สำหรับเด็กเก่งก็คงสอบได้ทุกที่แต่ถ้าเด็กไม่เก่งจะทำยังไง เพราะฉะนั้น น่าจะให้สำนักทดสอบที่เป็นที่น่าเชื่อถือ เป็นผู้จัดสอบแล้วนำผลการสอบนั้นมาใช้กับการรับตรงของทุกมหาวิทยาลัย หน่วยงานที่จัดสอบอาจจะเป็นสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ซึ่งจัดการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-Net และการทดสอบความถนัดทั่วไป หรือ GAT การทดสอบความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ หรือ PAT อยู่แล้ว เป็นต้น” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

ศ.ดร.สุชาติ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ตนยังได้รับปากกับ ทปอ.จะไปคุยกับสำนักงบประมาณเพื่อหาทางขึ้นเงินเดือนให้พนักงานราชการอีก 5% ให้สอดรับกับที่ข้าราชการได้ปรับเงินเดือน 5% เมื่อเดือนเมษายน 2554 แต่พนักงานมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งที่มีฐานะเทียบเท่ากับข้าราชการไม่ได้ปรับด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหานี้เกิดขึ้นเป็นประจำทุกครั้ง เข้าใจว่าสาเหตุเพราะสำนักงบประมาณลืมที่จะคิดถึงพนักงานราชการของมหาวิทยาลัย จึงไม่ได้กำหนดให้การขึ้นเงินเดือนข้าราชการครอบคลุมพนักงานมหาวิทยาลัยด้วย เพราะฉะนั้น ระยะยาว ทปอ.ควรจะไปคุยกันสำนักงบประมาณเพื่อฝังแนวคิดให้สำนักงบประมาณเข้าใจว่าการเพิ่มเงินเดือนต้องครอบคลุมถึงพนักงานมหาวิทยาลัยด้วย

“ส่วนมหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบ ก็สามารถดำเนินการได้ผมก็ยินดี แต่ขอเพียงอย่างเดียวอย่ามาของบประมาณเพิ่ม ผมมีข้อเสนอว่า มหาวิทยาลัยควรจะดูแลตัวเองได้ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะมหาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้วก็ไปปรับค่าบริการต่าง ๆ และใช้งบรายได้ของมหาวิทยาลัยเป็นค่าใช้จ่าย ส่วนเรื่องที่ ทปอ.เสนอว่าอยากให้ช่วยเจรจาเรื่องการจ่ายเงินสมทบค่าก่อสร้างที่มหาวิทยาลัยจะต้องสมทบจ่ายเพิ่มเติมจากที่รัฐจัดสรรให้นั้น ทาง ทปอ.เสนอว่าอยากขอให้ปรับลดให้มหาวิทยาลัยร่วมสมทบในอัตราที่ 40% ซึ่งผมรับปากจะไปเจรจาให้เช่นกัน นอกจากนั้น ในส่วนของการเลื่อนเปิดเทอมให้ตรงกับประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียนและสากลเป็นช่วงเดือน สิงหาคมถึงกันยายน อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าได้หารือกับ นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ในเรื่องนี้ บอกว่าระดับการศึกษาจะเลื่อนตามหรือไม่เลื่อนตามก็ได้ แต่ขณะนี้ ทาง ทปอ.ยืนยันว่าการศึกษาพื้นฐานไม่จำเป็นต้องเลื่อนเพื่อให้เด็กได้เรียนครบตามหลักสูตร ซึ่งผมจะไปหารือกับ สพฐ. อีกครั้ง” ศ.ดร.สุชาติ กล่าว

ด้าน ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธาน ทปอ. กล่าวภายหลังประชุม ว่า ทปอ.มีมติเห็นชอบปรับค่าน้ำหนักขององค์ประกอบกลุ่มสาขาวิชาในการแอดมิชชั่น ปีการศึกษา 2556 ในบางสาขา กลุ่มที่ 1 วิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่ปรับ คือ สัตวแพทยศาสตร์ สหเวชศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ วิทยาศาสตร์การกีฬา คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ GPAX 20% คะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET 30% คะแนนการทดสอบความถนัดทั่วไปหรือ GAT 20% และคะแนนการทดสอบความถนัดทางวิทยาศาสตร์ PAT2 30% เภสัชศาสตร์ GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 10% และ PAT2 40% กลุ่มที่ 2 วิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพ ปรับสาขา วิทยาศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 10% และPAT1 ความถนัดทางคณิตศาสตร์ 10% และPAT2 30% สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 10%, PAT1 20% และ PAT2 20% กลุ่มที่ 5 เกษตรศาสตร์ ปรับสาขา เกษตรศาสตร์ อุตสาหกรรมการเกษตร วนศาสตร์ เทคโนโลยีการเกษตร GPAX 20% O-NET 30% GAT 10% และPAT1 10% และPAT2 30%

กลุ่มที่ 7 ครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ พลศึกษา สุขภาพ รูปแบบที่ 1 GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 10% และPAT5 30% รูปแบบที่ 2 GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 10% และ PAT5 20% และต้องเลือกสอบ PAT 1/2/3/4/6/7 วิชาใดก็ได้ 1 วิชา กลุ่มที่ 8 ศิลปกรรมศาสตร์ ปรับ สาขา วิจิตรศิลป์ ศิลปะประยุกต์ ดุริยางศิลป์ นาฎศิลป์ ศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ และศิลปะการออกแบบหัตถอุตสาหกรรม GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 10% และเลือกสอบ PAT4 หรือ 6 เพียง 1 วิชา 40% และกลุ่มที่ 9 มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขา นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ อักษรศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมวิทยา สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ปรับพื้นฐานวิทยาศาสตร์ GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 30% และPAT1 20% พื้นฐานศิลปะศาสตร์ รูปแบบที่ 1 ไม่มีการปรับเปลี่ยน รูปแบบที่ 2 GPAX 20%, O-NET 30%, GAT 30% และ PAT7 20%

ศ.ดร.สมคิด กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ค่าน้ำหนักองค์ประกอบที่ปรับครั้งนี้จะใช้ในการแอดมิชชั่นปีการศึกษา 2556 โดยการปรับดังกล่าว เพื่อให้คณะสามารถคัดเลือดเด็กได้ตรงตามความถนัดที่แท้จริง และถือว่าเป็นการปรับเล็ก ไม่ใช่การปรับใหญ่ดังนั้น ทปอ.ไม่จำเป็นต้องประกาศให้ทราบล่วงหน้า 3 ปี ส่วนการปรับองค์ประกอบแอดมิสชั่นส์ใหญ่นั้น ทปอ.ยังไม่ได้หารือ ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรปรับบ่อยเพราะจะทำให้เกิดความสับสนและไม่เป็นธรรมแก่เด็ก แต่หากใช้ไปสักระยะแต่พบว่าเกิดปัญหาก็ค่อยปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป

“กรณีที่ รมว.ศึกษาธิการ ระบุว่า อยากให้มหาวิทยาลัยดูแลตัวเอง โดยเฉพาะมหาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้วก็ไปปรับค่าบริการต่างๆ และใช้งบรายได้ของมหาวิทยาลัยเป็นค่าใช้จ่ายนั้น ขณะนี้มหาวิทยาลัยก็พึ่งตนเองเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว แต่ประเด็นที่ รมว.ศึกษาธิการ พูด คืออยากให้มหาวิทยาลัยไประดมทุนจากศิษย์เก่า ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะหมายความถึงการขึ้นค่าหน่วยกิต แต่การขึ้นค่าหน่วยกิตก็มีความจำเป็น เพราะบางแห่งค่าหน่วยกิตเพียง 300 บาท แต่ปัจจุบันต้นทุนการผลิตนักศึกษาแต่ละคนอยู่ที่ 800-1,000 บาทต่อหน่วยกิต ดังนั้นหากมหาวิทยาลัยที่มีรายได้ไม่เพียงพอก็จำเป็นต้องขึ้น แต่สำหรับบางแห่งที่ยังมีรายได้ไม่เพียงพอการขึ้นค่าหน่วยกิตก็เป็นสิ่งจำเป็น” ประธาน ทปอ.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น