ปลัด ศธ.เผย ปรับแผนยุทธศาสตร์ให้สอดรับนโยบาย รมว.ศธ.ทั้งนโยบายรัฐแจกแท็บเล็ตให้ นร.ทุกชั้นปี การดูแลเด็กตั้งแต่อนุบาลจนถึงม.6 เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาตามที่ รธน.กำหนดพร้อมเตรียมทำแผนรับมือน้ำท่วมของ ร.ร.จ.ชายแดนใต้ และ ร.ร.ชายขอบ เสนอ รมว.ศธ.
น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) เปิดเผยถึงแผนงานและยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาฯ ว่า คงจะต้องมีการปรับปรุงในหลายๆ เรื่องเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 ตามที่ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ได้แถลงนโยบายไว้ เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา ทั้งเรื่องแผนการสนับสนุนคอมพิวเตอร์แบบพกพา หรือ แท็บเล็ต ที่เดิมกำหนดจัดสรรเพียงชั้น ประถมศึกษาปีที่ (ป.) 1 เท่านั้น ก็จะทำแผนระยะยาวฉบับใหม่นี้จะสนับสนุนแท็บเล็ตให้นักเรียนทุกระดับชั้น พร้อมขยายระบบอินเทอร์เน็ตไร้สาย หรือ Wi-Fi เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เด็กมีมุมมองที่กว้างขึ้นสนใจใฝ่หาความรู้ ครูรู้จักสร้างอุปกรณ์ใหม่ๆพัฒนาสื่อพัฒนาตนเองในเครื่องแท็บเล็ตก็ได้
นอกจากนี้ การสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานแต่เดิมที่สนับสนุนระดับ ป.1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 แต่ต่อไปจะเริ่มสนับสนุนตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ หรือ ม.6 รวมถึงแผนการขยายโอกาสและการพัฒนาการศึกษา แผนใหม่กำหนดว่า จะต้องกระจายโอกาสทางการศึกษาให้เสมอภาคและเป็นธรรม เพื่อให้ทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) อย่างไรก็ตาม สำหรับในเรื่องอื่นๆ นั้น เช่น การสนับสนุนด้านการวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านสาธารณสุข ด้านศิลปะวัฒนธรรม ยังคงให้ดำเนินไปตามกรอบเดิม เพราะฉะนั้น แผนที่ปรับปรุงใหม่นี้จะสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและนโยบายของ รมว.ศธ.ที่ให้ไว้
ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า เนื่องจากระหว่างวันที่ 13-17 ก.พ.นี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะลงตรวจพื้นที่โรงเรียนต่างๆ ที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม ดังนั้น รมว.ศึกษาธิการ จึงได้สั่งการให้มีการเตรียมการในแต่ละพื้นที่ที่นายกฯจะเดินทางไป ว่า ขณะนี้โรงเรียนที่ถูกน้ำท่วมนั้นได้รับการจัดสรรงบฯแล้วหรือยัง มีการสร้างหนี้ผูกพันแล้วหรือยัง อาคารสถานที่ซ่อมแซมแล้วหรือยัง หรือมีอะไรที่ยังติดขัดตกหล่นอยู่อีกบ้าง แต่จากการตรวจสอบข้อมูลทุกที่ที่นายกฯจะเดินทางไปนั้น ศธ.ได้ดำเนินการพร้อมหมดแล้ว ทั้งนี้ ในภาพรวมของการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมนั้น จำเป็นที่จะต้องคิดแผนการจัดการศึกษาของโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ และพื้นที่ชายขอบซึ่งติดกับประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ที่จะต้องมีแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วย เนื่องจากปัญหาน้ำท้วมกำลังจะกลายเป็นประเด็นสำคัญ และสถานศึกษาอาจจะต้องได้รับผลกระทบทุกปีอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงต้องเสนอแผนงานบริหารจัดการเตรียมความพร้อมแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดวิกฤต และฟื้นฟูพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตหลังน้ำลดด้วย
“เข้าใจว่า ปัญหานี้จะเกิดขึ้นซ้ำซากเสียแล้ว จึงให้เตรียมแผนใหญ่เอาไว้นำเสนอ รมว.ศธ.ซึ่งจากข้อมูลขณะนี้มีประมาณ 60 กว่าจังหวัดที่ถูกน้ำท่วม ดังนั้น โรงเรียน ศูนย์ กศน.และมหาวิทยาลัย จะต้องเตรียมแผน เช่น แผนรับมือระหว่างน้ำท่วม และหลังน้ำลดจะทำอย่างไร แผนการดูแลเด็ก” ปลัด ศธ.กล่าว