xs
xsm
sm
md
lg

ชวน อสม.เลิกบุหรี่ในวัน อสม.แห่งชาติ 20 มี.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศจย.ชวน อสม.เลิกบุหรี่ เริ่มต้นวันดี ในวัน อสม.แห่งชาติ 20 มีนาคม 2555 หนุนรัฐให้จัดกิจกรรมช่วยเลิกบุหรี่ให้ อสม.บวกกับขอแรงสนับสนุนจากครอบครัว และสังคม

ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า ศจย. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนการวิจัยเรื่อง “การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) 5 จังหวัด” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมี อสม.กระจายในชุมชนต่างๆทั่วประเทศจำนวนหลายแสนคน โดย อสม.ถือว่ามีบทบาทในการเป็นผู้นำการเผยแพร่ความรู้ ค่านิยมและพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ คณะผู้วิจัยจึงได้ทำการวิจัยเพื่อนำไปสู่สนับสนุนให้ อสม.ลด ละ เลิกบุหรี่ ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ร้อยเอ็ด และยะลา โดยพบว่า อสม.บางส่วนยังคงสูบบุหรี่ ซึ่ง อสม.ชายที่ยังมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่อยู่ที่ 25-66% ของ อสม.ชายทั้งหมด จึงนำไปสู่การทำโครงการเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อนำไปสู่การลด ละ เลิก
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
เมื่อวิเคราะห์จากการทำโครงการเพื่อช่วยให้ อสม.ได้ลด ละ เลิกบุหรี่ พบว่า เหตุผลที่ อสม.สูบบุหรี่เกิดจากความคิดว่าการสูบบุหรี่จะสามารถคลายเครียดได้ รองลงมาคือช่วยคลายความหงุดหงิด ไม่สบายใจ แก้เหงา บางส่วนระบุว่าเพื่อเข้าสังคม เคยชิน โดยกิจกรรมที่นำไปทำกับชุมชน จะเน้นในเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การให้ความรู้ การสร้างต้นแบบที่ดี และการส่งเสริมให้ครอบครัวเข้ามาสนับสนุนด้านกำลังใจให้แก่ผู้ต้องการเลิก บุหรี่ให้สำเร็จ ความห่วงใยต่อคนใกล้ชิด สิ่งสำคัญที่สุด คือ แรงสนับสนุนจากคนในครอบครัวโดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็ก” ดร.ศิริวรรณกล่าว

ดร.ศิริวรรณ กล่าวว่า สำหรับโครงการทำวิจัยเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ในพื้นที่ จ.พิษณุโลก ได้ทำโครงการวิจัยเรื่อง “การปรับพฤติกรรมสูบบุหรี่ในอาสาสมัครสาธารณสุขเพศชาย กรณีศึกษา : อำเภอเนินมะปราง” พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีอัตราการสูบบุหรี่เกือบครึ่ง ซึ่งหลังจากการทำโครงการ พบว่า อสม.ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ มีทั้งสิ้น 21 คน หรือมากถึง 56.8% โดยมีแรงจูงใจเบื้องหลัง 5 ประการ ได้แก่ 1) เป็นห่วงสุขภาพในระยะยาวที่เกิดจากการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่อง 2) มั่นใจในตนเองว่าสามารถเลิกบุหรี่ได้ 3) ได้รับแรงผลักดันทางสังคมโดยกลุ่มสมาชิกด้วยกัน 4) ได้รับความเข้าใจและกำลังใจที่ดีจากครอบครัว 5) ได้รับการสนับสนุนทางสังคมโดยชุมชน

“การทำกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ พบว่า แรงผลักดันที่สำคัญที่ทำให้สามารถเลิกบุหรี่ได้ คือ กลุ่มตัวอย่างทราบว่าจะทำให้สุขภาพไม่ดี และบุคคลใกล้ชิดอยากให้เลิก ด้านกิจกรรมที่มีผลในการเลิกและลดบุหรี่ คือ การอบรม และการชมวีดิทัศน์ที่เป็นผลกระทบเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ และเสริมแรงสนับสนุนจากครอบครัว และสังคมจึงจะนำไปสู่ความสำเร็จได้แต่ในบางพื้นที่พบว่า กลุ่มตัวอย่างพยายามเลิกบุหรี่แต่ยังไม่สำเร็จ ซึ่งจำเป็นต้องมีกระบวนการเสริมเพื่อช่วยเลิกบุหรี่ด้วย” ดร.ศิริวรรณกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น