มูลนิธิเพื่อนหญิงแนวโน้มความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับสตรีเพิ่มขึ้นทุกปี เหยื่อผู้หญิงถูกกระทำรุนแรงเข้ารับการรักษาศูนย์พึ่งได้ของ สธ.กว่า 2.7 หมื่นคน เผยช่วง 3 เดือนปี 55 ร้องขอความช่วยเหลือมูลนิธิกว่า 500 คน จี้ “ยิ่งลักษณ์” จัดงบขับเคลื่อนกลไกรัฐคุ้มครองผู้หญิง
วันนี้ (8 มี.ค.) น.ส.ธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงในผู้หญิง ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงมีแนวโน้มที่แย่ลงเรื่อยๆ ซึ่งหากดูจากข้อมูลของทางศูนย์พึ่งได้ ของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2554 พบว่า มีผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงเข้าไปรักษาตัวที่ศูนย์พึ่งได้ถึงกว่า 2.7 หมื่นคน ส่วนใหญ่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศและปัญหาการทำร้ายร่างกายภายในครอบครัว และเมื่อดูข้อมูลของทางมูลนิธิเพื่อนหญิงตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค. 2555 มีผู้หญิงที่มาความช่วยเหลือกว่า 500 คน โดยในจำนวนนี้ 80% เป็นปัญหาภายในครอบครัว อีก 20% เป็นปัญหาความรุนแรงทางเพศ ขณะที่ในปี 2554 มีผู้หญิงที่เข้ามาขอความช่วยเหลือประมาณ 1.3 พันคน
ทั้งนี้ ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วยังมีความรุนแรงกับผู้หญิงอีกมากที่ไม่กล้าเปิดเผย ซึ่งมาจาก 3 สาเหตุหลัก คือ มีความอาย กลัวเสียชื่อเสียง และกลัวแฟนหรือญาติพี่น้องรับไม่ได้ บางรายถูกข่มขู่จากผู้มีอิทธิพลไม่ให้ไปแจ้งความ และพนักงาน เจ้าหน้าที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคดีที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง เพราะมองว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ผัวเมียตีกัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่เกิดความไม่มั่นใจ และรู้สึกไม่ปลอดภัยในการที่จะไปแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ
“หากลองเปรียบเทียบตัวเลขกับศูนย์พึ่งได้ของสธ.ในปี 2554 มีผู้หญิงเข้ารับการรักษาถึงกว่า 2.7 หมื่นคนที่ถูกกระทำรุนแรง ขณะที่ตัวเลขของผู้หญิงแจ้งความกับตำรวจในปี 2554 มีแค่ 3-4 พันคนเท่านั้น จะเห็นว่ามีผู้หญิงจำนวนมากที่ไม่กล้าไปแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าหน้าที่ด้วยสาเหตุที่กล่าวมา ซึ่งแนวโน้มแต่ละปีมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และจากทั้ง 3 สาเหตุทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ถูกนำตัวมาลงโทษ ก่อให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำกับเหยื่อผู้หญิงรายเดิมๆและอาจจะไปกระทำกับเหยื่อรายใหม่ๆ และหากสังเกตเวลาตำรวจจับคนร้ายได้พบว่า เป็นผู้ที่เคยมีประวัติทำร้ายผู้หญิงมาก่อนหลายครั้ง ” น.ส.ธนวดีกล่าว
น.ส.ธนวดีกล่าวต่อไปว่า ในฐานะที่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้หญิง อยากจะให้รัฐบาลเร่งสร้างมาตรการที่จะขับเคลื่อนกลไกในการคุ้มครองผู้หญิงของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะ พ.ร.บ.กระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 ขอให้จัดสรรงบประมาณ เครื่องมือที่จะขับเคลื่อนกลไกให้มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ อยากให้รัฐติดตามและประเมินผลในการทำงาน และให้รัฐบาลผลักดันฐานข้อมูลสถิติในระดับชาติ