ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เชียงใหม่เปิดตัวโครงการ “อู้คำเมืองเลื่องลืออักษร” สอนภาษาล้านนาให้นักเรียนประถม ม.ต้น และ ม.ปลาย เผย โครงการเชิญคณะกรรมการร่วมกันจัดทำหลักสูตรก่อนสำเร็จ พร้อมนำไปใช้สอนเด็กทั่ว 8 จ.ภาคเหนือตอนบน พร้อมเตรียมประเมินผลต่อยอดทำโครงการในภาคอื่นด้วย ตั้งเป้าเด็กเชียงใหม่รู้คำเมือง-อ่านเขียนตั๋วเมืองได้
วันนี้ (27 ก.ย.) ที่ห้องสันพระเนตรโรงแรมโลตัสปางสวนแก้ว จ.เชียงใหม่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 ได้จัดพิธีเปิดโครงการอู้คำเมืองเลื่องลืออักษร และอบรมครูผู้สอนภาษาล้านนาขึ้น โดยมี นางนฤมล ปาลวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธานในพิธี และมี ดร.เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมในพิธีดังกล่าว
ทั้งนี้ ในพิธีดังกล่าวได้มีการมอบเกียรติบัตรให้กับคณะกรรมการจัดทำหลักสูตรภาษาล้านนา รวมทั้งมีการบรรยายพิเศษจากนางนฤมล และ ดร.เจ้าดวงเดือน นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลาการจัดงานในระหว่างวันที่ 27-28 ก.ย.จะมีการบรรยายในหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับการเรียนการสอนและการใช้ภาษล้านนาจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญให้กับผู้เข้ารับการอบรมอีกด้วย
ทั้งนี้ โครงการอู้คำเมือเลื่องลืออักษร และอบรมครูผู้สอนภาษาล้านนา ดำเนินการขึ้นตามงบประมาณโครงการภายใต้แผนพัฒนาจังหวัด โครงการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ.2554 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2554 โดยมีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 เป็นผู้จัดทำหลักสูตรภาษาล้านนาใน 3 ระดับ ได้แก่ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
สำหรับ การจัดทำหลักสูตรภาษาล้านนาสำหรับสถานศึกษาของจังหวัดเชียงใหม่ได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว จึงได้มีการทำพิธีเปิดโครงการดังกล่าวขึ้น รวมทั้งเพื่อให้ผู้บริหารจากสถานศึกษาและครูผู้สอนภาษาล้านนาได้มีความรู้ความเข้าใจในหลักสูตรภาษาล้านนา โดยเฉพาะการเรียนการสอน “ตั๋วเมือง” ซึ่งจะมีการบรรจุเป็นหลักสูตรในสถานศึกษาต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป
นายรามลักษณ์ อนุสุริยา ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาที่ 34 หนึ่งในคณะกรรมการจัดทำหลักสูตรภาษาล้านนา กล่าวว่า โครงการนี้มีที่มาจากการที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดให้มีการนำสาระท้องถิ่นเข้ามาสอดแทรกอยู่ในการเรียนการสอนในทุกกลุ่มวิชา เพื่อเสริมสร้างและรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นให้คงอยู่ โดยสามารถจัดเป็นทั้งวิชาบังคับหรือวิชาเสริมให้กับนักเรียนได้ศึกษา ซึ่งในส่วนของ จ.เชียงใหม่ และจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนได้นำเอาภาษาล้านนาหรือคำเมือง และตัวอักษรล้านนาหรือตั๋วเมืองแทรกในกลุ่มวิชาภาษาไทย และนำเอาประเพณีวัฒนธรรมทางเหนือแทรกไว้ในกลุ่มวิชาสังคมศึกษา
ส่วนการดำเนินโครงการอู้คำเมืองเลื่องลืออักษรเป็นการจัดทำหลักสูตรภาษาล้านนาให้กับนักเรียนใน 3 ระดับชั้น โดยโครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการนำร่องที่จะมีการประเมินผลทั้งครูผู้สอนและนักเรียน ก่อนจะนำผลที่ได้ไปพัฒนา เพื่อจัดทำโครงการในลักษณะเดียวกันตามภาคต่างๆ ทั่วประเทศในอนาคต ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็จะดัดแปลงด้วยการนำเสนอสาระท้องถิ่นของแต่ละพื้นที่เข้าไว้ในหลักสูตรของตนเอง
นายรามลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของหลักสูตรที่ใช้นั้นได้ผ่านการประชุมหารือโดยคณะกรรมการ ก่อนจะจัดทำออกมาเป็นตำราเรียนซึ่งจะมีการแจกจ่ายและนำไปใช้ในการเรียนการสอนตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป โดยมีครูของแต่ละสถานศึกษาที่ผ่านการฝึกอบรมหรือมีความรู้ในการสอนภาษาล้านนาเป็นผู้รับผิดชอบในการเรียนการสอน หรือหากสถานศึกษาไม่มีผู้ที่ชำนาญก็จะอาศัยการดึงผู้เชี่ยวชาญหรือพ่อครูแม่ครูในท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการสอน ขณะที่เป้าหมายของโครงการคือต้องการให้นักเรียนในจังหวัดเชียงใหม่มีความรู้ความเข้าใจในภาษาล้านนาซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น รวมทั้งสามารถอ่านและเขียนตั๋วเมืองได้