xs
xsm
sm
md
lg

กก.แพทย์ สปส.ห่วงบริการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณะ กก.การแพทย์ประกันสังคม ไฟเขียวแก้ประกาศบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน-ประสบอันตราย แนะยึดอาการผู้ป่วย อย่าห่วงค่ารักษา ชงเข้าบอร์ด 3 เม.ย.นี้ ด้าน รพ.เอกชนจี้วางระบบส่งต่อให้ดี

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวหลังประชุมชี้แจงแนวทางการการพัฒนาระบบบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน ประสบอันตรายหลังจากคณะกรรมร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการให้มีมาตรฐานเดียวกันได้มีข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนาระบบบริการรักษาพยาบาลโดยเริ่มในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน ประสบอันตรายในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการการแพทย์ของประกันสังคม ได้เห็นชอบแก้ไขประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ และอัตราการบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน และประสบอันตราย โดยกำหนดให้กรณีผู้ป่วยระบบอื่นมาใช้บริการใน รพ.เครือข่ายระบบประกันสังคมให้คิดค่ารักษาพยาบาลในอัตรา 10,500 บาทต่อระดับความรุนแรงของโรค และคิดค่ารักษาพยาบาลทั่วไปก็ให้คิดตามอัตราที่กรมบัญชีกลางกำหนด

ส่วนผู้ป่วยที่มีสิทธิอยู่ในระบบประกันสังคมและเข้ารับการรักษาใน รพ.เครือข่ายประกันสังคม ก็ยังคงคิดค่ารักษาพยาบาลในอัตรา 1.5 หมื่นบาทต่อระดับความรุนแรงของโรค ทั้งนี้ โรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมจะต้องให้การรักษาจนพ้นขีดอันตรายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งโรงพยาบาลที่ให้การรักษามาเบิกค่ารักษาได้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการจ่ายเงินค่ารักษาของแต่ละระบบ

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการการแพทย์ ได้มีข้อเสนอแนะว่า ขอให้ สปส.ไปชี้แจงทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลรัฐและเอกชนในเครือข่ายประกันสังคมว่าในการให้บริการการรักษาผู้ป่วยที่เจ็บป่วยฉุกเฉินและประสบอันตราย ขอให้ยึดอาการผู้ป่วยเป็นหลัก อย่าไปยึดค่ารักษาเป็นหลัก เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาจนพ้นขีดอันตราย ทั้งนี้ จะเสนอร่างประกาศฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการประกันสังคม ในวันที่ 3 เมษายนนี้

“ในการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจวันนี้ ทางโรงพยาบาลเอกชนได้แสดงความเป็นห่วง ว่า หากระบบการส่งต่อผู้ป่วยไม่ดี จะทำให้ผู้ป่วยพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนนานเกินไป จึงควรจัดระบบส่งต่อให้ดี ยกตัวอย่างกรณีผู้ป่วยเดินทางมาทำธุระที่กรุงเทพฯ และเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินต้องเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลกรุงเทพฯ เมื่อได้รับการรักษาจนพ้นขีดอันตรายและร่างกายฟื้นตัวในระดับหนึ่งแล้ว ก็ควรจะส่งต่อยังโรงพยาบาลในจังหวัดที่ผู้ป่วยมีภูมิลำเนาอยู่เพื่อรักษาจนหายเป็นปกติ ซึ่งจะสะดวกต่อการเดินทางของผู้ป่วย ทั้งนี้ สปส.จะเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับโรคที่เข้าข่ายป่วยฉุกเฉิน เช่น โรคไส้ติ่งอักเสบ โรคหอบหืด เส้นเลือดสมองแตก หัวใจวายเฉียบพลัน ฯลฯ ซึ่งทั้ง 3 ระบบสุขภาพได้กำหนดโรคที่เข้าข่ายป่วยฉุกเฉินเป็นมาตรฐานเดียวกัน” นพ.สุรเดช กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น