“วรวัจน์” กระตุ้น ร.ร.เริ่มปรับการสอนที่เอื้อต่อการมีงานทำ ภายในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 54 ชี้ การทำหลักสูตรที่ผ่านมา ทำแบบแยกส่วน ประถม-มัธยม ทั้งที่เสียเวลาเรียนนาน แต่ขาดผู้มีความเชี่ยวชาญ ด้าน “ชินภัทร” เผย เขตพื้นที่ฯส่งแผนการวิเคราะห์อาชีพเรียบร้อยแล้ว รอคัดกรองและวิเคราะห์ภาพรวม เพื่อเสนอ รมว.ศธ.
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ในการประชุมทางไกลกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา (สพป.) และ สำนักงานคณะกรรมการการมัธยมศึกษา (สพม.) 225 เขต เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ทำความเข้าใจกับ ผอ.สพท.ถึงหลักสูตรมัธยมศึกษาเชิงปฏิบัติการ ตามแนวคิดของตนนั้นสามารถทำได้ในระยะสั้น เพราะจากการวิเคราะห์โครงสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนในปัจจุบันนั้น เห็นว่า สามารถจัดการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการมีงานทำได้ ซึ่งโรงเรียนใดมีความพร้อมก็ขอให้เริ่มดำเนินการในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2554 โดยไม่ต้องรอให้มีการประกาศหลักสูตรมัธยมศึกษาเชิงปฏิบัติการอย่างเป็นทาง แต่แน่นอนว่า เมื่อใดที่การจัดทำหลักสูตรเรียบร้อย ศธ.จะประกาศให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้ทราบเพื่อเป็นทางเลือกให้นักเรียนได้เลือกเรียนหลักสูตรนี้
“ผมมอบให้มหาวิทยาลัยลงไปจัดทำหลักสูตร เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงของหลักสูตร ม.ต้น และ ม.ปลาย จนลงไปถึงระดับประถมศึกษา จะทำให้เกิดการจัดทำหลักสูตรที่เป็นเนื้อเดียวกัน แต่ที่ผ่านมา การจัดทำหลักสูตรนั้นทำแบบแยกส่วนกัน ทั้งประถม มัธยม คนจึงไม่มีโอกาสเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เรียน หรือสนใจทั้งที่เรียนมาเป็นเวลาหลายปี ดังนั้น จำเป็นต้องวางหลักสูตรตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงปริญญาตรี เพื่อการมีงานทำให้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน” นายวรวัจน์ กล่าว
ด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สั่งการให้ สพป. สพม.ทุกเขตไปทำการสำรวจความต้องการ หรือความถนัดทางอาชีพของแต่ละพื้นที่ และให้ทำแผนเสนอมานั้น ขณะนี้ทุกเขตพื้นที่ฯ ได้ทำการส่งแผนมายังสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สนผ.) สพฐ. เรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างการคัดกรองจำแนกตาม 5 กลุ่มอาชีพ คือ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยการ ความคิดสร้างสรรค์ และการอำนวยการและอาชีพเฉพาะทาง คาดว่า จะเสร็จสัปดาห์หน้าและต้องนำมาวิเคราะห์เพื่อทำแผนในภาพรวมก่อนเสนอ รมว.ศึกษาธิการ ต่อไป