xs
xsm
sm
md
lg

One Tablet PC Per Child แท็บเล็ตนี้เพื่อใคร!?! (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เด็กน้อยกับแท็บเล็ต ภาพที่เห็นจนชินตาในสังคมไทย
หัวข้อร้อนๆ ในแวดวงไอที คงจะหนีไม่พ้น โครงการ One Tablet PC Per Child หรือหนึ่งนักเรียนหนึ่งแท็บเล็ต หนึ่งในแคมเปญหาเสียงของพรรคเพื่อไทย จะมีวิธีการอย่างไรที่จะผันแนวคิดให้กลายเป็นจริงในทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างที่ป่าวประกาศไปทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่หาทางตั้งงบประมาณเพื่อซื้อของ แล้วกินตามน้ำบ้างทวนน้ำบ้าง ตามที่เคยชิน

แนวความคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นการนำโครงการเก่า One Computer Per Child ที่มีการริเริ่มเอาไว้เมื่อสมัยรัฐบาล 'ทักษิณ ชินวัตร' ก่อนที่จะถูกปฏิวัติยึดอำนาจ นำมาปัดฝุ่นใหม่ เปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีจากคอมพิวเตอร์ที่มีคีย์บอร์ด ราคาไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ มาเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด 'แท็บเล็ต' ส่วนองค์ประกอบอื่นที่เป็นจิกซอว์ปลีกย่อยนอกเหนือจากฮาร์ดแวร์ที่ระบุชัดเจนว่า เป็นแท็บเล็ต ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนออกมาจากคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย มีแต่เพียงโมเดลของการเชื่อมต่อที่จะใช้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไร้สาย 'ไว-ไฟ' เท่านั้น

***ทำไมต้องแท็บเล็ต

ทอม เครือโสภณ ผู้มากประสบการณ์ด้านไอทีและโทรคมนาคม วิเคราะห์ให้ฟังว่าโครงการนี้ เกิดจากโจทย์ของผู้ใหญ่ภายในพรรคเพื่อไทยที่ต้องการพัฒนาระบบการศึกษาของเด็กไทยทั่วประเทศให้ก้าวทันประเทศอื่นๆ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมประสิทธิภาพในการเรียนรู้ ซึ่งในแต่ละปีรัฐบาลจะต้องใช้จ่ายงบประมาณหมดไปกับการจัดพิมพ์หนังสือเรียนถึง 700-800 ล้านบาท

'ในเมื่อจะต้องเสียงบประมาณจัดพิมพ์หนังสือเรียนในแต่ละปีอยู่แล้ว ทำไมถึงไม่เอางบประมาณดังกล่าวเปลียนมาซื้อแท็บเล็ตแทนจะดีกว่าไหม เนื้อหาในหนังสือเรียนเปลี่ยนจากรูปเล่มหนังสือมาเป็นดิจิตอล ที่มีความคล่องตัวในการปรับปรุงเนื้อหาให้สอดคล้องกับยุคสมัยได้ตลอดเวลา แถมยังได้สื่อการเรียนการสอนที่กระตุ้นให้เด็กไทยสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ด้วย'

เหตุที่คำตอบสุดท้ายลงตัวที่แท็บเล็ต เป็นเพราะเด็กๆ ในระดับประถม โดยเฉพาะป.1 ไม่สะดวกในการใช้งานผ่านแป้นพิมพ์ แต่ถ้าเป็นการใช้งานผ่านระบบ 'ทัชสกรีน' ถือเป็นโซลูชันที่ลงตัวที่สุด ที่สำคัญแท็บเล็ตมีน้ำหนักเบากว่าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เบากว่าเน็ตบุ๊ก แถมสะดวกในการใช้งาน ที่สำคัญใช้งานง่าย นักเรียนทุกระดับชั้นสามารถใช้งานได้ และราคาไม่สูง เพราะวันนี้แท็บเล็ตจากประเทศจีน ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ที่วางขายในท้องตลาดมีราคาไม่เกิน 4,000 บาท

ทอม วิเคราะห์สเปกและราคาแท็บเล็ตในโครงการที่คิดว่าเหมาะสมให้ฟัง ว่าราคาแท็บเล็ตที่เป็นไปได้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 3,600 บาทใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องอินเตอร์แบรนด์ วิธีการสั่งซื้อน่าจะใช้เป็นการสั่งซื้อโดยตรงจากโรงงานที่รับจ้างผลิตแท็บแล็ตโดยตรงก็ได้ ส่วนระบบสื่อสารนั้น ควรจะใช้งานได้ทั้ง 3G และไว-ไฟ ไม่ใช่มีแต่ไว-ไฟแต่เพียงอย่างเดียว เนื่องจากในต่างจังหวัด จุดให้บริการไว-ไฟมีไม่มาก แถมยังมีรัศมีการใช้งานที่ไม่ไกลนัก ทำให้ไม่สะดวกในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต จึงจำเป็นที่จะต้องมี 3G เข้ามาเสริมในกรณีที่ต้องการใช้งานตอนอยู่นอกพื้นที่ให้บริการไว-ไฟ

***แท็บเล็ตไลเบอรี่ โซลูชันคั่นกลาง

ปัญหาที่มีการถกเถียงกันในวงกว้างอีกหัวข้อหนึ่งก็คือ 'ใคร' ที่จะเข้าข่ายได้รับแจกแท็บเล็ตบ้าง บางรายก็ว่าเฉพาะป.1 ทั้งประเทศที่มีประมาณ 800,000 คน บ้างก็ว่าน่าจะเป็นเด็กโตหน่อย ป.4 น่าจะมีความสามารถดูแลรักษาเครื่องได้ดีกว่า มีความรับผิดชอบมากกว่า บ้างก็ว่า ควรจะแจกให้ตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.4

รศ.พญ.นิตยา คชภักดี ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ สาขาพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก แห่งราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวในวงเสวนารามาธิบดีเพื่อสุขภาพเด็กไทย 'มองรอบด้านเด็กไทยกับไอที' ในหัวข้อนโยบายแจกแท็บเล็ตของรัฐบาล เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของเด็กอายุ 7-8 ขวบหรือไม่ว่า ไม่สนับสนุนให้รัฐบาลแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนระดับชั้น ป.1 หรือทั้งช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) เพราะพัฒนาการของเด็กยังไม่ถึง ทั้งทักษะการใช้ภาษาที่ยังไม่คล่อง และการพัฒนาของสมองที่ยังไม่เต็มที่ ซึ่งอาจทำให้เด็กไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร

เด็กในช่วงชั้นดังกล่าวต้องเรียนรู้จากการได้ปฏิบัติเป็นหลัก อาทิ การออกกำลังกาย และการได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม คิดว่าพัฒนาการของเด็กชั้น ป.4 น่าจะเป็นวัยที่เหมาะที่สุดในการได้รับแท็บเล็ต เพราะเป็นวัยที่กำลังเริ่มเรียนรู้ทักษะพื้นฐานได้บ้างแล้ว อาทิ อ่านเขียนคล่องแล้ว ซึ่งเด็กก็จะสนุกกับการเรียนรู้ร่วมกับเพื่อนอีกด้วย

'ไม่ใช่ว่าเด็กชั้น ป.1 จะมีพัฒนาการไม่ถึงจนใช้แท็บเล็ตไม่ได้ แต่เด็กในวัยนี้ควรจะให้จับและดูแท็บเล็ตนิดหน่อยก็พอ เพราะเด็กต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติเป็นหลักเพื่อการเจริญเติบโตทั้งสมองและร่างกายไปพร้อมๆ กัน จะได้ไม่มีปัญหาการเจริญเติบโตตามมา'

ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ ยังเสนออีกว่า อยากให้รัฐบาลใช้นโยบายยืมแทนแจกแท็บเล็ต และไม่จำเป็นที่จะต้องจัดซื้อให้นักเรียนครบทุกคน เพราะสามารถเรียนร่วมกันได้ เพื่อจะได้นำงบที่เหลือไปพัฒนาส่วนอื่นๆ
หรือการเข้ามาของกองทัพแท็บเล็ตในตลาดปัจจุบัน จะเพิ่ม ช่องว่างทางการศึกษา ในสังคมไทย
ขณะที่เอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิสก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่ามุมมองของอินเทล ในเมื่อเป็นแท็บเล็ตที่ให้สำหรับเด็กใช้งาน จะมีลักษณะที่เหมาะสมกับวัย บางวัยอาจจะมีความต้องการใช้งานมากกว่าแท็บเล็ต บางวัยอาจจะต้องมีคีย์บอร์ดเข้ามาปนอยู่ด้วย โดยแบ่งเป็นช่วงชั้น แท็บเล็ตอาจจะเหมาะกับเด็กเล็กใช้คีย์บอร์ดไม่คล่องกับการใช้ปากกาควบคุมจุดในการออกคำสั่ง แต่เมื่อไรที่เด็กโตขึ้นมาจำเป็นที่จะต้องสร้างคอนเทนต์ คีย์บอร์ดก็จะเข้ามามีบทบาท

ปัญหาถัดมาก็คือเรื่อง วิธีการ 'ควบคุม' การเข้าถึงเนื้อหาของเด็กอย่างไร ถึงจะทำให้แท็บเล็ตกลายเป็นเครื่องมือทางด้านการศึกษาอย่างแท้จริง ไม่ได้กลายเป็นเครื่องมือในการเล่นเกม เข้าใช้งานเว็บที่ไม่เหมาะสม บางคนมองไกลไปถึงว่า จะทำการอัปเดทเนื้อหาหรือหนังสือเรียนที่บรรจุอยู่ภายในแท็บเล็ตอย่างไร จะทำให้การสื่อสารระหว่างครูกับนักเรียนขาดตอนไปหรือไม่ จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากเดิมมากน้อยแค่ไหน เมื่อนักเรียนต้องการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่บ้าน ที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตหรือมีฐานะที่ไม่พร้อม

มาตรฐานการศึกษา เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาว่า การเข้ามาของแท็บเล็ตจะเพิ่ม 'ช่องว่างทางการศึกษา' เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ระหว่างคนมีกับคนไม่มีสตางค์ นักเรียนที่อยู่ในเมืองใหญ่สามารถได้รับการศึกษา 'อี-เลิร์นนิ่ง' ในขณะที่นักเรียนในชนบท ที่ไฟฟ้ายังไปไม่ถึง อินเทอร์เน็ตยังไม่มี ครูคนเดียวสอนทุกชั้นเหมือนกันหมด ถึงได้รับแจกแท็บเล็ต ก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่

ใกล้เคียงกับแนวคิดของทอม เครือโสภณที่ได้เสนอแนวทางการดำเนินโครงการแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาอย่างน่าสนใจว่า ในเบื้องต้นควรจะทำเป็นลักษณะ 'แท็บเล็ตไลเบอรี่' หรือห้องสมุดแท็บเล็ตแทนน่าจะเป็นทางออกที่ดีในตอนนี้ สามารถตอบโจทย์ข้อกังขาในเรื่อง ความพร้อมของวัยที่จะใช้แท็บเล็ตที่หลายคนกังวล ตอบโจทย์เรื่องความพร้อมของครู ตอบโจทย์ความพร้อมของตำราเรียนที่จะต้องทยอยเปลี่ยนจากหนังสือเล่มมาเป็นดิจิตอล ซึ่งจะต้องให้เวลากับการเตรียมความพร้อมที่จะปรับหนังสือเรียนให้อยู่ในรูปแบบของอีบุ๊ก ตอบโจทย์เรื่องงบประมาณที่หลายคนมองว่า จะเป็นโครงการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเหมือนกับโครงการคอมพ์เอื้ออาทรที่ถือว่า ประสบความล้มเหลวมาก่อนหน้านี้

ทอมยังได้ขยายแนวคิดดังกล่าวให้ฟังว่า หากโครงการแท็บเล็ตเพื่อการศึกษาปรับรูปแบบมาใช้โมเดลแท็บเล็ตไลเบอรี่ สิ่งหนึ่งที่จะได้ก็คือ โรงเรียนทั่วประเทศกว่า 36,000 โรงเรียนจะมีห้องสมุดดิจิตอลขึ้นมาทันที รูปแบบการยืมหนังสือก็จะเปลี่ยนจากการยืมตัวหนังสือมาเป็นแท็บเล็ตที่บรรจุหนังสือเรียนที่อยู่ในรูปของดิจิตอลหรืออีบุ๊กแทน ทำให้ทางโรงเรียนสามารถควบคุมเนื้อหาในลักษณะ 'พุช คอนเทนต์' โดยโรงเรียนใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ทางรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะให้ทุกโรงเรียนมีอินเทอร์เน็ตใช้เป็นเครื่องมือในการส่งผ่านเนื้อหาไปยังแท็บเล็ตที่มีอยู่ภายในห้องสมุดได้ในคราวเดียวกันและในเวลาเดียวกันก็ใช้ระบบที่ว่านี้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ไปด้วยในตัว สามารถติดตั้งหรือลบแอปพลิเคชันในแท็บเล็ตที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาทิ้งไปได้

'แนวทางนี้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีในเวลานี้ สามารถนำมาดำเนินการในเวลานี้ไม่นาน สามารถทันปีการศึกษาหน้าได้อย่างแน่นอน'

เวลานี้ ดูเหมือนว่า โครงการ One Tablet PC Per Child มีความชัดเจนขึ้นว่าจะปรับเป็นแค่โครงการนำร่อง ซึ่งปรากฎในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' ที่ระบุว่า จะเริ่มทดลองดำเนินการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้แก่โรงเรียนนำร่องสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษาหน้าก่อน

รายละเอียดเชิงปฏิบัติและวิธีการต่างๆ กำลังเป็นที่เฝ้ามองของคนในแวดวงว่าโครงการแจกแท็บเล็ตนี้ รัฐบาลทำเพื่อใครกันแน่ ในเมื่อยังมีโซลูชั่นทางออกอย่าง 'แท็บเล็ต ไลเบอรี่' ที่ดูเหมือนสมเหตุสมผล และทำได้จริงมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น