รมว.ศึกษาธิการ สั่งลุยสางปัญหาทุจริต กรอ. หากพบให้ดำเนินการตามกฎหมาย พร้อมเผยเตรียมเดินหน้ายกร่าง พ.ร.บ.กรอ.ต่อเร็วๆ นี้ โดยจะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาหารือ
ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ออกมาแถลงผลการตรวจสอบการทุจริตเงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ปี 2549-2550 พบว่า มีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยของรัฐและเอกชน จำนวน 32 แห่งทั่วประเทศ มีพฤติกรรมเข้าข่ายกระทำทุจริตจริง โดยมีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องชักชวนให้นักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้มาเรียนและทำสัญญากู้ยืม ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่า มีนักเรียนบางคนกู้ยืมไปแล้ว แต่ไม่ได้เรียนต่อ และหลายคนเลิกเรียนกลางคัน และมีจำนวนไม่น้อยที่มีหลักฐานแสดงการกู้ยืม แต่เจ้าตัวไม่ได้เรียนจริง และปรากฏว่า มหาวิทยาลัยเหล่านี้ไม่ได้ทำเรื่องยกเลิกสัญญา ยังใช้ชื่อนักศึกษาในการขออนุมัติเงินกู้อย่างต่อเนื่อง ทำให้นักศึกษาถูกธนาคารฟ้องร้องจำนวน 101 คน โดยแต่ละคนใช้สิทธิในการกู้ยืมได้รายละ 80,000-120,000 บาท ว่า ตนเข้าใจว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งอาจไม่ตั้งใจให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น เพราะแต่ละปีมีนักศึกษาเข้ามาเรียน และลาออกไป หรือออกกลางคัน โดยไม่แจ้งมหาวิทยาลัยจำนวนมาก และกว่ามหาวิทยาลัยจะทราบว่านักศึกษาคนนั้นออกไปแล้ว บางแห่งก็ใช้เวลาเป็นปี และการดำเนินการต่างๆ ก็ทำไปตามเอกสารที่มีอยู่ จึงอาจเกิดความผิดพลาดได้ แต่ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบอย่างตามขั้นตอน ว่า มีการทุจริตจริงหรือไม่ หากพบว่ามีการทำผิดจริงก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย
“เรื่องนี้ผมเห็นใจทั้งมหาวิทยาลัย และนักศึกษา เพราะมหาวิทยาลัยเองก็อาจจะไม่รู้จริงๆ ส่วนนักศึกษาก็ได้รับความเดือดร้อน ถูกฟ้อง และบางคนทำงานได้เงินเดือนยังไม่พอใช้หนี้ ซึ่งผมก็เห็นใจ และอยากให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รัฐบาลนี้มีนโยบายว่าจะไม่ไปไล่ล่านักศึกษา ซึ่งหากนักศึกษายังมีรายได้ไม่ถึง 16,000 บาทตามที่กำหนด ก็ยังไม่ต้องชำระคืน และหากมีปัญหาติดข้อกฎหมายในเรื่องอะไรก็ตาม ผมก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยผ่อนปรนด้วย”ศ.ดร.สุชาติ กล่าว และสำหรับยกร่างระเบียบและวิธีปฏิบัติ เพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุน กรอ.นั้น ตนก็จะเดินหน้าต่อ โดยเร็วๆ นี้จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อยกร่างดังกล่าวต่อไป
อนึ่ง ก่อนหน้านั้น ในสมัย นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.โดยมี นายสุเมธ แย้มนุ่น อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เป็นประธานคณะทำงานยกร่าง ระเบียบและวิธีปฏิบัติ เพื่อรองรับการจัดตั้งกองทุน กรอ.ซึ่งที่ผ่านมาได้ยกร่างไว้ใน 2 ฉบับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.การเงินเพื่อการอุดมศึกษา ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับบทบาทของรัฐบาลในเชิงนโยบายเกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายหัวให้กับนิสิตนักศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ ในระดับปริญญาตรีของสถาบันอุดมศึกษา เช่น บางสาขาอาจจะต้องให้รัฐบาลสนับสนุน 100% หรือบางสาขาสนับสนุน 50% โดยสนับสนุนให้กู้ กรอ.เมื่อนักศึกษาจบ และมีงานทำให้คืนเงิน ส่วนเงินที่เหลือให้นิสิตนักศึกษาจ่ายเอง ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ทางคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) จะเป็นผู้กำหนดจากสภาพความเป็นจริงและร่าง พ.ร.บ.ที่กระทรวงการคลังเสนอให้ปรับ พ.ร.บ.กองทุน กยศ.มีสาระสำคัญเปิดให้นิสิตนักศึกษาทุกฐานะไม่ว่าจะยากจน หรือร่ำรวย สามารถกู้ยืมเรียนได้ทุกสาขาวิชา เมื่อเรียนจบ และมีงานทำให้คืนเงิน แต่จะต้องเป็นสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ เป็นหลัก ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะเป็นผู้กำหนดว่าจะมีสาขาใดบ้างที่กู้ กรอ.ได้