xs
xsm
sm
md
lg

“สุรินทร์” ชูประชาคมอาเซียนแก้ขัดแย้งไทย-เขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ดร.สุรินทร์” ชู เวทีประชาคมอาเซียนแก้ปัญหาขัดแย้งไทย-กัมพูชา ได้ ระบุ คนส่วนใหญ่เทน้ำหนักด้านเศรษฐกิจมากกว่าด้านวัฒนธรรม

วันนี้ (28 มี.ค.) ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 10 ในหัวข้อ ประชาคมในมิติวัฒนธรรม ความขัดแย้งและความหวัง โดย ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า ขณะนี้คนส่วนใหญ่จะให้ความสนใจด้านเศรษฐกิจ การเมือง มากกว่าด้านวัฒนธรรม แต่ตนเห็นว่า ความเป็นอาเซียนมีความหมายมากกว่านั้น ประชากร 600 ล้านคน 10 ประเทศ มีพื้นที่ยืนอยู่อย่างเท่าเทียมกัน เป็นสังคมเอื้ออาทร พร้อมจะแบ่งปันซึ่งกันและกัน แต่สังคมเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้จะต้องมีขันติธรรมและการยอมรับในความแตกต่างทั้งในแง่ความคิด วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ภาษา ศาสนา ที่สำคัญ คือ ยอมรับในความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม เพราะในอาเซียนมีทั้งพุทธเถรวาทในไทย ลาว กัมพูชา พม่า คาทอลิกในฟิลิปปินส์ มีชุมชนมุสลิมใหญ่ที่สุดในเอเชียอยู่ที่อินโดนีเซีย มีชุมชนฮินดูโบราณที่เกาะบาหลี ทั้งหมดต้องอยู่ร่วมกันได้
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า อาเซียนเห็นว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเหล่านี้ เป็นปัจจัยมีค่านำไปสู่ประชาคมอาเซียน ไม่ต้องการมีช่องว่าง ระยะห่างระหว่างประเทศสมาชิกมากเกินไป อย่างไรก็ตาม รูปแบบการปกครองแต่ละรัฐไม่เหมือนกัน ยังไม่ไว้วางใจที่จะเปิดพื้นที่ให้ประชาชนหลากหลายเชื้อชาติอย่างแท้จริง อีกทั้งแต่ละรัฐมักจะมีกลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียวมากยิ่งขึ้น เช่น เรื่องการศึกษา ยา สิ่งแวดล้อม แล้วแต่ละรัฐจะวางตัวอย่างไร หน้าที่ของเลขาธิการอาเซียนจะต้องให้แต่ละประเทศเดินหน้าไปด้วยกันให้ได้ โดยต้องมีการบริหารความแตกต่างหลากหลายนี้ทั้งภายในอาเซียน และโลกสังคมภายนอก ทั้งวัฒนธรรม ภาษา ประวัติศาสตร์

เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า ขณะนี้มีเรื่องเดียวที่อยากจะขอ คือ ประเทศสมาชิกอาเซียนอย่าทะเลาะกัน เช่น ประเทศที่เป็นพุทธเถรวาทด้วยกันอย่างไทยกับกัมพูชา กลับมาทะเลาะกันเรื่องวัดโบราณอย่างปราสาทเขาพระวิหาร สุดท้ายต้องให้ประเทศมุสลิมอย่างอินโดนีเซียมาช่วยแก้ไข จนเรื่องต้องไปยังสหประชาชาติ ตนมองว่าปัญหาเขตแดน ปัญหาชายแดนนั้นมีวิธีแก้ 2 วิธีแรก เราต้องถอยหลังไปช่วงก่อนอาณานิคม ก่อนมีแผนที่ ก่อนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของและทะเลาะกัน ทั้งสองประเทศเรามีวัฒนธรรมร่วมกัน ซึ่งสามารถเดินข้ามไปมาหากันได้

วิธีที่ 2 รอให้อาเซียนเป็นประชาคม เส้นเขตแดนเหล่านี้จะไม่มีความสำคัญอีกต่อไป แต่จะมีการแลกเปลี่ยนกันได้หมดทุกเรื่อง บนพื้นฐานในการเคารพสิทธิแต่ละประเทศ โดยจะต้องยอมรับความแตกต่างในเชื้อชาติ บริหารความแตกต่างเหล่านั้นให้ได้ ไม่ใช่แอบซ่อนอัตลักษณ์ของตัวเองไว้ ความหลากหลาย คือ สิ่งที่มีค่า เราต้องพยายามใช้ความหลากหลายนี้อยู่ร่วมกันภายใต้ประชาคมเดียวกันให้ได้ ไม่นำมาเป็นข้อขัดแย้งกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น