xs
xsm
sm
md
lg

เตือนอันตราย “กินหมูดิบ” อาจถึงตายหรือหูหนวกตลอดชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สธ.ห่วงประชาชนกินเนื้อหมูฉลองเทศกาลสงกรานต์ ชี้ มีอันตราย อาจถึงขั้นเสียชีวิต หรือหูหนวกตลอดชีวิต เหตุติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส เผย พบผู้เสียชีวิตจากเชื้อร้ายที่พะเยา 5 ราย หูหนวกตลอดชีวิต 12 ราย อาหารที่เสี่ยงสูงสุด คือ หลู้ แหนมหมูดิบ ลาบดิบ

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ คาดว่า ประชาชนจะเดินทางกลับไปร่วมฉลองสงกรานต์ที่ภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นวันหยุดติดต่อกันหลายวัน และอาจมีการประกอบอาหารเลี้ยงฉลองในครอบครัว หรือในหมู่บ้าน อาหารที่ต้องเตือนประชาชน ห้ามรับประทาน คือ เนื้อหมูดิบ ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงเกิดโรคไข้หูดับจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส (Streptococcus Suis) เชื้อนี้มีอันตรายทำให้เสียชีวิต หรือหูหนวกตลอดชีวิตได้ ที่ผ่านมา พบว่า โรคไข้หูดับ มีผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมกินเนื้อหมูดิบ หรือเลือดหมูดิบ เช่น ลาบ หลู้ที่ปรุงจากเลือดหมู เนื้อหมูสดๆ กระจายในหลายจังหวัด ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะเสี่ยงสุดใน 15 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ตาก นครสวรรค์ นครพนม สกลนคร อุดรธานี และ ขอนแก่น

นายวิทยา กล่าวต่อว่า เพื่อป้องกันโรคนี้ ให้ประชาชนฉลองสงกรานต์อย่างปลอดภัย ได้กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต.ประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันโรคไข้หูดับ โดยให้กินเนื้อหมูสุก งดกินเนื้อหมูดิบ รวมทั้งเลือดดิบๆ ด้วย หากหมู่บ้านใดมีการจัดเลี้ยงขอให้จัด อสม.สารวัตรอาหารหมู่บ้านไปให้คำแนะนำด้านสุขอนามัย และการประกอบอาหารที่ถูกต้อง
 
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ตรวจพบในลูกสุกร ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงหย่านม เชื้อจะอยู่ในระบบทางเดินหายใจ เช่น โพรงจมูก น้ำลายหมูและต่อมทอนซิล เชื้อชนิดนี้พบได้ในหมูทั่วไป จนกลายเป็นโรคประจำถิ่น เมื่อหมูอยู่ในภาวะเครียด เช่น อยู่ในที่แออัด อากาศชื้น หรือหนาวจากฝนตกหนัก น้ำท่วม ภูมิคุ้มกันของหมูจะลดลง เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้หมูป่วยหรือตาย

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า คนจะติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส จากหมู จากการสัมผัสโดยตรง เช่น ติดทางบาดแผลที่ผิวหนัง กินเนื้อ หรือเลือดหมูที่ไม่สุก อาการที่พบ ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลัน มีไข้ ปวดศีรษะ คอแข็ง บางรายติดเชื้อในกระแสเลือด บางรายอาจมีอาการมีผื่นขึ้น หลอดเลือดอักเสบ และอุจจาระร่วง หากรุนแรงจะทำให้เสียชีวิต ส่วนผู้ที่รอดชีวิตอาจมีความพิการหลงเหลือ เช่น หูหนวกทั้ง 2 ข้าง หรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก

จากข้อมูลในปี 2553 พบมีรายงานโรคนี้ที่จังหวัดพะเยา จำนวน 31 ราย เป็นชาย 20 ราย ที่เหลือเป็นหญิง อายุเฉลี่ย 53 ปี โดยผู้ป่วย 20 ราย มีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อีก 11 รายติดเชื้อในกระแสเลือด เสียชีวิต 5 ราย และหูหนวกตลอดชีวิต 12 ราย ผลการสอบสวนโรคพบว่า 22 ราย กินอาหารจากหมูดิบ ได้แก่ หลู้ รองลงมา คือ แหนมหมูดิบ และลาบดิบ โดยผู้ป่วยจะมีอาการหลังกินอาหารไปแล้ว 2 วัน

ในการป้องกันโรคไข้หูดับ ขอให้ประชาชนกินอาหารปรุงสุก เนื้อต้องปรุงสุกเสมอ เนื่องจากเชื้อโรคดังกล่าวจะถูกทำลายด้วยความร้อน
กำลังโหลดความคิดเห็น