แพทย์เตือนใช้ไม้ปั่นหู แคะขี้หู เสี่ยงหูอักเสบเรื้อรัง โดยเฉพาะบริการแคะหูในร้านตัดผมชาย อาจติดเชื้อจากเครื่องมือที่ไม่สะอาด เสี่ยงแก้วหูทะลุ หูหนวกได้ ชี้ขี้หูมีประโยชน์ ไม่ใช่สิ่งสกปรก ในการดูแลความสะอาดรูหู ให้ใช้สำลีหรือผ้าขนหนูนุ่มๆ ชุบสบู่หรือน้ำ เช็ดเบาๆ ที่บริเวณใบหู หลีกเลี่ยงการใช้ไม้พันสำลีเช็ดในรูหู เพราะจะดันขี้หูเข้าไปลึก เกิดปัญหาขี้หูอุดตันทำให้หูอื้อ และชี้หากมีอาการผิดปกติขอให้ไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยามาหยอดหูเอง
นพ.ทัตเทพ บุณอำนวยสุข แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรค คอ หู จมูก ประจำสถาบันบำราศนราดูร กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการใช้ไม้แคะหูเมื่อคันหู หรือใช้ไม้พันสำลีเช็ดในรูหูหลังอาบน้ำหรือสระผม โดยเฉพาะตามร้านตัดผมชายซึ่งมีบริการหลังตัดผมว่า การใช้ไม้แคะหู ใช้ขนไก่ หรือใช้ไม้พันสำลี แคะ ปั่น หรือแหย่เข้าไปในรูหูเพื่อแก้คันหรือเพื่อเอาน้ำ เอาขี้หูออกมา เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เนื่องจากอาจทำให้ขี้หูเข้าไปอุดตันในรูหู หรือเกิดอันตรายต่อผิวหนังในรูหู เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค หรือแก้วหูทะลุได้ โดยเฉพาะการใช้บริการแคะหูในร้านตัดผมชายนั้นไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากใช้เครื่องมือที่ไม่สะอาดมาแคะหู จะทำให้เกิดอันตรายในขณะแคะหู และติดเชื้อจากเครื่องมือไม่สะอาด ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือหากแคะลึกเกินไป อาจทำให้แก้วหูทะลุได้
นพ.ทัตเทพกล่าวต่อว่า หูของคนเราตามปกติแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. หูชั้นนอก เริ่มตั้งแต่ใบหู เข้าไปช่องหูและแก้วหู ซึ่งแก้วหูนั้นเป็นเนื้อเยื่อที่มีความบอบบางมาก หนาประมาณ 0.1 มิลลิเมตร 2. หูชั้นกลางเป็นส่วนที่อยู่ติดจากแก้วหูมีลักษณะเป็นห้องเล็กๆ และมีท่อเชื่อมกับทางด้านหลังจมูกเพื่อประบความดันได้ มีกระดูกนำเสียง 3 ชิ้น และ 3. หูชั้นใน ซึ่งอยู่ส่วนในสุด มีอวัยวะประสาทสัมผัส 2 อย่างฝังอยู่ในกระดูกที่แข็งแรงมาก คือ อวัยวะทำหน้าที่รับเสียง และอวัยวะทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัว โดยที่หูชั้นนอกจะมีขี้หู ซึ่งเกิดจากขี้ไคลที่ผสมกับน้ำที่อยู่ในต่อมที่อยู่ในหู ทำหน้าที่ดักฝุ่นละออง สิ่งแปลกปลอมต่างๆ และมีกลิ่นเฉพาะ ดังนั้นขี้หูจึงไม่ใช่สิ่งสกปรกแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องแคะหรือปั่นออกมาเพราะโดยธรรมชาติขี้หูจะค่อยๆเลื่อนออกมาเอง แต่คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดว่าขี้หูเป็นสิ่งสกปรกและพยายามแคะออกเพื่อให้หูสะอาด
การทำความสะอาดรูหูโดยใช้แอลกอฮอล์ชุบไม้พันสำลีเพื่อเช็ดทำความสะอาดในรูหูก็ไม่ควรทำ เพราะแอลกอฮอล์ไม่ได้ฆ่าเชื้อโรคเท่านั้น แต่จะทำให้ผิวหนังบริเวณรูหูแห้ง หากแอลกอฮอล์ไหลเข้าไปถึงบริเวณหูชั้นกลางที่มีแผลถลอกอยู่แล้ว ก็จะเกิดการระคายเคืองและการอักเสบตามมา ทำให้เป็นหูน้ำหนวกได้ นอกจากนี้ การใช้ไม้พันสำลีหรือคอตตอนบัด (Cotton bud) เข้าไปเช็ดทำความสะอาดภายในรูหูก็ไม่ควรทำเช่นกัน เพราะผิวหนังในรูหูบางมาก จะทำให้เป็นแผลถลอกในรูหู เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ พอแผลเริ่มหายมักจะเกิดอาการคัน และเมื่อมีอาการคัน ก็มักจะใช้ไม้แคะหูแก้อาการคัน กระทำวนเวียนกันไป ทำให้เกิดอาการหูอักเสบเรื้อรัง หรือบางคนใช้ไม้คอดตอนบัดปั่นลึก ก็อาจทำให้แก้วหูทะลุ มีอาการปวดในหูได้
หากใช้คอตตอนบัดที่มีขนาดใหญ่หรือเท่ากับรูหู เข้าไปปั่นในรูหู เท่ากับว่าเป็นการดันขี้หูให้ลึกลงไปอีก ทำให้กลไกที่ขี้หูจะดันออกมาตามธรรมชาติเสียไป เกิดปัญหาขี้หูอุดตัน การได้ยินเสียงไม่ชัดเจนเหมือนปกติ ต้องมาพบแพทย์เพื่อหยอดยาและดูดขี้หูออกมา ซึ่งถ้าผู้ทำไม่มีความชำนาญก็เสี่ยงต่อหูน้ำหนวกได้ โดยที่สถาบันบำราศนราดูรพบผู้ป่วยประเภทนี้ได้เดือนละประมาณ 100 กว่าราย
ทั้งนี้ วิธีการทำความสะอาดหูอย่างถูกวิธีและไม่เป็นอันตรายนั้น ขอให้ทำความสะอาดเฉพาะใบหูและบริเวณปากรูหู โดยใช้สำลีหรือผ้าขนหนูนุ่มๆ ชุบสบู่หรือน้ำ เช็ดเบาๆบริเวณใบหู และขณะอาบน้ำ สระผม ขอให้ระวังอย่าให้น้ำเข้าไปในรูหู หากรู้สึกว่ามีน้ำเข้าหูบ่อย ควรป้องกันโดยใช้สำลีปั้นเป็นก้อนขนาดประมาณหัวแม่มืออุดหูก่อนอาบน้ำสระผม ในกรณีของเด็กเล็ก พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรใช้คอตตอนบัดทำความสะอาด เพราะเด็กมีรูหูที่ตื้น ก่อนอาบน้ำให้เด็กขอให้ใช้สำลีอุดหูเพื่อป้องกันน้ำเข้าหู ถ้าเกิดความผิดปกติแนะนำให้ไปพบแพทย์
“สิ่งที่คนเรามองข้ามไปเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพหู คือ ไม่ควรฟังเพลงเสียงดังนานเกินไป จะทำให้เกิดโรคหูตึงไปจนถึงหูดับถาวร ข้อจำกัดในการอยู่ในที่เสียงดังคือ ถ้าอยู่ในที่ที่มีเสียงดังตั้งแต่ 85 เดซิเบลขึ้นไป ไม่ควรอยู่นานเกินวันละ 8 ชั่วโมง และต้องมีเครื่องป้องกันเสียงสวมครอบหูไว้ด้วย รวมทั้งหากเกิดอาการเจ็บ ปวดบริเวณหู หรือได้ยินเสียงไม่ชัดเจน ไม่ควรซื้อยามาหยอดเอง ขอให้มาพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาให้ตรงตามโรคและถูกวิธี” นพ.ทัตเทพ กล่าว