xs
xsm
sm
md
lg

วสท.ชี้เหตุโฮปเวลล์ถล่มใช้วัสดุรับน้ำหนักผิดหลัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -คมนาคม-วสท.เริ่มตรวจโครงการโฮปเวลล์ 5 มี.ค. คาดใช้เวลา 1 สัปดาห์รู้ผล นายกวสท.ชี้การใช้เหล็กนั่งร้านรองรับน้ำหนักคานที่ถูกทิ้งมา 20 ปี ผิดวัตถุประสงค์ ซ้ำร้ายถูกมิจฉาชีพถอดนอตไป ทำให้ถล่ม เผยตอม่อ 40% รองรับโครงการสายสีแดงได้หรือไม่ หากทำถูกหลักวิศวกรรม ก็ไม่น่ามีปัญหา กทม.สั่งจนท.ตรวจสอบป้ายโฆษณาทั่วกรุง หวั่นเหมือนโฮปเวลล์

นายศิลปชัย จารุเกษมรัตนะ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการตรวจสอบโครงสร้างโครงการโฮปเวลล์ว่า ทางกระทรวงคมนาคมได้ทำหนังสือประสานไปยังวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ในฐานะหน่วยงานกลางให้ช่วยตรวจสอบโครงการโฮปเวลล์ แล้ว โดยจะเป็นวันที่ 5 มี.ค.นี้ เวลา 09.00 น.พร้อมด้วยกระทรวงคมนาคม กรุงเทพฯ และการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)ในฐานะเจ้าของพื้นที่

โดยเริ่มตรวจสอบจากจุดที่เกิดเหตุก่อน จากนั้นจะตรวจสอบจุดอื่นๆที่คาดว่าจะเป็นปัญหา โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงจะเริ่มรื้อย้ายได้ หากทาง วสท.พิจารณาแล้วเห็นว่าจุดไหนมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้อีก จะทำการล้อมบริเวณดังกล่าว และติดป้ายเตือนไม่ให้ประชาชนเข้าไปในพื้นที่ก่อน จากนั้นจะทยอยรื้อออก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.เคยมีแนวคิดรื้อโครงสร้างโฮปเวลล์ที่มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ แต่เนื่องจากยังมีปัญหาการฟ้องร้องกับโฮปเวลล์ จึงดำเนินการไม่ได้

นายสุวัฒน์ เชาว์ปรีชา นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ(วสท.) กล่าวว่า ได้ส่งผู้บริหารลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสาเหตุเบื้องต้นแล้ว จากข้อมูลเป็นโครงการที่ก่อสร้างมาแล้วประมาณ 20 ปี แต่ต้องหยุดชะงักลงทันที เนื่องจากเกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับโฮปเวลล์ ซึ่งเป็นปัญหาว่า งานที่ถูกทิ้งค้างไว้บางส่วน เช่น คานรับน้ำหนักที่ถล่มเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า ใต้คานด้านล่างยังใช้เหล็กนั่งร้านเป็นวัสดุรับน้ำหนัก ทั้งนี้ ตามหลักวิศวกรรม เมื่อก่อสร้างเสร็จต้องรื้อเหล็กนั่งร้านออก ดังนั้น เมื่ออายุโครงการมากว่า 20 ปี จึงเป็นเหตุที่ใช้วัสดุที่ผิดวัตถุประสงค์ ขณะเดียวกัน ตามรายงานของกระทรวงคมนาคม ระบุว่า มีการถอดวัสดุเหล็กและนอตของมิจฉาชีพไปขาย จึงเป็นเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้พังลงมา

" ในวันที่ 5 จะจัดวิศวกรชุดใหญ่ลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุของการพัง แนวทางที่จะทำการื้อถอน เนื่องจากต้องระวังเรื่องของข้อพิพาทด้วย ซึ่งเชื่อว่าในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์จะชัดเจน"

สำหรับประเด็นที่ ร.ฟ.ท.มีแผนนำเสาตอม่อโฮปเวลล์ไปใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ในสัดส่วน 40% ของตอม่อในโครงการ นั้น นายกวสท.กล่าวว่า พร้อมเข้าไปตรวจสอบ หากถูกร้องขอ ซึ่งจะสามารถตรวจสอบความแข็งแรงของตอม่อแม้จะผ่านมาหลายสิบปี หากตรวจสอบแบบการก่อสร้างและพูดคุยกับวิศวกรของโฮปเวลล์ก็จะเกิดความชัดเจนง่ายขึ้น

" วสท.เห็นว่า หากการก่อสร้างในอดีตเป็นไปตามมาตรฐานหลักวิศวกรรม เสาตอม่อเหล่านี้ ก็ยังนำมาใช้งานได้ นอกจากการก่อสร้างตามแบบแล้ว เมื่อเทคอนกรีตก็จะต้องบ่มคอนกรีต เพื่อรักษาความชื้นไว้ 28 วัน หากทำตามขั้นตอนเหล่านี้ คอนกรีตก็จะแข็งแรงสามารถใช้งานได้นานและไม่มีปัญหา "

**สั่งจนท.ตรวจสอบป้ายโฆษราทั่วกรุง

วานนี้ (2 มี.ค.) นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ(กทม.) กล่าวว่าสาเหตุของการถล่มของชานชาลาดังกล่าว เกิดจากการสูญเสียกำลังของตัวนั่งร้านที่รองรับตัวคอนกรีต โดยการสูญเสียกำลังของตัวนั่งร้านเกิดจาก 2 สาเหตุสำคัญ 1.ความเสื่อมของตัวโครงสร้างวัสดุตัวนั่งร้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเหล็กที่มีการใช้งานมานาน ขาดการดูแลรักษา 2.การลักขโมยตัวน๊อตที่ล็อคตัวโครงสร้างเหล็กของตัวนั่งร้าน โดยการถล่มครั้งนี้เหมือนกับการถล่มของป้ายโฆษณาต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นหลังจากนี้กทม.จะดำเนินการเร่งออกสำรวจตัวโครงสร้างป้ายโฆษณาต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ

ต่อข้อถามที่ว่า จุดที่เกิดการถล่มครั้งนี้ เป็นจุดที่มีการก่อสร้างที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ใช่หรือไม่ นายธีระชน กล่าวว่า ถูกต้อง เพราะหากมีการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ โดยธรรมชาติแล้วตัวคอนกรีตเองจะสามารถรองรับตัวโครงสร้างของเองได้ ซึ่งหากจะสังเกตในระยะใกล้ๆประมาณ 200 เมตร จะเห็นว่าจะมีชานชาลาที่ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว และตัวโครงสร้างต่างๆ ก็ตั้งอยู่บนตัวคานคอนกรีต จนถึงตอนนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่จุดที่มีปัญหายังก่อสร้างไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากบริษัทที่รับสัมปทานเกิดประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ จึงทำให้การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ

เมื่อถามต่อว่า การถล่มครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อโครงการรถไฟสายสีแดงหรือไม่ นายธีระชน กล่าวว่า เสาตอม่อบางส่วนได้มีการนำไปใช้ในโครงการแอร์พอร์ตลิ้งค์ไปแล้ว โดยหลักวิศวกรรมแล้ว โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก และตัวเหล็กไม่ถูกตากแดดตากลมตัวโครงสร้างต่างๆ ก็สามารถนำมาใช้งานได้ เพียงแต่ว่าควรจะต้องมีการทดสอบโครงสร้างที่จะมาสอดรับกับตัวโครงสร้างใหม่จะมีรับกันได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากไม่แข็งแรงเพียงพอก็จำเป็นจะต้องมีการเพิ่มตัวรอบรับน้ำหนักเพิ่มเข้าไปอีก แต่ถ้ารับได้ก็คงจะไม่มีปัญหาเหมือนกับตัวโครงสร้างของโครงการแอร์พอร์ตลิ้งค์ที่มีการดำเนินการไปแล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น