กพฐ.เห็นชอบนโยบายรับนักเรียนปี 55 คงหลักการเดิมกับรับนักเรียนปี 54 ย้ำคงหลัการเดิม
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ.ปีการศึกษา 2555 ตามที่ สพฐ.ได้นำเสนอโดยหลักการนโยบายการรับนักเรียนหลักๆ เหมือนปีการศึกษา 2554 ซึ่งจะมีนโยบาย 12 ข้อ ดังนี้ 1.ส่งเสริมให้เด็กได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ ด้วยกระบวนการรับนักเรียนที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นธรรม และเสมอภาค 2.สนับสนุนให้เด็กก่อนประถมศึกษาได้เข้ารับการศึกษาตามความเหมาะสม 3.ประกันโอกาสเด็กที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ ได้เข้ารับการศึกษาภาคบังคับครบทุกคน 4.ส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กพิการและด้อยโอกาสได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง และได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ 5.ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านต่างๆ ได้รับการศึกษาที่เหมาะสม และได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ 6.ส่งเสริมให้เด็กได้รับการศึกษาตามความถนัด ความสนใจและเต็มตามศักยภาพ 7.สนับสนุนให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) สร้างภาคีเครือข่ายการรับนักเรียนและประสานการรับนักเรียนระหว่างหน่วยงาน ที่มีบทบาทในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกสังกัด และสนับสนุนให้สถานศึกษาเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ ในการกำหนดแผนรับนักเรียนของรัฐ ให้คำนึงถึงผลกระทบต่อสถานศึกษาเอกชน หรือสถานศึกษาของหน่วยงานอื่นด้วย
8.ส่งเสริมให้คณะกรรมการ สพป.และ สพป.คณะกรรมการ สพม.และ สพม.ดำเนินการรับนักเรียนภายในจังหวัดร่วมกัน และดูแลการรับนักเรียนให้เป็นไป ด้วยความเรียบร้อย รวมทั้งกำหนดแนวทางให้เด็กที่อยู่ในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับได้เข้าเรียนการ ศึกษาภาคบังคับครบทุกคน 9.สนับสนุนให้ สพป.แจ้งเด็ก เยาวชน และผู้ปกครองที่นักเรียนจะเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา และ สพม.ที่นักเรียนจะเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับสถานที่เรียน 10.ส่งเสริมให้ สพป.และ สพม.ติดตามและดูแลให้จำนวนนักเรียนต่อห้องมีความเหมาะสมไม่เป็นอุปสรรคต่อ การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ 11.ส่งเสริมให้มีการประชาสัมพันธ์การรับนักเรียนอย่างหลากหลาย และ 12.สนับสนุนให้โรงเรียนมีการระดมทรัพยากรจากเด็กที่ได้เข้าเรียนแล้วแต่ไม่ให้รับเงินบริจาคโดยมีเงื่อนไขผูกพันกับการรับเข้าเรียน
นายชินภัทร กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการคัดเลือกนักเรียน โดยหลักการจะเหมือนเดิมแบ่งเป็น ในเขตพื้นที่บริการ ไม่เกิน ร้อยละ 50 และการรับนักเรียนทั่วไป ไม่เกินร้อยละ 50 ซึ่งในทุกช่วงชั้นจะยึดหลักเกณฑ์เดียวกัน โดยโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงหากมีผู้สมัครเกินกว่าที่โรงเรียนจะรับ ได้ให้มีการจัดสรรโอกาสอย่างเป็นธรรม ส่วนจะใช้วิธีการจับสลาก หรือสอบคัดเลือกให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการสถานศึกษา กำหนด ส่วนการรับนักเรียนทั่วไปที่ใช้วิธีการสอบคัดเลือก ชั้น ม.1 และ ม.4 ให้ใช้ผลการสอบของโรงเรียน ร้อยละ 80 และคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ร้อยละ 20
“ยกเว้นโรงเรียนที่เปิดรับนักเรียนเฉพาะ ม.ปลาย จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จ.นครศรีธรรมราช, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จ.พิษณุโลก, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จ.สกลนคร, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเปร็งวิสุทธาธิบดี จ.ฉะเชิงเทรา, โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จ.ลพบุรี, โรงเรียนน่านประชาอุทิศ จ.น่าน, โรงเรียนอุดรพัฒนาการ จ.อุดรธานี และโรงเรียนศรีธวัชวิทยาลัย เนื่องจากโรงเรียนกลุ่มมีการแข่งขันอย่างเข้มข้น จึงกำหนดให้ใช้คะแนน O-Net ในการคัดเลือกไม่เกินร้อยละ 20 และคะแนนสอบไม่เกินร้อยละ 80” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว