ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ บริษัทต่างๆ ที่มีผลิตภัณฑ์สินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศต่างๆ ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้ออกมาเสนอผลการสำรวจและผลวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องกิจกรรมทางเพศอย่างต่อเนื่องเป็นวาระปีละครั้งบ้างสองครั้งบ้าง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงก็มีออกมาเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
ทุกครั้งที่ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศเหล่านี้ ไม่ว่าจะเกี่ยวโยงโดยตรงกับเรื่องอวัยวะทางเพศและเรื่องบนเตียงที่อิงไปตามข้อมูลการสำรวจและผลวิจัยก็กลายเป็นบอกกล่าวพูดบอกต่อกันทั่วประเทศ กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ อย่างน้อยสัปดาห์หนึ่งเต็มๆ โดยเฉพาะในปัจจุบันก็กลายเป็นเรื่องเล่าเร้าอารมณ์พอสนุกปาก เป็นลิงก์บนเฟซบุ๊ก
แน่นอนด้วยสัญชาตญาณ และความอยากรู้อยากเห็น คงไม่แปลกที่ข้อมูลเหล่านี้จะได้รับการแบ่งปันส่งต่อหรือแอบกดเข้าไปอ่านด้วยความใฝ่รู้ (หรือใคร่รู้) จากชื่อหัวข้ออย่าง 'ชาวเอเชียนกับระดับความปรารถนาด้านสัมผัสรัก' หรือ 'ระดับความแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย'
ด้วยการจัดประเภทของข้อมูลว่าเป็น 'ผลสำรวจ' กับความน่าเชื่อของหมอระดับโลก ซึ่งหากตั้งข้อสังเกตดู ก็อาจจะพบชื่อของบริษัทผู้นำด้านที่ปรึกษาปัญหาทางเพศ และสุขภาพ ที่สำคัญคือการจัดแบ่งหมวดของกลุ่มข้อมูลที่เหล่านี้เป็นโฆษณาในแบบที่แยกไม่ออกกับเนื้อหาเลย
มาดูกันว่าข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องเพศที่สร้างความฮือฮามีที่มาที่ไปอย่างไร และคนไทยรับหรือชอบแค่ไหนกัน
ผลสำรวจและวิจัยเรื่องเซ็กซ์ที่ฮือฮา
ว่ากันว่าวันหนึ่ง เนื้อหากับโฆษณาจะกลืนกินจนเป็นเนื้อเดียวกัน จนผู้คนสับสนและท้ายที่สุดก็มองข้าม ไม่จำเป็นต้องแยกแยะอีกต่อไปว่าส่วนไหนคือโฆษณา ส่วนไหนคือเนื้อหา
ในรูปแบบของข้อมูล ภูมิความรู้ หากเป็นในยุคอดีต ความเชื่อพื้นฐานจะถูกพัฒนามาสู่องค์ความรู้ นำมาสู่วิถีการดำรงชีวิต แต่กับความเชื่อของคนยุคปัจจุบัน คงไม่มีอะไรอ้างอิงได้มากไปกว่าการปิดป้ายว่าชุดข้อมูลเหล่านั้นคือ 'ผลสำรวจ' พร้อมด้วยชื่อเสียงของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องไม่ว่าในทางตรงหรือทางอ้อม
ทั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีผลสำรวจว่าด้วยรายละเอียดของกิจกรรมทางเพศอยู่มากมายหลายสำนักที่มุ่งเป้าหมายมายังประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียอาคเนย์มากขึ้น
ตั้งแต่ปี 2550 แบรนด์ถุงยางอนามัยชื่อดัง ได้จัดทำการสำรวจข้อมูลเชิงลึกด้านความสุขในการมีเพศสัมพันธ์ในชีวิตคู่ โดยใช้หัวข้อแนวคิดว่า 'รักสุขสม ชีวิตสดใส' ด้วยการนำเสนอข้อมูลในหัวข้อแรก ' ความพึงพอใจในชีวิตรัก' ระบุว่า ร้อยละ 65 ของคนไทย ไร้สุขในรัก โดยชนชาติที่มีความสุขในชีวิตรักมากที่สุดคือไนจีเรีย ซึ่งมีถึงร้อยละ 67 ตามติดด้วยเม็กซิโกร้อยละ 63 และอินเดียร้อยละ 61 ตามติดมาด้วยโปแลนด์ร้อยละ 54 ญี่ปุ่นกลับเป็นชนชาติที่มีความสุขในชีวิตรักน้อยที่สุดเพียงร้อยละ 15
จากนั้น 11 เดือนต่อมา ก็เผยข้อมูลในหัวข้อ 'ชีวิตรักในห้องนอน' ว่า คนไทยร้อยละ 57 เบื่อหน่ายชีวิตรัก ขณะเดียวกันคนไทยถึง1 ใน 3 (ร้อยละ 69) ไม่กล้าบอกคนรักว่าตัวเองไม่สุขสมใจในชีวิตรัก และมีข้อมูลสิ่งที่จะช่วยเพิ่มความสุขในรักโดยร้อยละ 57 บอกว่าคือความโรแมนติก ร้อยละ 50 บอกว่าคือการใช้เวลามากขึ้นกับคู่รัก และร้อยละ 44 ต้องการมีการสื่อสารระหว่างกันให้มากขึ้น
ต่อเนื่องด้วยในอีกเดือนต่อมา ก็ยังย้ำด้วยพาดหัวข้อมูลแบบตีหัวเข้าบ้าน 'การเมืองทำคนไทยเซ็กซ์เสื่อม' และช่วงเดือนเมษายน 2551 เปิดเผยข้อมูลผลสำรวจต่อเนื่องของโครงการ ในหัวข้อ 'การถึงจุดสุดยอด' โดยบอกว่า ชายไทยร้อยละ 79 ถึงจุดสุดยอดเกือบทุกครั้ง แต่หญิงไทยมีเพียงร้อยละ 30 ที่ไปถึง ซึ่งผลสำรวจระบุว่าคู่รักชาวไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญในการถึงจุดสุดยอดมากเท่าคู่รักทั่วโลก
จนถึงหัวข้อสุดท้ายของโครงการคือหัวข้อ 'ความรู้คู่เพศศึกษา' เผยว่า นักรักชาวไทยน้อยกว่าครึ่ง (ชายร้อยละ 40 และหญิงร้อยละ 30) เชื่อว่าพวกเขาได้รับคำแนะนำและมีข้อมูลที่เพียงพอในการที่จะทำให้พวกเขาได้รับความสุขจากชีวิตรักของตัวเอง โดยสิ่งที่ผู้ร่วมตอบแบบสำรวจรู้สึกว่าไม่ได้รับจากการเรียนการสอนเพศศึกษาในโรงเรียน คือ มุมมองทางด้านอารมณ์ในชีวิตรัก ที่อาจรวมไปถึงความรัก ความเคารพซึ่งกันและกัน และการแบ่งปันความสุขในการมอบความพึงพอใจให้แก่คู่รัก
แน่นอนว่าข้อมูลเหล่านี้ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ส่วนหนึ่งมันสามารถสะท้อนสังคมไทย ความคิดของสังคม และปัญหาที่เกิดขึ้นบางส่วน แต่ส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากกันนั่นคือยุทธศาสตร์ทางการตลาด
มาถึงปีนี้กับล่าสุดคือผลสำรวจของบริษัทยายักษ์ใหญ่ของโลก เผยข้อมูลผลสำรวจในหัวข้อ 'ความสุขสมแห่งสัมผัสรักในอุดมคติของชาวเอเชีย’ โดยพบว่า ชายไทยร้อยละ 78 หญิงไทยร้อยละ 82 กล่าวว่า ‘ระดับความแข็งตัวของอวัยวะเพศไทย และความสามารถในการรักษาระดับความแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย คือปัจจัยสูงสุดในการนำไปสู่ความสุขสมทางเพศในอุดมคติ’ ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของชายหญิงชาวเอเชียร้อยละ 79
ผลสำรวจยังระบุอีกว่า มากกว่าครึ่งของชายในเอเชียยอมรับว่า ระดับความแข็งตัวของอวัยวะเพศชายต่ำกว่าเกรด 4 โดยผู้ชายสามารถเทียบความแกร่งขององคชาตได้โดยใช้ 'การประเมินระดับความแข็งตัวของอวัยวะเพศ' หรือระดับเกรดรัก 1-4 ( Erection Hardness Score หรือ EHS เกรด 1-4)
โดยมีการเปรียบเทียบระดับความแข็งตัวดังนี้ หนึ่งคือระดับเต้าหู้ สองคือระดับกล้วยหอมปลอกเปลือก สามคือระดับกล้วยหอมไม่ปลอกเปลือก และสี่คือระดับแตงกวา ซึ่งแน่นอนว่าในข้อมูลย่อมมีการลงลึกถึงรายละเอียดของลักษณะความแข็งตัวโดยมีเป้าหมายสูงสุดในระดับแตงกวา
ทว่าเมื่อมามองดูข้อมูลเหล่านี้แล้ว ด้านหนึ่งกับความน่าเชื่อถือของเหล่านักวิชาการ และผู้คนที่ลงมาให้ความเห็นทั้งในเชิงวิเคราะห์วิพากษ์กับผลการสำรวจ ช่วยเปิดประเด็นต่อสังคมให้มองเห็นถึงความมีอยู่ของปัญหาเหล่านี้ แต่อีกด้านหนึ่งภาวะสังคมที่ยังอีหลักอีเหลื่อ กับประเด็นเรื่องเพศ พร้อมกับภูมิความรู้ (ที่สะท้อนจากในผลสำรวจ) ของสังคม ทำให้ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า การกระตุ้นเร้าสังคมด้วยความหวือหวาของประเด็นนี้จะทำให้สังคมมุ่งไปในทิศทางใด
สมรรถภาพทางเพศในเชิงการตลาด
นี่คือธุรกิจอย่างไม่ต้องสงสัย การทำผลสำรวจแยกไม่ออกจากการตลาด ซึ่งมาถึงตอนนี้กับการสื่อสารข้อมูลข่าวสาร มันแทบแยกไม่ออกจากความรู้ หรือเนื้อหาเสียแล้ว ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ให้มุมมองในด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมสมรรถภาพทางเพศ โดยอธิบายเริ่มจากการจับเรื่องโรคอีบี (Erectile Dysfunctional (ED) -โรคอวัยวะเพศไม่แข็งตัว) ขึ้นมาเป็นประเด็นใหม่ในสังคมประมาณช่วง 7- 8 ปีก่อน เพื่อเป็นการปูทางให้กับสังคมให้เกิดการเปิดกว้างและยอมรับเรื่องปัญหาสุขภาพทางเพศมากขึ้น
“เริ่มต้นต้องมองไปที่โรคอีบีก่อน มันเกิดขึ้นมาได้จากหลายสาเหตุ จากความเครียด นอนน้อย กินอาหารไม่ดี ไม่ได้ออกกำลังกาย และมีโรคประจำตัว ฉะนั้นเมื่อเรากลุ่มดีๆ แล้วสาเหตุต่างๆที่เกิด จะเกิดจากวิถีชีวิตที่มันเปลี่ยนไป ตามระบบเศรษฐกิจที่มันก้าวหน้าขึ้น เพราะฉะนั้นกลยุทธ์ของบริษัทเหล่านี้คือมองเป้าไปที่ประเทศที่กำลังพัฒนา”
โดยตัวอย่างที่เขาหยิบยกขึ้นมาพูดถึงคือ ผลสำรวจของบริษัทยาแห่งหนึ่งเมื่อปี 2543 พบว่า ชายไทยอายุ 40 ปีขึ้นไป ร้อยละ 37 เคยประสบปัญหาหย่อนสมรรถภาพทางเพศ มาถึงปี 2551 ผลสำรวจก็เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 42 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นมากขึ้น
“จากแนวโน้มที่ปัญหามันเพิ่มขึ้นแบบนี้ คือเหตุผลว่าทำไม บริษัทเหล่านี้จึงเริ่มมีผลสำรวจออกมา เขาเริ่มปูพรมปูทาง ให้ผู้คนตระหนักในเรื่องเพศ ทำให้เกิดความคิดว่าเกิดปัญหานี้แล้วนะ นี่คือกลยุทธ์ทางการตลาด เขาจะไม่เข้ามาตูม แล้วประกาศตั้งบูทขาย เขาจะเริ่มเข้ามาในลักษณะแบบนี้ก่อน นี่จึงตอบได้ว่าทำไมเขาถึงเข้ามาทำผลสำรวจในแถบเอเชีย เพราะเขามองว่าเอเชียกำลังเติบโต”
ธรรมชาติอย่างหนึ่งจากผลการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ระบุว่า พอรายได้ของผู้คนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากๆ (ในประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีมากๆ) รายได้ต่อหัวเพิ่มเร็ว ผู้คนจะแบ่งเงินส่วนใหญ่ไปใช้กับการบันเทิง และความสุขในระยะสั้นมากขึ้น
“นั่นหมายความว่าอุตสาหกรรมทางเพศ หรือการดูแลเรื่องสมรรถภาพทางเพศจะเติบโตตามไปด้วย”
ในเรื่องเพศนั้นอาจสามารถแบ่งได้เป็น 2 มิติ ด้านหนึ่งเป็นเรื่องของความรัก อีกด้านเป็นเรื่องของความบันเทิง ซึ่งเมื่อรายจ่ายทางเพศที่สร้างความบันเทิงจะมีมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับสมรรถภาพทางเพศเป็นตัวแปรสำคัญ มองในแง่ธุรกิจ ดร.เกียรติอนันต์ คาดคะเนจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติว่า ในประเทศไทยมีตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ยาเสริมสมรรถภาพทางเพศอยู่ราว 400,000 คน
“กลุ่มลูกค้าของเขาจะเป็นคนรายได้สูง เพราะยาพวกนี้ไม่ใช่ของถูกๆ ประกอบกับผลวิจัยของบริษัทยาเองที่บอกว่า กลุ่มเป้าหมายของเขามีอย่างน้อยครึ่งหนึ่งที่ประสบปัญหาแบบนี้ ทำให้กลุ่มคนที่น่าจะเป็นลูกค้าเขาแน่ๆ มีอยู่ 200,000 คน ซึ่งยาพวกนี้ขั้นต่ำของราคาจะอยู่ที่ 200 บาทต่อเดือน ดังนั้น 200,000 คน จ่ายคนละ 200 บาทต่อเดือน ปีหนึ่งเขาจะทำรายได้ไปเกือบ 500 ล้านบาท ถ้าเขาเข้ามาเต็มตัว”
แน่นอนว่าส่วนหนึ่งของการทำผลสำรวจ คือการสร้างกระแสให้สังคมตื่นตัว มองเห็นเรื่องเพศมากขึ้น แต่อีกส่วนก็เป็นการหยั่งเชิงทางการตลาดของบริษัทเหล่านี้ หยั่งเชิงทั้งทางตลาด ค่านิยม สังคม และวัฒนธรรม
“วัฒนธรรมเอเชีย ยิ่งในเอเชียอาคเนย์ เรื่องเพศยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนอยู่ เขาก็จะต้องมีการปูพรม เตรียมสภาพ เพื่อให้เข้ามาแล้วไม่เกิดแรงต่อต้านของสังคม ลองนึกถึงถุงยางอนามัยที่เข้ามาเมื่อสัก 15-20 ปีก่อน เข้ามาแรกๆ คนเราไม่กล้าซื้อ ใช้เวลานานมาก กว่าคนกล้าจะซื้อถุงยาง นี่เป็นลักษณะเดียวกันของสินค้าทางเพศ”
นี่จึงส่งผลต่อการสร้างการรับรู้ของสินค้า หรือการแบรนดิ้งด้วย
“ธรรมชาติของสังคมไทยตลอดมา ผู้ชายจะมีหน้ามีตา มีความเป็นชาย ศักดิ์ศรีลูกผู้ชายจะมีความสำคัญมาก และส่วนหนึ่งของศักดิ์ศรีความเป็นชายก็คือเรื่องที่มีแฟน เรื่องเพศ ฉะนั้นเมื่อธุรกิจเข้ามาจับเรื่องเพศจะต้องระวังให้ดี มันอาจจะมีผลย้อนกลับมา อย่างพอบอกว่านี่คือยาสร้างสมรรถภาพทางเพศ สิ่งที่เกิดขึ้นคือเพื่อนจะหัวเราะถ้าใครซื้อ มันแสดงว่าคนคน นั้นไม่มีความสามารถ
“ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนทิศทาง คือเน้นไปที่ด้านอ่อนโยนของผู้ชาย แทนที่จะไปสร้างแบรนด์ฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศ แต่บอกว่ามันเป็นเรื่องที่ทำให้คนรักของเรามีความสุขขึ้น มันเป็นเรื่องของการรักษาความสัมพันธ์ของชีวิตคู่สร้างความสุขให้คู่รักมากกว่า”
แง่มุมของธุรกิจแล้ว การแข่งขันในตลาดที่เพิ่งเปิดขึ้นจากสังคมที่เริ่มตื่นตัว มันก็ถือเป็นโอกาสให้กับธุรกิจขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอีของธุรกิจอาหารเสริมสมรรถภาพทางเพศในประเทศไทยที่จะเข้ามาทำตลาดกับลูกค้าระดับกลางลงมาได้เช่นกัน
“ตลาดของบริษัทต่างชาติพวกนี้ชัดเจนอยู่แล้วที่ต้องขายลูกค้าชั้นบน ดังนั้นเอสเอ็มอีของไทย พวกกระชาย ยาดอง ม้ากระทืบโรง ต้นทุนถูกกว่า โอกาสนี้จะสามารถให้เปิดตลาดกลางและล่างได้ อย่าไปสู้กับเขาที่ตลาดบน แถมตลาดแบบนี้ใหญ่กว่าด้วย”
ในส่วนของความน่าเชื่อถือของการผลสำรวจนั้น ดร.เกียรติอนันต์เห็นว่า เชื่อถือได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ด้วยวิธีการทำสำรวจ และกรอบการคิดที่อาจเป็นแบบสากล
“อย่างการสำรวจชายไทยอายุ 40 - 70 ปี แต่ในบ้านเรา ชายไทย 60 ปีก็เข้าวัดฟังธรรม ไม่มีเพศสัมพันธ์แล้ว”
โดยข้อดีอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ อย่างน้อยเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมไทยถึงประเด็นตรงนี้ แม้มองในเชิงธุรกิจแล้ว แน่นอนว่าบริษัทเหล่านี้เป็นนักธุรกิจ ไม่ใช่นักบุญ อย่างไรเสียก็ต้องมาตักตวงกำไรกลับไปแน่ ทว่าผลในเชิงสังคมนั้น หลายครั้งกระแสการตื่นตัวในเรื่องเพศทำให้สังคมเดินไปผิดทิศทาง ด้วยการรับสารในแบบของคนไทย และสภาพสังคมในแบบของประเทศไทย
“บ้านเราไม่ได้มีมาตรฐานการควบคุมสินค้าที่เข้มข้นเท่าต่างประเทศ ดังนั้นเมื่อประเด็นพวกนี้ถูกจุดขึ้น ทำให้คนส่วนหนึ่งที่อาจจะไม่รู้ หรือไม่ทันระวังก็อาจจะไปซื้อยาที่ผิดกฎหมายได้ จะเห็นได้ว่าตามพัทยาจะมีขายที่ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัวอยู่เต็ม แต่ไม่รู้ว่าเป็นของแท้หรือของปลอม ซึ่งนี่จะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้”
ข้ามพ้นข้อมูลหวือหวาด้วยข้อเท็จจริงทางการแพทย์
สุขภาวะทางเพศเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในสังคมที่เต็มไปด้วยความเชื่อผิดๆ เพศศึกษาที่ยังให้ความรู้ได้ไม่ดีพอ ลุกลามเป็นปัญหาอีกมากมายในสังคม กับความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เริ่มเปิดและหันมาสนใจศึกษาเรื่องเพศมากขึ้นนั้น นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับงานวิจัยเรื่องเพศ และผลสำรวจเหล่านี้ว่า จริงๆ แล้วก็ไม่ได้ออกมาเยอะเท่าใดนัก แต่ที่ได้รับความสนใจค่อนข้างเยอะ เพราะเรื่องเพศถือเป็นประเด็นความสนใจทั่วไปของมนุษย์อยู่แล้ว เหมือนกับข่าวชู้สาวของดาราที่คนมักจะติดตามกันเป็นพิเศษ
"งานวิจัยพวกนี้ ปีหนึ่งออกมาไม่เยอะหรอก อย่างบริษัทผลิตถุงยางแห่งหนึ่งเขาก็ออกมาปีละหนเท่านั้น ซึ่งเขาก็ทำการสำรวจทางโทรศัพท์กันง่ายๆ แต่เนื่องจากมันเป็นการสำรวจจากทางบริษัท ไม่ได้ทำจากองค์กรที่เป็นกลาง ฉะนั้นจึงมีนัยทางการตลาด คืออาจจะถาม 20 ข้อ แล้วยกข้อที่เด่นของประเทศนั้นๆ มาเผยแพร่ เพื่อให้เกิดเป็นประเด็นที่น่าสนใจแล้วก็ลิงก์ไปกับแบรนด์ของบริษัท ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าประเทศไทยจะมีปัญหาเรื่องสมรรถภาพทางเพศมากกว่าประเทศอื่น"
แน่นอนสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา ก็ย่อมจะมีทั้งข้อดีข้อเสียปะปนกันไป ซึ่งหากเป็นข้อเสีย ก็น่าจะเป็นเรื่องการสร้างความกังวลให้แก่ผู้รับสาร แล้วอาจจะสืบเนื่องไปถึงการใช้บริการเครื่องมือช่วย เช่น ยาที่เพิ่มพลังทางเพศมากเกินจำเป็น แต่ถ้ามองในข้อดี ก็คือคนจะมีข้อมูลมากขึ้น เพราะถ้าพูดถึงสุขภาวะทางเพศของเมืองไทย หลายๆ กลุ่มก็ยังถือว่ามีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น สังเกตได้จากเรื่องที่เกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่มีอัตราสูงเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน หรือโรคเอดส์ที่กำลังกลับมาระบาดใหม่ เพราะมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน เพราะฉะนั้นการนำเสนองานวิจัยเหล่านี้ก็จะมีส่วนช่วยได้บ้าง
"ต้องยอมรับว่าบางอย่างก็ช่วยได้ เช่น บริษัทถุงยางเขาจะมักถามว่า ใช้ถุงยางกี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประเด็นแบบนี้มันก็ทำให้คนเกิดความตระหนักขึ้น มันก็เป็นผลประโยชน์ทั้งกับแบรนด์บริษัท และสังคมก็ควรเข้าใจด้วย แต่บางอย่างที่บอกว่ามีคู่กี่คู่ ทำกี่นาที มันอาจจะเป็นสีสันมากกว่า เพราะเราต้องยอมรับว่างานพวกนี้บางทีก็ไม่ได้ให้ข้อเท็จจริงหมด และถ้าพูดถึงการสื่อสารกับสาธารณชนเชิงลึก มันก็ต้องมีข้อมูลเชิงลึกมาประกอบด้วย เวลาคนที่เสพจะได้ไม่ตื่นตกใจมากเกินไป"
เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญในเรื่องนี้ก็คือ ตัวสื่อมวลชนเองก็จะต้องมีความรอบคอบในการนำเสนอข่าวแบบนี้ โดยไม่ควรจะนำเสนอข่าวด้านเดียว แต่ต้องไปถามแหล่งข่าวหลายๆ แหล่ง เพื่อความน่าเชื่อถือของสิ่งที่นำเสนอ ขณะเดียวกันประชาชนที่รับข่าวสารเองก็ต้องมีสติ และไม่ตื่นตระหนกกับข้อมูลที่ได้รับมากเกินไป แต่ต้องทำความเข้าใจถึงที่ไปที่มาของเรื่องเหล่านี้ด้วย
"ผมว่าสื่อไม่ควรลงข่าวแต่ผลวิจัยของบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่ต้องลงความเห็นของนักวิชาการด้วย ไม่ใช่ว่าพอเขามีข่าวแจกมาก็ลงตามนั้น แล้วก็เอาจุดเด่นๆ ที่เขาลงไปพาดหัวข่าว แบบนี้ถือว่าสื่อที่ไม่ค่อยมีศักดิ์ศรีเท่าไหร่ แล้วที่สำคัญนักวิชาการก็ต้องเข้าใจเรื่องนี้อย่างแท้จริง ไม่ใช่ไปผสมโรงกับผลสำรวจของบริษัท เช่นเดียวกับผู้รับสารเอง เดี๋ยวนี้ก็มีเว็บไซต์ให้ข้อมูลตามความเป็นจริงค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้นถ้ารับข่าวมา ก็อย่าเพิ่งตกใจลองเข้าเป็นเสิร์ชหาข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมากขึ้น แล้วค่อยหันกลับมาดูตัวเองว่าจะปรับตัวอย่างไรให้ดีขึ้น"
คนไทยเชื่อ แต่ไม่ทั้งหมด
จากผลการสำรวจที่ปรากฏอยู่หลากหลายชิ้น ซึ่งมีประเด็นหลักๆ ในเรื่องของพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์และปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของเพศสัมพันธ์ ทั้งการสำรวจระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ คนในสังคมหลายคนเห็นว่าเป็นข้อมูลที่น่าสนใจด้วยประเด็นทางเพศ แต่ก็ไม่น่าเชื่อถือนัก เพราะอาจไม่ได้ศึกษาปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ว่าน บัวเทศ วิศวกรวัย 26 ปี เห็นว่า ผลการสำรวจนั้นอาจเป็นข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริงสักเท่าไหร่ และคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทถุงยางอนามัยเพื่อกระตุ้นยอดขายเท่านั้นเอง
“ผลจากแบบสำรวจหลายๆ ชิ้น คิดว่ายังไม่น่าเชื่อถือเท่าไหร่ เนื่องจากความหลากหลายจากผู้ตอบแบบสำรวจยังมีน้อยเกินไป และผลการสำรวจบางส่วนเหมาะที่จะเป็นสาระความรู้มากกว่านำไปใช้ในด้านการตลาด เช่น เรื่องการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย มันเหมือนถูกกล่าวในภาพรวมมากเกินไป เพราะพฤติกรรมของคนในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ชายไทยกินเหล้าเยอะก็มีโอกาสที่จะได้ลำดับต่ำในเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์เป็นธรรมดา ส่วนของบางประเทศที่นับถืออิสลามเป็นส่วนใหญ่อย่างอินเดีย ก็ไม่แปลกที่จะมีปัญหาในส่วนนี้น้อยกว่า ดังนั้นโดยรวมจึงรู้สึกเฉยๆ กับ งานวิจัยจากแบบสำรวจเหล่านี้ และมันก็ไม่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตโดยเฉพาะเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์”
แต่ถึงแม้เสียงส่วนมากจะรู้สึกว่าผลสำรวจเหล่านี้ไม่ค่อยมีคุณค่าและอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมได้ แต่ก็ยังมีส่วนหนึ่งที่เห็นว่างานวิจัยเหล่านี้ก็มีประโยชน์ได้เช่นกัน ศริญญา ตั้งบรรเจิดวณิช เป็นนักศึกษาอีกคนหนึ่งที่บอกว่า งานวิจัยนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยผลักดันให้คนไทยรับรู้ข้อเท็จจริงในเรื่องเพศสัมพันธ์ของสังคมปัจจุบันได้
“ความจริงก็ไม่ค่อยได้สนใจในเรื่องของงานวิจัยประเภทนี้สักเท่าไหร่ แต่ก็คิดว่ามันก็มีข้อดีนะ คือมันก็มีประโยชน์ ให้ความรู้ในเชิงที่เป็นการเตือนหรือป้องกัน เช่น เรื่องของการคุมกำเนิด หรือการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร มันก็จะสามารถเตือนสติพ่อแม่ผู้ปกครองได้ว่า เราต้องใส่ใจกับเรื่องแบบนี้มากขึ้น ส่วนเรื่องของความน่าเชื่อถือก็คิดว่าถ้าเป็นแบบสำรวจของหน่วยงาน หรือองค์กรของรัฐ ก็น่าเชื่อถือกว่าผลการสำรวจของบริษัทขายยาส่งเสริมสมรรถภาพทางเพศ”
.........
ต้องยอมรับ การเอาเรื่องในมุ้งที่พูดกันแบบผิดๆ มาพูดให้ถูกต้อง เปิดเผยกลางออกมาสู่สังคมย่อมเป็นเรื่องดี ทั้งนี้ แง่มุมหนึ่ง การตลาดของผลสำรวจจึงส่งผลดีต่อสังคมในการทำให้มองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงไปยังอีกหลายปัญหาในสังคม
แต่อีกแง่มุม มองในฐานะของบริษัทยาที่เข้ามาขายสินค้า คงไม่ใช่เรื่องผิดที่จะเข้ามาทำการตลาด แม้จะเป็นการตลาดที่แทบจะแยกไม่ออกจากเนื้อหาที่สื่อสาร ดังนั้นในด้านของการนำเสนอและการรับสาร ในบทบาทของสื่อมวลชน และตัวผู้บริโภคเอง ก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ เพิ่มภูมิปัญญาเพื่อให้สามารถกะเทาะเปลือกของความหวือหวาและสีสันในเชิงโฆษณา และมองหาความรู้ทางเพศศึกษาเพื่อความสุขทางเพศทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างแท้จริง
>>>>>>>>>>>
………
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK