เลขาธิการอาเซียน แนะไทยเร่งลงทุนธุรกิจภาคบริการ รองรับเม็ดเงินทุนจากทั่วโลกที่จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจกลุ่มนี้มากขึ้น ขณะที่ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุ เอกชนควรเตรียมแผนเชิงรุก ตามความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม รับ AEC ในปี 2558
นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน กล่าวในโอกาสร่วมงาน ASEAN Business Forum 2012 โดยมองว่า ประเทศสมาชิกภายใต้การรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ควรให้ความสำคัญกับการลงทุนธุรกิจภาคบริการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเสื้อผ้า สปา การศึกษา การขนส่ง ภาคการเงิน สินเชื่อ และสาธารณสุข เพื่อช่วยให้การค้าใน AEC สะดวกมากขึ้น โดยในปี 2553 พบว่าทั่วโลกเข้ามาลงทุนในธุรกิจกลุ่มนี้มากถึง 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าปี 2555 จะขยายตัวมากขึ้น แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเม็ดเงินเหล่านี้จะไปที่ประเทศใด เนื่องจากเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริการเริ่มกระเตื้องขึ้น
ขณะที่จีนและญี่ปุ่นกำลังขยายการลงทุน ดังนั้น ประเทศไทยต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นว่าภัยธรรมชาติจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะแม้บริษัทใหญ่ที่มีฐานการลงทุนในไทยจะไม่ย้ายฐานการผลิต แต่บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนขนาดเล็กยังสามารถย้ายไปที่อื่นที่มีความปลอดภัยกว่า และมีต้นทุนแรงงานที่ถูกกว่าไทย รวมทั้งมีระบบการขนส่งที่คล่องตัว ทั้งนี้ มองว่า ในอนาคต คนรุ่นใหม่ที่มีโลกทัศน์กว้าง และมีความเข้าใจกับธุรกิจใหม่ๆ จะมีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจ เพราะเวทีอาเซียนเป็นเวทีธุรกิจที่เต็มไปด้วยการต่อสู้ ขณะที่คนรุ่นเก่าจะเป็นเพียงผู้กำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจอย่างรอบคอบ
ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ไทยต้องเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยภาครัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกันในเชิงรับและเชิงรุกมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ภาคธุรกิจแข่งขันได้ เพราะการไม่เก็บภาษีระหว่างกัน หรือแต่ละประเทศอาจใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีมาเป็นกำแพงกีดกันการทำการค้าจะทำให้การแข่งขันสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้ทำงานกับทั้งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) รวมถึงภาคท่องเที่ยวและตลาดทุนอย่างใกล้ชิด ขณะที่เอกชนควรมีแผนเตรียมความพร้อมตามความเหมาะสมของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เพราะไม่สามารถใช้ความได้เปรียบจากอัตราแลกเปลี่ยนมาแข่งขันได้อย่างเดียวอีกต่อไป