สงกรานต์ ปลอด “ไคโยตี้” สักปีได้ไหม!?!
..สุกัญญา แสงงาม
ช่วงเทศกาลสงกรานต์หลายปีที่ผ่านมา มีบางคน บางกลุ่ม เริงร่าจนเลยเถิดเกินงาม แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ภาพสาวนุ่งน้อยห่มน้อยออกมาวาดลวดลายเต้นไคโยตี้กลางกรุง ใส่สายเดี่ยว โนบรา หนุ่มปะแป้งแฝงเร้นจับแก้ม ล้วงนม สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้ประเพณีวัฒนธรรมสงกรานต์อันดีงามที่สืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่นกำลังจะเลือนหายไปจากสังคมเมือง
ขณะที่ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะดูแลงานด้านอนุรักษ์ ฟื้นฟู สนับสนุน หลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ทำลายประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามเช่นนี้ แม้จะมีการวางแนวทางป้องกันไม่ให้ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีพฤติกรรมฉาวออกมาให้เห็น แต่ นางสุกุมล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ก็ตอบได้ไม่เต็มเสียง ว่า เราไม่มีอำนาจหน้าที่สั่งให้หยุดหรือลงโทษได้ สิ่งที่เราทำได้เพียงขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ว่า ถ้าจัดกิจกรรมช่วงสงกรานต์ขอให้สืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทยดั่งเดิมของท้องถิ่นนั้นๆ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ หรือ ผู้อาวุโส ถือเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ จึงอยากให้ประชาชนร่วมกันสืบสานคุณค่าความงดของของประเพณีสงกรานต์ ตามแบบวิถีไทย เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นสิริมงคลในการดำเนินชีวิตในวันปีใหม่ไทย
นางสุกุมล ระบุว่า ในปีนี้ วธ.รณรงค์ให้คนไทยอนุรักษ์ประเพณีการเล่นสงกรานต์ของแต่ละภาค ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญตักบาตร ขนทรายเข้าวัด ในเขตกรุงเทพฯ ได้จัดงาน “สงกรานต์เมษา ผ้าขาวม้าครองโลก” ณ สยามสแควร์ เชิญชวนผู้เข้าร่วมงานใส่เสื้อลาย หรือผูกผ้าขาวม้า ร่วมกิจกรรมทั้งการฟังเทศน์จากพระชื่อดัง และกิจกรรมสงกรานต์แบบไทยๆ ระหว่างวันที่ 13-15 เม.ย.ตั้งแต่เวลา 08.00 เป็นต้นไป
ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อน เชื่อว่า คนรุ่นใหม่ ชาวต่างชาติ เห็นความงดงามของพระเจดีย์ทรายจะรู้สึกประทับใจ ดังนั้น การลงทุนรณรงค์แบบเจ้าบุญทุ่มครั้งนี้ ก็ได้แต่หวังว่า วัยรุ่นคนรุ่นใหม่จะตระหนักถึงสิ่งดีงามเหล่านี้จริงๆ
ขณะที่ อัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ มูลนิธิเพื่อเยาวชน เครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และนักเรียนนักศึกษา กล่าวว่า หากพูดถึงการควบคุมเราคงไปทำไม่ได้ แต่เราทำหน้าที่ได้แค่รณรงค์ให้เด็ก ลูกหลานของเรา ช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้ทำตัวให้เหมาะสม คือ รักษาวัฒนธรรมและประเพณีสงกรานต์ไว้อย่างดีงาม เวลาที่ไปเล่นสงกรานต์ก็อย่าเล่นสิ่งของที่เขาห้าม เช่น เอาน้ำแข็งไปปากัน หรือปะแป้ง จะต้องไปถูกเนื้อตัวผู้หญิง และผู้หญิงแต่งตัวมิดชิด อย่าใส่เสื้อสีขาว เวลาโดนน้ำแล้วมันบางเห็นสัดส่วนร่างกาย ที่สำคัญ อยากให้ผู้ชายเคารพผู้หญิงด้วยว่า เนื้อตัวผู้หญิงก็อย่าไปแตะ เล่นสาดน้ำเหมือนในอดีตดีกว่า ยิ่งอนุรักษ์ไทยได้ ใส่กางเกงม่อฮ่อมเสื้อลายดอก น่ารัก ต่างชาติเห็นจะชื่นชม แม้ว่าจะเจริญก้าวหน้าแต่เรายังคงรักษาประเพณีวัฒนธรรมเอาไว้
อัญญาอร ยังได้แสดงความเห็นว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่าได้มี “ไคโยตี้” หรือสิ่งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นอีกเลย ยิ่งเป็นองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็น อบต.อบจ.เทศบาล ถ้าจัดให้มีไคโยตี้ จะต้องมีการลงดาบ “ผิดวินัย”เพราะมีกฎระเบียบอยู่แล้วว่าสถานที่ราชการ หรือสาธารณะ ไม่ควรเอาไคโยตี้มาเต้นยั่วยวน
“ส่วนเอกชน เราคงทำได้แค่ความร่วมมือ แต่จะต้องเป็นการขอความร่วมมือแบบจะต้องปฏิบัติตาม มันเป็นอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควร ที่จะให้ผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อยไปเต้นในวัด สถานที่สาธารณะ ที่สำคัญ ประเพณีสงกรานต์กับไคโยตี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย นอกจากนี้ สปอนเซอร์ ไม่ควรสนับสนุนเต้นไคโยตี้ หรือกิจกรรมไม่เหมาะสมในช่วงเทศกาลสงกรานต์” อัญญาอร ทิ้งท้าย