xs
xsm
sm
md
lg

แฉ! ผลตรวจสอบ รพ.พบยาซูโดฯ หายจากสต๊อกกว่า 9 ล้านเม็ด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เดินสอบวินัย  ขรก.เอี่ยวซูโดฯ  ขณะที่ อย.เล็งออกประกาศเป็นวัตถุออกฤทธิ์ ตามที่กฤษฎีกาตีความ ด้าน ปลัด สธ.เผยผลตรวจสอบ รพ.พบยาซูโดฯ หายจากสต๊อกกว่า 9 ล้านเม็ด ชี้ ในจำนวนนี้พบมีชื่อ รพ.วชิระ รวมอยู่ด้วย

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.สธ.) เกี่ยวกับกรณีโรงพยาบาลรัฐสั่งซื้อยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลการสั่งซื้อยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนของโรงพยาบาลรัฐ จำนวน 842 แห่ง พบว่ามีปัญหา 9 แห่ง โดยผู้ที่เกี่ยวข้องในโรงพยาบาล 7 แห่ง จะต้องมีการดำเนินการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงและไม่ร้ายแรงต่อไป ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องในส่วนของ รพ.เสริมงาม จ.ลำปาง ได้ลาออกจากราชการไปแล้ว สธ.จึงไม่ต้องสอบสวนทางวินัย และรพ.สันทราย จ.เชียงใหม่ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในระดับจังหวัดมีความเห็นว่าให้ยุติเรื่อง เนื่องจากมีความคลาดเคลื่อนในบัญชียาของโรงพยาบาลและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพียง 1 พันเม็ด และเกิดขึ้นจากการความเคลื่อนในเรื่องเอกสาร

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงเวลาประมาณ 13.00 น.นายวิทยา ได้ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษา รมว.สธ.ให้ข้อมูลและมอบเอกสารให้กับดีเอสไอโดยระบุว่าคนใกล้ชิดผู้บริหารระดับสูง สธ.อาจเกี่ยวข้องกับกรณียาซูโดฯ หายจากโรงพยาบาล และมีกระแสข่าวว่าอักษรย่อชื่อ ป.ว่า เรื่องนี้จะต้องมีการยืนยันเป็นเอกสารให้ชัดเจนว่า ป.คือ ป.ไหน ชื่ออะไร เมื่อยังไม่มีการยืนยันเป็นเอกสารมาที่ตน ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีจะไปตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงใครไม่ได้ ต้องให้ความเป็นธรรมกับคนที่ถูกกล่าวหาด้วย

ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ (อ.ก.พ.สธ.) ว่า โดยสรุปขณะนี้มีการตรวจสอบพบว่าข้าราชการสังกัด สธ.เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด 15 คน โดยแบ่งเป็นถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง 9 คน ได้แก่ 1.เภสัชกรชำนาญการ รพ.อุดรธานี 2.เภสัชกรชำนาญการ รพ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ 3.ผอ.รพ.ทองแสนขัน 4.เภสัชกรชำนาญ รพ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ 5.เจ้าพนักงานเภสัชกรรมชำนาญงาน รพ.กมลาไสย 6.เภสัชกรชำนาญการ รพ.ฮอด จ.เชียงใหม่ 7.เจ้าพนักงานเภสัชกรรมปฏิบัติงาน รพ.ฮอด 8.เภสัชกรชำนาญการ รพ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ และ 9.เภสัชกร รพ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ อีก 5 คน ถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยไม่ร้ายแรง ได้แก่ 1. ผอ.รพ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ 2.เภสัชกรชำนาญการ รพ.กมลาไสย 3.เจ้าพนักงานเภสัชกรรมปฏิบัติงาน รพ.กมลาไสย 2 คน และ 4.ผอ.รพ.ฮอด ส่วนกรณี รพ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาในระดับจังหวัดว่าจะถูกตั้งกรรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรง นอกจากนี้ สำหรับที่โรงพยาบาลอุดรธานีได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงผอ.รพ.โดยมี นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการเป็นประธาน
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ปลัด สธ.กล่าวอีกว่า เมื่อเข้าสู่การสอบสวนวิวนัยร้ายแรงแล้วจะต้องมีการเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องยื่นข้ออุทธรณ์ชี้แจงโดยมีระยะเวลา 1 เดือน หลังจากนั้น อ.ก.พ.สธ.จะนำหลักฐานข้อชี้แจงทั้งหมดมาพิจารณาอีกครั้ง เพื่อลงความเห็นว่ามีความผิดหรือไม่ คาดว่า จะใช้เวลาไม่นาน สำหรับการดำเนินการในคดีอาญาจะส่งเรื่องให้ดีเอสไอ เพื่อทำการสอบสวนไปพร้อมกัน เนื่องจากอำนาจของ อ.ก.พ.สธ.จะสามารถลงความเห็นได้เฉพาะความผิดทางวินัยและคดีแพ่งเท่านั้น ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ระดับ 8 ลงไป เป็นหน้าที่ของระดับจังหวัดในดารดำเนินสอบวินัย แต่อ.ก.พ.สธ.จะพิจารณาครั้งสุดท้ายว่าระดับความผิดที่จังหวัดตัดสิน เหมาะสมกับฐานความผิดหรือไม่ และระดับ 9 เป็นอำนาจของ สธ.โดยตรง

“จากการตรวจสอบสต็อกยาของโรงพยาบาลรัฐ พบว่ามียาหายไปจากสต๊อก 9 ล้านเม็ด ที่รพ.อุดรธานีมากที่สุด 7 ล้านเม็ด ที่เหลืออแห่งละ 2-3 แสนเม็ด และขอย้ำว่าโรงพยาบาลทั้งหมดที่ถูกตรวจสอบ 842 แห่ง จำนวนโรงพยาบาลเข้าข่ายทำความผิดมี 8 แห่งไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ ซึ่งกระทรวงทราบว่า ประชาชนมีความคาดหวังสูงต่อระบบราชการ แต่อยากดให้เห็นใจ เพราะจำนวนผู้ที่กระทำความผิดนั้นน้อยมาก แต่ระบบโดยรวมในการจัดการมีการสร้างระบบที่ดีไว้แล้ว และหลังจากอกประกาศยกระดับเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 2 ก็จะมีกระบวนการควบคุมเข้มข้นขึ้นไปอีก”นพ.ไพจิตร์ กล่าว

อย.ประกาศเป็นวัตถุออกฤทธิ์

ด้านนพ.พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวระหว่างการประชุมคณะกรรมการวัตถุออกฤทธิ์ ว่า ที่ประชุมมีมติตามคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ คือ ให้มีการปรับสภาพยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน จากปัจจุบันเป็น “ยาควบคุมพิเศษ” ยกระดับให้เป็นกลุ่มยาวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภทที่ 2 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 โดย ต้องมีการรายงานการใช้ การทำบัญชีสั่งจ่ายทุก 1 เดือน 4 เดือน และ 1 ปี ซึ่งจะเข้มงวดยิ่งขึ้น โดยห้ามนำเข้าเด็ดขาด มีเพียงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นำเข้าได้เท่านั้น จะมีลักษณะคล้ายสารซูโดอีเฟดรีนชนิดเดี่ยวที่ปัจจุบันอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์
 
“จากการประชุมครั้งนี้จะมีการเสนอให้รัฐมนตรี สธ.ลงนามในประกาศ 2 ฉบับ คือ ประกาศยกระดับยาสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภทที่ 2 และ ประกาศยกเลิกการผลิต และนำเข้ายาสูตรดังกล่าวด้วย โดยต่อจากนี้จะอนุญาตให้ใช้ยาสูตรดังกล่าวจนกว่าจะหมดสต๊อกของแต่แห่ง และต้องเป็นไปตามแนวทางการควบคุมของวัตถุออกฤทธิ์ฯ ทั้งนี้ จะเสนอให้รัฐมนตรี สธ.ลงนามในประกาศในสัปดาห์หน้า และจะมีผลบังคับใช้ทันที” รองเลขาธิการ อย.กล่าว

“พสิษฐ์” พบความผิดปกติใน รพ.สังกัด กทม.
 

นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะของคณะทำงานป้องกันและปราบปรามฟื้นฟูและเยียวยาด้านยาเสพติด กล่าวว่า ขณะนี้คณะทำงานฯ พบข้อมูลว่ามีโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพฯมียาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนหายไปจำนวน กว่า 922,000 เม็ด และในจำนวนนี้พบรายชื่อโรงพยาบาลหนึ่งแห่งที่มีข้อมูลการหายไปของยานี้อย่างชัดเจน ซึ่งขณะนี้ทางคณะทำงานกำลังตรวจสอบข้อมูลอย่างชัดเจนอยู่ และจะนำรายงานไปยัง รมว.สธ. ก่อนที่จะมีการแถลงข่าวภายหลังจากที่ตนไปร่วมเสวนาในเรื่องเกี่ยวกับยาซูโดอีเฟดรีนในวันที่ 31 มี.ค.ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้คณะทำงานป้องกันปราบปราม ฟื้นฟู และเยียวยาด้านยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข กำลังตรวจสอบการหายไปของยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนของโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ โดยพบว่ามีโรงพยาบาลที่เข้าข่ายควรที่จะเข้าไปตรวจสอบจำนวนมาก และในรายชื่อของโรงพยาบาลที่เข้าข่ายควรเข้าไปตรวจสอบมีรายชื่อของ รพ.วชิรพยาบาล รวมอยู่ดัวย

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พญ.มาลินี สุขเวชวรกิจ รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าวยืนยันว่า ได้มีการตรวจสอบทุกโรงพยาบาลในสังกัดของ กทม.ไม่มีการเบิกจ่ายที่ผิดปกติแต่อย่างใด สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ เกิดจากผู้ที่ต้องการจะกลั่นแกล้ง กทม.อย่างแน่นอน โดยเฉพาะโรงพยาบาลวชิระ ได้สั่งห้ามเบิกจ่ายยาซูโดฯ เมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่าน ซึ่งทางโรงพยาบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้ฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น