xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประกอบการ รร.จ.ภูเก็ต ยื่นรัฐ แยกธุรกิจออกจาก กม.ค่าแรงขั้นต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ประกอบการโรงแรม จ.ภูเก็ต เสนอ “เผดิมชัย” ชงออก กม.เฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวบริการ นำค่าเซอร์วิสชาร์จคิดรวมเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ พร้อมจี้แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ด้าน รมว.แรงงาน สั่งปลัดแรงงานวางระเบียบเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จ แจงรายละเอียดให้ชัดเจน ชี้นำมารวมเป็นค่าจ้างขั้นต่ำได้

วันนี้ (20 มี.ค.) นายนเรศ ศรีนาค ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล โรงแรมตรีสรา ในฐานะประธานชมรมการจัดการงานบุคคลจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ชมรมฯ ซึ่งมีสมาชิกเป็นสถานประกอบการด้านโรงแรมและการท่องเที่ยวจำนวน 142 แห่ง มีพนักงานที่อยู่ภายใต้การบริหารงานกว่า 7 หมื่นคน ได้เสนอเรื่องให้ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.แรงงาน) แก้ปัญหาการบริหารงานบุคคลของจังหวัดภูเก็ต ใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เนื่องจากส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น

โดยข้อเรียกร้องของทางชมรมฯเราต้องการให้กระทรวงแรงงานพิจารณาแยกกิจการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการออกจากการบังคับใช้ของประกาศค่าแรงขั้นต่ำ หรือกำหนดให้สวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ในการดำเนินชีวิตและการทำงานซึ่งสถานประกอบการได้จัดให้ เช่น รถรับส่ง อาหาร ชุดทำงาน ที่พัก เงินค่าบริการประกันสุขภาพกลุ่ม ประกันชีวิตกลุ่ม เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างตามกฎหมาย

“อยากให้กระทรวงแรงงานจัดทำกฎหมายเฉพาะในการดูแลสถานประกอบการและแรงงานภาคบริการและการท่องเที่ยวไม่ใช้กฎหมายเดียวกับสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ เนื่องจากธุรกิจภาคบริการและการท่องเที่ยวมีลักษณะเฉพาะ เช่น ค่าเซอร์วิสชาร์จโรงแรมได้นำมาจ่ายให้แก่พนักงานเป็นรายได้ทุกเดือน ทำให้พนักงานมีรายได้สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำบางโรงแรมพนักงานไม่ต้องการโอที แต่อยากได้วันหยุดชดเชยแทน ซึ่งเป็นการตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง” นายนเรศ กล่าว
นายนเรศ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันได้เก็บค่าเซอร์วิสชาร์จจากลูกค้าโดยระบุชัดเจนในบิลใบเสร็จและนำมาจ่ายให้แก่พนักงานเป็นรายได้ประจำเดือน โดยหากคิดเฉพาะค่าเซอร์วิสชาร์จทางโรงแรมจ่ายให้เป็นรายได้แก่พนักงานขั้นต่ำอยู่ที่ ตั้งแต่ 2,000 บาท ไปจนถึง 26,000 บาท ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของพนักงาน และรายได้ของแต่ละโรงแรม อีกทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมมีความแตกต่างจากกลุ่มธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปที่แรงงานต้องทำงานเป็นเวลา ขณะที่พนักงานโรงแรมเป็นงานบริการซึ่งไม่มีวันหยุดทำให้มีสวัสดิการดีกว่า

นายนเรศ กล่าวย้ำว่า ผู้ประกอบการโรงแรมและการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ยินดีที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ในวันที่ 1 เมษายนนี้ แต่อยากให้มีการนำค่าเซอร์วิสชาร์จมารวมเป็นค่าจ้างขั้นต่ำเนื่องจากปัจจุบันโรงแรมต่างๆ นำค่าเซอร์วิสชาร์จมารวมเป็นรายได้ให้แก่พนักงานอยู่แล้ว ทำให้พนักงานมีรายได้รวมจริงสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐบาลประกาศมากแต่รายได้ส่วนนี้ รัฐไม่ได้ถือเป็นค่าจ้างทั้งหมด ทั้งๆที่เป็นรายได้ของพนักงานตรงตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ลูกจ้างมีรายได้เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการโรงแรมก็พร้อมที่จะนำเงินเดือนที่บวกด้วยค่าเซอร์วิสชาร์จมาคำนวณโบนัส ค่าโอที ให้แก่พนักงาน และจะไม่มีการตัดสวัสดิการอื่นๆ ที่มีอยู่เดิมเช่น ค่าอาหาร รถรับส่ง ชุดพนักงาน ที่พักอีกด้วย

ส่วนประเด็นที่ 2 คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวในภูเก็ตประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานประมาณ 2,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยตำแหน่งที่ขาดแคลนจะมีทั้งพนักงานระดับล่างจนถึงระดับบน เช่น คนสวน แม่บ้าน พนักงานเสิร์ฟ พนักงานต้อนรับรวมไปถึงระดับผู้บริหารฝ่ายต่างๆ ในโรงแรม ซึ่งในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีโรงแรมเกิดใหม่ในจังหวัดภูเก็ตปีละ 20-30 แห่ง โดยเฉลี่ยใช้พนักงานในทุกตำแหน่งแห่งละประมาณ 200 คน แต่ปัจจุบันโรงแรมไม่สามารถหาแรงงานมาทำงานได้จะต้องจ้างแรงงานต่างด้าว จึงอยากให้กระทรวงแรงงานแก้ปัญหานี้

ทั้งนี้ ทางชมรมฯเสนอว่า ควรเปิดโอกาสให้คนไทยพลัดถิ่น ซึ่งอาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆ ใกล้จังหวัดระนอง ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมง ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2 แสนคน ซึ่งคนเหล่านี้ไม่มีบัตรประชาชน และสื่อสารภาษาไทยได้ดีกว่าใช้แรงงานพม่า จึงอยากให้นำคนกลุ่มนี้มาพัฒนาทักษะให้เป็นแรงงานที่มีคุณภาพเพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดและทดแทนแรงงานต่างด้าว อย่างไรก็ตาม เรามองว่าคนไทยพลัดถิ่นกลุ่มนี้สามารถทำงานได้หลายอย่างหากมีการพัฒนาทักษะอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ เรื่องที่ 3.อยากให้ภาครัฐชี้แจงนโยบายและมาตรการรองรับในการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 ซึ่งเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เนื่องจากทางผูประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร โดยเฉพาะการเตรียมรับมือรองรับปัญหาหากเกิดปัญหาเคลื่อนย้ายแรงงาน เพื่อที่ทางผู้ประกอบการจะได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมบุคลากรด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว

และ 4.ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการจ้างงานคนพิการ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ซึ่งมีการปรับกฎกระทรวงให้สถานประกอบการต้องจ้างผู้พิการ 1 คนต่อพนักงานปกติ 100 คน แต่จังหวัดมีคนพิการน้อยมาก และส่วนใหญ่มีฐานะดี จึงอยากให้กระทรวงแรงงานทบทวนการบังคับใช้กฎกระทรวงหรือหามาตรการอื่นๆ มาช่วยเหลือ

ด้าน นายเผดิมชัย กล่าวว่า ในวันที่ 1 เม.ย.2555 พนักงานโรงแรมและการท่องเที่ยวจะต้องได้รับการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำที่ จ.ภูเก็ต เป็นวันละ 300 บาท ส่วนจะนำค่าเซอร์วิสชาร์จมารวมเป็นค่าจ้างขั้นต่ำได้หรือไม่นั้น ตนได้มอบให้ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ไปวางระเบียบข้อบังคับให้ชัดเจน โดยจะต้องมีการแจกแจงรายละเอียดของการเก็บเงินค่าเซอร์วิสชาร์จ ว่า มีค่าอะไรบ้างโดยเฉพาะค่าทิป จะต้องชี้แจงรายละเอียดสิ่งที่ลูกจ้างจะได้รับให้ชัดเจน รวมทั้งจะมีการแบ่งไปเป็นรายได้ของลูกจ้างทั้งหมดกี่เปอร์เซ็นต์ และกรณีที่ลูกค้าให้ทิปพนักงานเป็นรายบุคคลจะต้องไม่นำมารวมเป็นค่าจ้างขั้นต่ำส่วนข้อเรียกร้องให้แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ตนจะให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ร่วมกับกรมการจัดหางาน (กกจ.) จัดหาแรงงานและพัฒนาให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ

นายวิจิตรดา สันทัด ประธานสหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการ จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการนำค่าเซอร์วิสชาร์จในอาชีพบริการต่างๆ มาปะปนรวมเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากเงินดังกล่าวเป็นเงินที่นายจ้างเก็บเพิ่มจากลูกค้า และต้องเฉลี่ยคืนให้กับพนักงานทุกคนอีกทั้งค่าเซอร์วิสชาร์จก็ไม่เกี่ยวข้องกับต้นทุนของนายจ้างแต่อย่างใด

ในประเทศอื่นๆ ก็ใช้วิธีเก็บเซอร์วิสชาร์จแล้วเฉลี่ยให้พนักงาน เช่น ลาวมีกฎหมายบังคับให้คืนค่าเซอร์วิสชาร์จ 100% แก่พนักงาน ก็เข้าใจนายจ้างหรือโรงแรมขนาดเล็กที่อาจต้องมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ก็ต้องเข้าใจว่าถ้าไม่จ้างคนงานให้ถึง 300 บาท ก็จะไม่มีใครเข้ามาทำงานและเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน” นายวิจิตร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น