xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายต้านความรุนแรง จี้ พม.เร่งลดความรุนแรงในครอบครัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายต้านความรุนแรง ปลุก กระทรวง พม.ลดความรุนแรงในครอบครัว เน้นสร้างกลไกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ชาย รณรงค์เปิดใจกล้าเข้ารับคำปรึกษา

วันนี้ (15 ก.พ.) ที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ นายพิเชษฐ์ อดุลย์เศรณี แกนนำเครือข่ายผู้ชายยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก พร้อมด้วย นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และแกนนำชุมชน กทม.กว่า 30 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อเรียกร้องให้เร่งพัฒนากลไก สนับสนุนผู้ชายที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อยุติความรุนแรง และรณรงค์ให้ผู้ชายเปิดใจ กล้าเข้ารับคำปรึกษา

นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่สามารถช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงในด้านต่างๆ โดยจะได้รับความคุ้มครองทั้งในด้านความปลอดภัยต่อชีวิตร่างกายและชื่อเสียง ขณะเดียวกัน ผู้ชายที่กระทำความรุนแรงก็ต้องการโอกาส และการมีพื้นที่เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเช่นกัน เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีมาตรการหรือกลไกเพื่อสนับสนุนให้ผู้ชายเหล่านี้ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งนี้ หากดูจากข้อมูลการให้คำปรึกษา พบว่า ผู้ชายส่วนใหญ่ที่เคยใช้ความรุนแรงมักจะควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกไม่ได้ และจะแสดงออกด้วยการทุบตี ชกต่อย และมักจะมีพฤติกรรมปิดกั้นตัวเอง ไม่ยอมเปิดใจ เก็บความรู้สึกเก่ง อยู่ในโลกส่วนตัว จนทำให้ผู้ชายเหล่านี้ไม่มีทางออก เกิดเป็นปมด้อย และเพิ่มโอกาสทำผิดซ้ำอีก อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ยังมองว่าสังคมไม่ให้โอกาส และไม่ให้ความสำคัญทั้งที่เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางสามารถลดความรุนแรงในสังคมลงได้

นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ชายที่เคยใช้ความรุนแรง ทางเครือข่ายฯ ขอเสนอข้อเรียกร้องให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นำไปพิจารณาดังนี้ 1.เร่งพัฒนากลไกสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง พ.ศ.2550 ให้สามารถทำงานได้อย่างเป็นมิตร เข้าใจ และเข้าถึงบริการได้ง่ายโดยเฉพาะช่องทางสำหรับผู้ชายที่ต้องการขอรับคำปรึกษาเพื่อปรับเปลี่ยน 2.รณรงค์และสนับสนุนให้ผู้ชายที่อยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แก้ปัญหาความรุนแรงได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นโดยเปิดใจ กล้าเข้ามาขอรับบริการคำปรึกษาจากหน่วยบริการเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนอย่างยั่งยืน และข้อ 3.ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการบูรณาการเรื่องมิติหญิงชายในทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดการเคารพและตระหนักต่อเรื่องสิทธิสตรีและสิทธิมนุษยชน

ด้านนายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า แม้ผลสำรวจของเราจะพบว่าผู้ชายมากกว่า 80% ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง แต่เมื่อมาดูในรายละเอียดกลับพบว่า ยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องอยู่มากในกลุ่มผู้ชาย เช่น ผู้ชายเกือบครึ่งที่มองว่าเขามีสิทธิหึงหวง ไม่ให้แฟนหรือภรรยาออกนอกบ้านหรือคุยกับผู้อื่น และอีกหนึ่งในสามที่มองว่า ผมมีคนอื่นได้ แต่คุณห้ามมีคนอื่น รวมถึงยังเชื่อว่าผู้หญิงต้องแสดงออกถึงความรักด้วยการยอมมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งทั้งหมดนี้มีรากมาจากฐานคิดแบบชายเป็นใหญ่ทั้งสิ้น เมื่อเป็นความรักที่ขาดสติ เลยเส้นความห่วงใย นำไปสู่ความหึงหวง ระแวง ไม่ไว้ใจ ก็มักจะลงท้ายด้วยความรุนแรงในที่สุด ซึ่งเราควรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อผิดๆเหล่านี้ เพราะมันจะบ่มเพาะ และนำไปสู่ความรุนแรงจึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งทำความเข้าใจทีถูกต้อง ขณะเดียวกัน การรณรงค์ที่มุ่งเป้าปรับเปลี่ยนที่ผู้ชาย ก็เป็นมิติใหม่ที่ทุกฝ่ายต้องจริงจัง และเร่งพัฒนากลไกสนับสนุน มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเองก็จะทำงานกับผู้ชายให้มากขึ้น

จากนั้น นางพนิตา กล่าวภายหลังจากรับข้อเสนอว่า กระทรวงจะรับเรื่องนี้ไว้เพื่อนำไปพัฒนา โดยเชื่อมให้เกิดกลไกและวิธีการเพื่อให้ผู้ชายกล้าเข้ามารับการบำบัดให้มากขึ้น เพราะโดยพฤติกรรมของผู้ชายส่วนใหญ่จะอ่อนในแข็งนอก หากมีปัญหาจะแสดงออกด้วยการเที่ยวเตร่ ซึ่งการบำบัดคงต้องครอบคลุมเรื่องยาเสพติดและแอลกอฮอล์ร่วมด้วย เพราะเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดความรุนแรง ทั้งนี้ ยอมรับว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง พ.ศ.2550 เน้นการสร้างครอบครัวให้อยู่เป็นสุข แต่ไม่ได้เน้นการจับกุมและดำเนินคดี ทั้งนี้ คงต้องย้ำไปที่สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เพื่อให้เข้ามาดูแลแก้ไขปัญหา ให้ครอบคลุม และหากต้องการขอรับคำปรึกษาก็สามารถโทร.เข้ามาได้ที่ 1300 โดยจะมีทีมสหวิชาชีพคอยให้คำปรึกษา
กำลังโหลดความคิดเห็น