xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ร่วมภาคีด้านอาหาร หนุนกินจืด เลี่ยงวางเครื่องปรุงบนโต๊ะ แนะจัดผลไม้แทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“วิทยา” ลงนามร่วม 5 ภาคีด้านอาหาร เลี่ยงวางเครื่องปรุงบนโต๊ะ-เพิ่มเมนูผักผลไม้ หวังลดผู้ป่วยโรคไต หลังพบผู้ป่วยพุ่งเป็น 2 เท่า ภายใน 5 ปี จากผู้ป่วยไตเรื้อรังทั้งหมด 7 ล้านคน เป็นระยะสุดท้าย 35,000 คน เผย ผู้ป่วยกว่าครึ่งเป็นเบาหวาน-ความดันโลหิตสูง

วันนี้ (8 มี.ค.) ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานรณรงค์ “กินรสจืด ยืดชีวิต” เนื่องในวันไตโลก (World kidney day) ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคม 2555 ของทุกปี พร้อมทั้งลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและ 5 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ สมาคมภัตตาคารอาหารไทย สมาคมผู้ประกอบการอาหาร สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอยแห่งประเทศไทย ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขแห่งประเทศไทย และสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย

นายวิทยา กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการช่วยกันป้องกันและลดปัญหาโรควิถีชีวิตหรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่สำคัญคือ เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และมะเร็ง ส่วนโรคไตวายนั้น พบว่าในรอบ 5 ปีมานี้ จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว สาเหตุของไตวายอันดับ 1 คือ เบาหวาน รองลงมา คือ โรคความดันโลหิตสูง พบได้เกือบร้อยละ 50 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอีกสาเหตุหนึ่งเกิดมาจากการชอบกินอาหารรสเค็ม จึงต้องเร่งแก้ไข ป้องกันที่ต้นเหตุลดการป่วยจาก 2 โรคนี้ คือ การปรับแก้พฤติกรรมการกินอาหารของคนไทย ต้องลดกินอาหารรสหวาน รสมัน และรสเค็ม เพราะอาหารการกินขณะนี้สามารถหาซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะคนในเขตเมืองและกทม.ซึ่งกว่าร้อยละ 80 นิยมกินอาหารนอกบ้าน ร้านอาหารและแผงลอยขายอาหารจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกันป้องกันโรคนี้ได้

นายวิทยา กล่าวว่า ส่วนในเขตชนบทที่ปรุงอาหารกินเองที่บ้าน เชื่อว่า พลังของ อสม.จะช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปรุงอาหารของแม่ครัวให้มีรสจืดลง ไม่ใช้ผงชูรส ผงปรุงรสต่างๆ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักระยะในการเปลี่ยนความเคยชินกับอาหารรสจัดของทั้งคนปรุงและคนกินอาหาร ดังนั้น อยากให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคเสียใหม่ เพื่อปลอดโรค เพราะขณะนี้พบคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 7 ล้านคน ในจำนวนนี้ 35,000 คนเป็นผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้าย ต้องอาศัยการฟอกไต หรือผ่าตัดเปลี่ยนไตใหม่ ในปี 2553 พบผู้ป่วยไตวายรับการรักษาในโรงพยาบาล 386,102 ครั้ง หรือเฉลี่ยวันละ 1,057 ครั้ง

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.กล่าวว่า นิสัยการกินของคนไทยในขณะนี้ ก็คือ ชอบอาหารรสจัด รสแซบ เช่น ส้มตำ ต้มยำ ยำต่างๆ บะหมี่สำเร็จรูป การปรุงอาหารเหล่านี้ จะต้องใช้วัตถุปรุงรสเพิ่มขึ้น ทั้งเกลือ น้ำตาล จะมีผลทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น เพราะไตทำงานหนักในการกรองเกลือโซเดียมและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกาย ซึ่งผลการสำรวจปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียมคลอไรด์ของประเทศไทย ของกรมอนามัยและองค์กรยูนิเซฟประจำประเทศไทย ล่าสุด ในปี 2550 พบว่าคนไทยได้รับเกลือโซเดียมคลอไรด์ ถึง 2 ทาง คือ ได้จากที่อยู่ในเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว กะปิ ปรุงรสอาหาร หรือใช้ในการถนอมอาหารเฉลี่ยวันละ 12 กรัม และได้รับจากอาหารในรูปอื่นที่รสชาติไม่เค็ม เช่นในผงชูรส ผงฟู ผงปรุงรสต่างๆ เฉลี่ย 4.3 กรัมต่อวัน สูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึง 2 เท่า

“ในปีนี้จะเข้มข้นการรณรงค์ “ลดเค็มครึ่งหนึ่ง คนไทยไตไม่วาย” โดยลดกินอาหารที่มีรสเค็ม เช่น อาหารกระป๋อง อาหารหมักดองทั้งผัก ผลไม้ อาหารตากแห้ง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ปลาส้ม แหนม เป็นต้น อาหารกึ่งสำเร็จรูปพวกบะหมี่ โจ๊ก ข้าวต้ม ขนมถุงกรุบกรอบ หากปรุงอาหารเองไม่ควรปรุงเค็มมาก และไม่เติมผงชูรสหรือผงปรุงรส หรือหากกินก๋วยเตี๋ยว ควรรับประทานน้ำซุปแต่น้อย หรือเทน้ำซุปออกบางส่วนแล้วเติมน้ำเพื่อเจือจางลง เนื่องจากน้ำซุปมักมีโซเดียมสูง” นพ.ไพจิตร์ กล่าว 

นายสง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการ ที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่ป้องกันโรคจากเบาหวาน ความดันโลหิต ไตวาย มีด้วยกัน 10 วิธี คือ 1.ชิมก่อนปรุงให้เป็นนิสัย 2.ห้ามวางขวดน้ำปลา หรือซอสไว้โต๊ะรับประทานอาหาร 3.งดการบริโภคอาหารหมัก ดอง แปรรูป ทั้งแหนม แฮม ผักดอง 4.ลดการกินอาหารกึ่งสำเร็จรูป หรือรับประทานอย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ซอง 5.ลดการรับประทานอาหารที่ต้องมีน้ำจิ๋ม เช่นสุกี้ 6.ลดการรับประทานอาหารประเภทไข่เค็ม ปลาเค็ม เต้าหู้ยี้ กะปิ เนื้อเค็ม 7. กินผลไม้โดยไม่ต้องอาศัยพริกเกลือ 8. ลดอาหารจานด่วนตะวันตก 9. ลดการปรุงอาหารด้วยผงชูรส และ10 อ่านฉลากอาหารก่อนซื้อ

ทั้งนี้ ตามบันทึกข้อตกลงที่ได้ร่วมลงนามในวันนี้ สมาคมภัตตาคารอาหารไทย สมาคมผู้ประกอบการอาหาร และสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอยแห่งประเทศไทย จะหลีกเลี่ยงการวางเครื่องปรุงรสบนโต๊ะอาหาร ลดการปรุงอาหารหวาน มัน เค็ม และเพิ่มผักผลไม้ในเมนูอาหารมากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคกินอาหารรสหวาน มัน เค็มให้น้อยลง ส่วน อสม.ทั่วประเทศทีมีประมาณ 1 ล้านคนทุกหมู่บ้าน จะเป็นแบบอย่างที่ดีในการกินอาหารเพื่อสุขภาพ และเป็นแกนนำในการรณรงค์ให้ความรู้ประชาชน ลดกินอาหารรสหวาน มันเค็ม และเพิ่มการกินผักผลไม้ให้ได้ตามมาตรฐานคือวันละครึ่งกิโลกรัม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี
กำลังโหลดความคิดเห็น