xs
xsm
sm
md
lg

“เลขาฯอาเซียน” เผย เปิดเสรี 8 วิชาชีพแลกเปลี่ยนใน 10 ประเทศอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
“เลขาฯอาเซียน” เผย เปิดเสรี 8 วิชาชีพ แลกเปลี่ยนใน 10 ประเทศอาเซียนได้ แนะเยาวชนพูดอังกฤษสำเนียงไทย ลบทัศนคติไม่เก่งอังกฤษ เพราะไม่ได้เป็นเมืองขึ้นใคร

ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ในการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 10 ในหัวข้อ ประชาคมในมิติวัฒนธรรม ความขัดแย้งและความหวัง กล่าวว่า ขณะนี้สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ กำลังเตรียมความพร้อมทุกด้านเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งเป็นโลกของอาเซียนผสมผสานกับโลกโลกาภิวัตน์ที่มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา สำหรับการเตรียมตัวด้านประชากรของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ เด็กและเยาวชนคนหนึ่งจะต้องมีทักษะในวิชาชีพอย่างน้อย 3-4 วิชาชีพ เพราะฉะนั้นเด็กและเยาวชนจะต้องมีความรู้ความสามารถที่หลากหลายสามารถแข่งขันกับตลาดอาชีพในอาเซียนได้

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาทักษะเด็กไทยให้เป็นเลิศทุกด้านยังเป็นการรองรับการเปิดเสรีด้านวิชาชีพและการศึกษา 8 สาขาของประชาคมอาเซียน สามารถทำงานแลกเปลี่ยนกันใน 10 ประเทศ ได้แก่ วิชาชีพ หมอ พยาบาล ทันตแพทย์ วิศวกร สถาปนิก การโรงแรมและอาหาร ธุรกิจสปา นักสำรวจสร้างถนน การแลกเปลี่ยนเชิงวิชาชีพจะทำให้ประชาคมของเราใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

ดร.สุรินทร์ บอกว่า หากนักศึกษาเรียนจบแพทย์ ไม่ใช่จะต้องแข่งขันเพื่อมีอาชีพแค่ 65 ล้านคน แต่ต้องแข่งขันกับประชากรอาเซียน 10 ประเทศ ประมาณ 600 ล้านคน สิ่งที่เราต้องพัฒนาทักษะด้านภาษาให้เด็กไทย โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ อยากให้สื่อสารภาษาอังกฤษสำเนียงคนไทย และเลิกคิดว่าพูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง เพราะเราไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของใคร หรือเก่งภาษาอื่นถือว่าไม่รักภาษาไทย

“อัตลักษณ์ของเด็กไทยในประชาคมอาเซียนจะต้องมีทักษะการคิด การวิเคราะห์อย่างเป็นเลิศ และกล้าออกไปทำงานแลกเปลี่ยนนอกประเทศ โดยไม่ทิ้งอัตลักษณ์ของตัวเองที่มีความนอบน้อม ยิ้มสยาม เพราะวัฒนธรรมเหล่านี้ คือ ความหลากหลายที่สวยงาม ครึ่งหนึ่งของประเทศสมาชิกอาเซียนพูดภาษามาเลย์ ครึ่งหนึ่งพูดมลายู เพราะฉะนั้นตอนนี้ขึ้นอยู่กับไทยจะมองภาคใต้ที่พูดภาษามลายูหลายจังหวัด ว่า เป็นพื้นที่ขัดแย้ง หรือจะมองว่าเป็นผู้ผูกโยงเชื่อมโยงถึงอาเซียน ประเทศไทยมีคนพูดภาษามลายู 2-3 ล้านคน สมควรจะให้ยกเลิกพูดกัน เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้ ไทยควรร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอาเซียนมากยิ่งขึ้น อีกเรื่อง อยากให้ทุกคนสนใจกฎหมาย หรือสนธิสัญญาของอาเซียน เพื่อใช้อ้างอิงสิทธิ์ในความเป็นประชาคมอาเซียนที่รับรองโดยสหประชาชาติด้วย” ดร.สุรินทร์ กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น