xs
xsm
sm
md
lg

“เยาวมาลย์ อำนาจพิชิตไพรี” เปลี่ยนโรค...กำเนิดพืชไทยเมืองเลย/ส่องค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 เยาวมาลย์ อำนาจพิชิตไพรี
“เยาวมาลย์ อำนาจพิชิตไพรี”
เปลี่ยนโรค...กำเนิดพืชไทยเมืองเลย
วรรณภา บูชา

ความกดดันในเรื่องร่างกาย ด้วยอาการเจ็บป่วยโรครูมาตอยด์ รุมเร้าเป็นแรงบันดาลใจให้
“เยาวมาลย์ อำนาจพิชิตไพรี” หรือ “พี่แม้ว” วัย 38 ปี ให้กำเนิด “พืชไทยเมืองเลย”
โดยเริ่มต้นส่งเสริมการปลูกและประกันราคา เพื่อส่งขายเมล็ดงาดิบจำหน่าย จนกระทั่งปัจจุบันมีการแปรรูปจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องธัญพืชผสมงาดำเพื่อสุขภาพ ภายใต้แบรนด์ Plant Thai
พี่แม้ว เล่าย้อนกลับไปราวปี 2538-2539 ซึ่งเริ่มเป็นโรครูมาตอยด์ ขณะนั้นใกล้จะเรียนจบปริญญาตรี ช่วงนั้นต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยมาก นับจากวันนั้นเป็นเวลากว่า 15 ปี ที่พี่แม้วต้องอยู่กับโรครูมาตอยด์

“พี่ไม่ต้องการรักษาโรคด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันเพราะต้องผ่าตัดหลายครั้ง ครั้งแรกที่ข้อมือ ครั้งที่ 2 ที่หัวเข่า พอถามคุณหมอว่าจะรักษาอย่างไรต่อไป คุณหมอได้แต่บอกเพียงว่าขึ้นตรงไหนก็ต้องผ่าตรงนั้น โรคจะไม่หายไป แถมต้องกินยาแต่กระเพาะเราไม่รับ เกิดอาการเจ็บกระเพาะและอาเจียน นั่นถือเป็นจุดจบในการรักษาแผนปัจจุบัน”พี่แม้วนึกย้อนวันวาน

จากนั้นจึงเกิดคำถามว่าเราจะดูแลตัวเองอย่างไร โดยไม่พึ่งยา จึงค่อยๆ หาข้อมูล ต่อมาได้รู้จักกับสันติอโศก เมื่อปรึกษาถึงอาการป่วยก็ได้รับคำแนะนำให้ล้างพิษ จากนั้นก็หักดิบยาเคมีเป็นเวลาเกือบ 7 ปีแล้วที่พี่หยุดยา แล้วใช้วิธีธรรมชาติขับพิษเก่าแล้วค่อยๆ เติมสิ่งที่ดีลงไป โดยเริ่มดีท็อกขับพิษ ไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่อาบน้ำเย็น รับประทานธัญพืชใช้พลังของพืชบำบัดร่างกาย ทั้งงาดำ ลูกเดือย ข้าวกล้อง ฯลฯ ฟังร่างกายของตัวเองให้มากขึ้น หากเจ็บปวดร่างกายก็ต้องทบทวนไตร่ตรองในสิ่งตนเองรับประทานในแต่ละมื้อซึ่งเรารู้เลยว่านี่แหละ เราต้องอาศัยธรรมชาติในการเยียวยา

ประกอบกับการหาข้อมูลจากหนังสือแปลด้านการแพทย์ทางเลือกธรรมชาติบำบัด พบว่า หากบริโภคงาดำเป็นประจำจะช่วยบำรุงกระดูกและฟัน บำรุงประสาทส่วนปลาย ทำให้ไม่ค่อยปวดศีรษะช่วยให้นอนหลับกระฉับกระเฉง ลดอาการปวดเมื่อย แต่งาดำที่เราหาซื้อมารับประทานนั้น ไม่รู้ที่มาที่ไป เพราะต้องการให้ได้ประโยชน์จากพืชโดยไม่เสียคุณค่าปราศจากเคมีดังนั้น จึงคิดที่จะปลูกและแปรรูปงาดำด้วยตัวเอง การส่งเสริมปลูกงาดำครั้งแรก จึงเป็นการปลูกเพื่อช่วยเหลืออาการเจ็บป่วยของตัวเอง

พี่แม้ว เล่าต่อว่า พอมีความคิดเช่นนั้น เราก็หาความรู้ไปขอคำปรึกษาจากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เริ่มฟื้นฟูแปลงเกษตรเมืองเลยที่เดิมเคยเป็นแหล่งปลูกงาดำอยู่แล้ว โดยการลงแปลงปลูกสนับสนุนเกษตรกร เขียนสัญญา รับซื้อ ประกันราคา ช่วงที่ปลูกก็ได้เรียนรู้ระบบการแปรรูปจากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งหากจะตั้งเป็นโรงงานได้จีเอ็มพีหรือมาตรฐานอุตสาหกรรม ต้องลงทุนมาก แต่เพราะไม่อยากเป็นหนี้สินจึงเลือกที่จะทำโรงงานขนาดเล็กโดยเริ่มทำเป็นโรงงานต้นแบบปัจจุบันได้รับมาตรฐานคิวแบรนด์ เพื่อการันตรีว่าเป็นสินค้าที่ปลอดภัย ผลิตแปรรูปสินค้าให้ได้มาตรฐาน เป็นต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ แต่ไม่เข้าสู่การผูกขาดทุกอย่างเด็ดขาด ฉะนั้น เราจะไม่เร่งการผลิตเพื่อให้ขายได้จำนวนมากๆ และไม่สนใจกำไรแต่เน้นพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และคุณภาพชีวิตเกษตรกร โดยในปีนี้จะเริ่มทดลองการปลูกธัญพืชแบบออแกนิกส์

พี่แม้ว เล่าอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรกลุ่มหนองบัวใน จ.เลย ที่ทำข้าวฮาง ซึ่งพอเหมาะพอดีที่จะนำมาเป็นส่วนผสมงาดำ โดยทุกสูตรจะมีส่วนผสมหลักเกินกว่า 80% ขณะที่ผลิตภัณฑ์อื่นอาจใช้ครีมเทียมหรือแป้งข้าวโพด หรือพ่อค้าคนกลางเอาเมล็ดพืชไปขายให้เกษตรกรฝั่งลาวปลูกแล้วส่งกลับมาขายในไทย ทั้งๆ ที่เมืองไทยสามารถปลูกงาดำได้ดี เป็นที่มาของชื่อ “พืชไทยเมืองเลย” ที่ต้องการให้รู้ว่า งาดำนี้ปลูกในแผ่นดินไทย และแม้จะปลูกเพื่อดูแลตัวเองแต่ก็ส่งต่อไปสู่สังคมโดยมีจุดแข็งไม่มีการปรุงแต่ง จริงใจ ใส่ใจ แม้รสชาติจะไม่อร่อยก็ตาม
เกษตรกรกำลังเก็บเกี่ยวงาดำ ที่ อ.วังสพุง จ.เลย : ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊คพืชไทยเมืองเลย
ส่วนสุขภาพของพี่แม้วในเวลานี้ เรียกว่า จากที่เคยน้ำหนักเพียง 35 กิโลกรัม อาการของพี่แม้วดีขึ้นเรื่อยๆ น้ำหนักเพิ่มเป็น 50 กิโลกรัม เพราะเราดูแลตัวเอง อาหารที่รับประทานในแต่ละวัน เช่น กินข้าวกล้องจะช่วยให้ย่อยง่าย ขับถ่ายได้ง่าย ไม่ต้องพึ่งยาแก้ปวด เรียกว่าหากมีอาหารดี อากาศดี สุขภาพของเราก็จะดี

“น่าสงสารคนเมืองที่ต้องอยู่อย่างรีบเร่ง วันนี้สุขภาพดีก็ไม่เคยคิดดูแลตัวเอง เพราะหากดูแลตั้งแต่วันนี้พี่เชื่อว่าจะมีอายุยืนแน่นอน อย่างพี่ก่อนหน้านี้คิดว่าตัวเองตายแน่แล้ว แค่เดินยังไม่ไหว แต่ตอนนี้กลับมาปั่นจักรยานได้ เดินได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี”พี่แม้วทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิด
กำลังโหลดความคิดเห็น