xs
xsm
sm
md
lg

เล็งเก็บภาษีโรงเรือนที่สร้างก่อนปี 35 ไม่มีสปริงเกอร์‏

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คกก.วิสามัญฯ เล็งเก็บภาษีโรงเรือนอาคารที่สร้างก่อนปี 2535 และไม่ติดตั้งระบบสปริงเกอร์ การรักษาความปลอดภัยต่างๆ พร้อมเตรียมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเจ้าของอาคารหามาตรการอื่นๆ มารองรับ

วันนี้ (13 มี.ค.) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายกิตพล เชิดชูกิจกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตประเวศ ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษา ติดตาม และตรวจสอบมาตรการควบคุมความปลอดภัยในอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคนและโรงมหรสพในกรุงเทพฯ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการวิสามัญฯ ว่า การประชุมในวันนี้ได้มีการกำหนดขอบเขตแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการวิสามัญฯ โดยได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาว่า กทม.ในฐานะหน่วยงานท้องถิ่นจะสามารถออกกฎหมายใดได้บ้าง โดยต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 ฉบับแก้ไข แต่สำหรับอาคารที่สร้างก่อนจะมี พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 นั้นอาจจะมีการนำกฎหมายฉบับอื่นมาบังคับใช้ โดยเฉพาะการใช้มาตรการจัดเก็บภาษีโรงเรือนเพิ่มมากขึ้นสำหรับอาคารที่สร้างก่อนปี 2535 และไม่ได้ติดตั้งระบบป้องกันความปลอดภัย อาทิ ระบบสปริงเกอร์ ซึ่งจะนำเงินในส่วนนี้มาจัดตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือหากเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ในอาคาร รวมถึงอาจจะนำมาจัดซื้อเครื่องมือกู้ชีพ โดยให้ฝ่ายกฎหมายไปศึกษารายละเอียดต่อไป

นายกิตพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ คณะกรรมการวิสามัญฯ จะมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากเอกชนเจ้าของอาคารในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับการแก้กฎหมาย ว่า ต้องการให้หน่วยงานดำเนินการอย่างไรนอกเหนือจากการบังคับใช้กฎหมาย และจะออกมาตรการควบคุมการก่อสร้าง การขออนุญาต และการเปิดใช้อาคารเพิ่มเติม เนื่องจากที่ผ่านมาการใช้อาคารไม่มีอายุการใช้งาน ซึ่งจะต้องมีการเข้มงวดในเรื่องการตรวจสอบอาคารให้บ่อยขึ้น อาทิ ตรวจสอบทุก 6 เดือน หรือ ออกใบอนุญาตทุก 2 ปี ทั้งนี้ จะอนุญาตให้บริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตการตรวจสอบอาคารได้เข้ามาร่วมตรวจสอบอาคารด้วย โดยผู้ที่เซ็นต์ชื่อให้ผ่านการตรวจสอบจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ได้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อรวบรวมข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งจะมีการประชุมกันเป็นประจำ เพื่อสรุปแนวทางต่างๆ ให้เร็วขึ้น และนำเสนอกับสภา กทม.ในการแก้ไขระเบียบและกฎหมาย ในส่วนที่ กทม.จะสามารถทำได้ ส่วนกฎหมายที่อยู่นอกเหนืออำนาจของ กทม.ก็จะต้องทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขให้เหมาะสมกับสภาพเมืองในปัจจุบัน นอกจากนี้ จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการอีกหลายชุด เพื่อศึกษาในเรื่องต่างๆ อาทิ ความปลอดภัยของอาคาร สถานที่ที่มีประชาชนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจุดขนส่งมวลชน เป็นต้น

“เราจะต้องสร้างความมั่นใจ ความศรัทธาให้กับนักท่องเที่ยว ถึงแม้ว่า กทม.จะไม่สามารถแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมอาคารได้ แต่มาตรการที่ออกมาหวังว่าจะเป็นกฎของสังคม ที่จะทำให้เจ้าของอาคารให้ความสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยของประชาชน” นายกิตพล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น