เคยเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันสนั่นเมืองมาแล้ว กับนโยบายขายฝันของพรรคเพื่อไทยเพื่อเอาใจใส่ระบบการศึกษาของเด็กไทย ด้วยการกระหน่ำแจกแท็บเล็ตให้แก่เด็ก 7 ขวบ เพื่อหวังใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน พัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ในอนาคตทั่วทั้งประเทศ
วันนี้นโยบายแจกแท็บเล็ต มีความชัดเจนจ่อให้ได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้น จากการเปิดเผยของแหล่งข่าวพรรคเพื่อไทย จะใช้วิธีเปิดประมูลจัดหา ราคากลาง 4,000-5,000 บาทต่อเครื่อง ตั้งสำนักงานบริหารโครงการถาวรในกระทรวงศึกษาฯ บรรจุเป็นงบประมาณประจำปี จัดซื้อแจกเด็ก ป.1 ทุกปีไม่มีกำหนด ประเดิมแจก 800,000 เครื่อง ช่วงเปิดเทอมเดือนพฤษภาคม ปี 2555
จึงเป็นที่น่าสนใจว่า นักเรียน 800,000 คนที่จะได้รับแจกแท็บเล็ต มีความพร้อมเพียงพอหรือไม่ที่จะใช้อุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้ในการเป็นสื่อการเรียนการสอน และด้วยราคาประมาณเครื่องละ 6,000 บาทนี้ จะสามารถสร้างประสิทธิภาพในการใช้ได้ดีแค่ไหน รวมไปถึงขณะนี้สังคมไทยมีความพร้อมหรือยังที่จะใช้เทคโนโลยีแท็บเล็ต
พัฒนาการของวัย
“ช่วงของวัยประถมฯ ต้น คือวัยแห่งการเรียนรู้ที่ดี ควรเอาตัวเด็กเป็นศูนย์กลาง แล้วเรื่องการเรียนควรที่จะมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาในด้านความสามารถในตัวเด็ก เช่น ฝึกให้เด็กอ่านหนังสือ วาดรูป คิดคำนวณ ใช้ภาษา ทำกิจกรรมอะไรแบบนี้ หากใช้แท็บแล็ตตรงนี้ เด็กก็จะไม่ได้ฝึกเรื่องการเขียน ในการคิดคำนวณ ความสามารถและศักยภาพของเด็กตรงนี้ก็อาจจะหายไปได้ สิ่งที่ห่วงคือเรื่องผลกระทบ มันจะกระทบเรื่องพัฒนาการที่มันเหมาะสมตามวัย ที่เด็กเองจะต้องมีการฝึกในเรื่องของกล้ามเนื้อเวลาที่เด็กเขียน ในการจับดินสอ เพื่อที่จะใช้ในการฝึกฝน มันก็แตกต่างกับการที่เด็กจะใช้นิ้วกดปุ่ม ซึ่งการใช้มือในการขีดเขียนมันย่อมจะดีกว่า”
พญ.วรรณพักตร์ วิวัฒนวงศา จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น โรงพยาบาลเวชธานี ให้ความคิดเห็น พร้อมกับกล่าวว่า เด็กช่วงนี้เป็นวัยที่ต้องเรียนรู้จากการทำกิจกรรม และการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมหากขาดตรงนี้ไปก็จะทำให้ขาดทักษะทางด้านนี้
“จริงๆ เด็กในช่วงวัยป.1 เด็กต้องฝึกในเรื่องของการเรียนรู้ การทำกิจกรรม แล้วก็ในเรื่องของสังคม เป็นวัยที่จะต้องค่อยๆ ฝึกในเรื่องของการปฏิสัมพันธ์กัน การเรียนรู้ที่จะแบ่งปัน การสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น การที่เด็กมานั่งทำงานกลุ่ม เรียนรู้ร่วมกัน เด็กได้พูดคุยกับคนอื่นดีกว่าให้เด็กใช้ในเรื่องเครื่องมือการสื่อสารเรียนรู้เรื่องการติดต่อผ่านโซเชียล เน็ตเวิร์ก เด็กก็จะขาดทักษะตรงนี้”
อย่างไรก็ตาม พญ.วรรณพักตร์ กล่าวต่ออีกว่า การใช้แท็บเล็ตในการค้นคว้าหาข้อมูล ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านภาวะจิตใจของเด็ก เพราะจะทำให้เด็กเป็นคนที่ขาดความอดทน ต่อการรอคอย แต่ถ้าการสืบค้นหาข้อมูลจากห้องสมุดเพื่อเรียนรู้ที่จะปูพื้นฐานความสามารถของเด็ก ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการในเรื่องอารมณ์จิตใจ และความอดทนต่อการรอคอยได้มากกว่าการใช้ระบบทางอินเทอร์เน็ต เพราะจะทำให้เด็กติดกับการที่ทำอะไรต้องรีบเร่ง และรีบร้อนไปทุกอย่าง
ศักยภาพครูและเด็ก
หากจะใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ได้ ผู้ใช้ต้องมีประสิทธิภาพเพียงพอในการใช้ มีความรู้ความเข้าใจ และความสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีทั้งระบบ โรงเรียนจึงต้องอาศัยครูผู้สอนเป็นผู้ให้ความรู้ ขจรพงศ์ ชูปัญญานนท์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ให้ความเห็นว่า การจะใช้แท็บเล็ตให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ ต้องสอนให้ครูใช้แท็บเล็ตเป็นเสียก่อน ไม่อย่างนั้นก็ไปสอนเด็กไม่ได้
“ปัญหาก็คือเรื่องของการเทรนอาจารย์ผู้สอนให้ใช้แท็บเล็ตให้เป็นก่อน ไม่อย่างนั้นก็ไปสอนเด็กไม่ได้ หลักสูตรการเรียนการสอนที่เป็นส่วนกลางก็ต้องได้รับการพัฒนาไปตามวิธีเรียน มันต้องมีทีมที่เป็นคนทำหลักสูตรและคนเขียนโปรแกรมมาร่วมมือกัน ทำแล้วก็ต้องมีการทดลองว่าใช้ได้ผลไหม ไม่ใช่อินเตอร์แอ็กทีฟอย่างเดียว ดูสนุกน่าเล่น แต่ไม่ตอบสนองด้านการเรียนรู้”
ถ้าครูขาดความเข้าใจในด้านเทคโนโลยีแล้ว แท็บเล็ตที่มีประโยชน์แต่ขาดการจัดการที่ดี คงตามมาด้วยโทษแก่ผู้ใช้รุ่นเยาว์ได้อย่างแน่นอน ปริวรรต องค์ศุลี หัวหน้าภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ให้ความคิดเห็นว่า ด้วยวุฒิภาวะเด็กไม่มีความรู้ดีว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควร จึงเป็นสิ่งที่ยากจะใช้แท็บเล็ตเพื่อการอ่านหนังสือ
“ถ้าเขาไม่ได้ใช้งานแอปฯ พวกนั้น ไม่ได้นำมาเพื่อเกิดการเรียนรู้ ในทางกลับกันไปโหลดเกมมาเล่น เอาไปแชต แล้วเด็ก ป.1จะมีวุฒิภาวะพอไหมที่จะรู้ว่าคนที่อยู่ในจอจะดีหรือไม่ดี ในขณะที่แท็บเล็ตมีทั้งเฟซบุ๊ก, ทวิสเตอร์, ยูทูบ คลิปโป๊ และอีกมากมาย แล้วเด็กจะมีวุฒิภาวะพอหรือเปล่าที่จะมาอ่านหนังสือ ขณะที่ผู้ใหญ่จะอ่านหนังสือในนั้นยังยากเลย เพราะเดี๋ยวทวิตเตอร์ก็มา อีเมลก็เข้ามาอีก”
เมื่อเด็กต้องเจอกับสภาพความไม่พร้อมในการใช้งาน แล้วยังคงต้องเจอกับสภาพปัญหาที่มากับเทคโนโลยีตัวนี้อีกด้วย เช่น อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในการพกพาแท็บเล็ตไปโรงเรียน
สังคมไทยกับเทคโนโลยี
แม้งานนี้ด้าน ทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าฯ กทม.ก็ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชน ถึงการปรับนโยบายด้านการศึกษาของพรรคเพื่อไทยที่กำลังจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งมีแผนปรับเปลี่ยนโครงการเรียนฟรี 15 ปี แต่จะไม่ให้เงินอุดหนุนรายหัวครบทุกคน อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลใหม่จะให้ กทม.ปรับลดนโยบายเรียนฟรี 15 ปี เช่นเดียวกับโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กทม.ขอยืนยันว่า จะเดินหน้านโยบายเรียนฟรี15 ปีต่อไป ส่วนนโยบายการแจกแท็บเล็ตให้แก่นักเรียนระดับประถมศึกษา กทม.คงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด หากรัฐบาลจะจัดสรรแท็บเล็ตมาให้โรงเรียนในสังกัด กทม. เหมือนๆ กับเด็กนักเรียนทั่วประเทศ
แม้วันนี้หน่วยงานต่างๆ บางส่วนจะเปิดทางให้กับนโยบายแท็บเล็ตแล้วก็ตาม แต่เชื่อหรือไม่ว่าวันนี้ผู้ใหญ่บางคนยังไม่รู้จักแท็บเล็ตตัวนี้ด้วยซ้ำ ซึ่งหากมองจากสภาพสังคมของประเทศไทยแล้ว ฐานะของคนในสังคมมีความแตกต่างกันหลายระดับ เมื่อความแตกต่างยังมีมากในสังคม การจะใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มการเรียนรู้คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ขนาดผู้ปกครองยังไม่รู้เรื่องแล้วเด็กจะรู้เรื่องพวกนี้ได้อย่างไร ซึ่งแท็บเล็ตก็ยังถือเป็นเทคโนโลยีใหม่สำหรับคนบางกลุ่มของไทยหากจะนำมาใช้ก็ต้องมีการดูแลรักษา
“เทคโนโลยีมันต้องดูแลรักษาอย่างเอาไปซิงก์ เอาไปชาร์จแบตฯ อะไรจิปาถะอีกมากมายในการดูแลรักษา เด็ก ป.1 ยังเด็กเกินไป ต้องมีผู้ปกครองช่วยดูแล และต้องยอมรับว่าผู้ปกครองมีหลายระดับ บางคนทำงานไม่มีเวลาดูลูก บางคนอาจไม่มีความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ แท็บเล็ตมันเป็นเทคโนโลยีอย่างหนึ่งที่ไม่มีการเปรียบเทียบมาก่อน แท็บเล็ต คือการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในรูปแบบใหม่ ใช้นิ้วสัมผัสอย่างเดียว การที่จะเข้าถึงข้อมูลก็มีทางเดียวต้องออนไลน์เข้าไป ถ้าจะบอกให้ก๊อบปี้อีบุ๊กตำราเรียนเข้าไป เด็กที่ไหนจะทำได้ แล้วเรื่องการใช้งานอินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อแบบไวไฟ ซึ่งมันไม่ได้มีทุกบ้าน ไม่ได้มีทุกที่ สุดท้ายแล้วเด็กหรือพ่อแม่ก็เอาไปขาย ได้มาฟรี ขายสัก 500-1,000 บาท เอาเงินไปซื้อขนมดีกว่า”
นี่คือภาพสะท้อนความเป็นจริงของสภาพสังคมไทยกับเทคโนโลยีที่ ปริวรรต ได้แสดงทัศนะ
เช่นเดียวกับความคิดเห็นของ ขจรพงศ์ ที่มองว่า ไม่ทราบว่าคนไทยจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับ แท็บเล็ตที่มีอีบุ๊กว่าอย่างไร ซึ่งอีบุ๊กแท้จริงแล้วจะมีอยู่สองลักษณะ คือมีแบบที่เป็นอีบุ๊กและเป็นดิจิตอลแมกกาซีนที่มีอีคอนเทนต์และมัลติมีเดียร่วมด้วย สำหรับอีบุ๊กโดยทั่วไปแล้วจะเป็นการทำไฟล์เป็นฟอร์แมตต่างๆ เช่น พีดีเอฟ ใส่ลงไปในเครื่องจากนั้นก็แสดงผลผ่านโปรแกรมออกมาเป็นตัวรูปเล่ม เนื้อหาสาระก็จะเหมือนกับหนังสือเล่มเลย ข้อดีของมันก็คือเด็กไม่ต้องพกหนังสือให้หนัก ดังนั้นถ้าเอาอีบุ๊กที่เหมือนกับหนังสือมาใส่ไว้ในแท็บเล็ต มันก็ไม่ได้ตอบโจทย์อะไร
“เอาอีบุ๊กที่เหมือนๆกับหนังสือมาใส่ไว้ในแท็บเล็ต มันก็ไม่ได้ตอบโจทย์อะไร เพราะเป็นเพียงแค่ทำให้เด็กสบายมากขึ้น ไม่มีอะไรก้าวหน้า หากต้องการจะพัฒนาก็ควรมีการใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์สูงสุด”
อย่างไรก็ตาม การให้เครื่องแท็บเล็ต ควรใช้เครื่องที่มีคุณภาพ เพราะหากเครื่องที่ใช้แจกราคาถูก ก็ย่อมบ่งบอกถึงศักยภาพการใช้งานที่ต่ำลงด้วย
“เครื่องแท็บเล็ตที่เอามาใช้กัน ทุกวันนี้คนใช้แท็บเล็ตก็เพื่อความสะดวกสบายที่เขานิยมไอแพดกันมากที่สุดก็เพราะมันอ่านสบายตาที่สุด ดังนั้นแท็บเล็ต ราคา 6,000 บาทนั้น คุณภาพย่อมลดลงไปตามราคาอยู่แล้วศักยภาพเครื่องย่อมไม่ดีเท่าของแพงแน่ๆ แต่มันสำคัญที่ขนาดและคุณภาพของจอ ว่าถ้าเด็กอ่านแล้วจะต้องเพ่งจนทำให้เสียสายตาหรือไม่”
ดังนั้นการจะแจกแท็บเล็ตแล้วให้ได้ประสิทธิภาพต่อเด็กอย่างแท้จริง ควรมีการปลูกฝังหรือการปูพื้นฐานเรื่องการใช้ แท็บเล็ต เสียก่อน ตั้งแต่ครูผู้สอน รวมไปถึงระบบต่างๆ ของตัวแท็บเล็ตด้วย เพราะหากเป็นเพียงเครื่องที่ไม่ได้มาตรฐานแล้วการเรียนรู้ที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
‘การศึกษานำร่อง’ ลดความเสี่ยง
จากความไม่พร้อมทางด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านวุฒิภาวะของเด็ก ศักยภาพความพร้อมของครู ทำให้นโยบายดังกล่าวหากจะทำไปก็มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญงบประมาณ และไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงต่อเด็กและประเทศชาติ ดังนั้นก่อนที่จะนำแท็บเล็ตมาใช้ ควรให้มีการศึกษานำร่อง เพื่อดูว่าจะมีผลกระทบทางด้านไหนบ้าง
รศ.ดร.สมพงศ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความคิดเห็นในภาพรวมว่า หากมองสังคมไทย และบริบททางการศึกษาของไทยในตอนนี้มีความพร้อมที่จะรองรับในเรื่องการใช้แท็บเล็ต เพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เนื่องจากว่าคนไทยนั้นมีการใช้หนังสือเป็นหลักมาโดยตลอด และใช้อินเทอร์เน็ตน้อย การจะเปลี่ยนในทันทีคงไม่มีความพร้อม
“ปัญหาบ้านเราหลักสูตรคือ หนังสือแบบเรียนที่เราใช้กันมานาน ปัจจุบันเราใช้สื่อพวกคอมพ์ หรืออินเทอร์เน็ตแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งครูก็มีวัฒนธรรมการสอนแบบตำราเรียนเป็นหลัก ฉะนั้นความพร้อมในการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในปีแรก แม้จะเป็นนโยบายที่สัญญากับประชาชน ถ้าจำเป็นจะต้องแจกต้องมีการเตรียมการไม่ต่ำกว่า 6 เดือนถึง 1 ปี ถ้าแจกเลยอาจจะสูญเปล่าแน่นอน”
ดังนั้นควรจะมีการตั้งทีมงานเกี่ยวกับนโยบายนี้ขึ้นมา แล้วไปศึกษาในประเทศที่เขาทำมาเพื่อไปดูว่ามีการเตรียมการ ดำเนินการป้องกันปัญหาเรื่องนี้อย่างไรบ้าง พร้อมกันนั้นก็ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ว่า นโยบายนี้ทำได้จริงหรือเปล่า จะเตรียมการบริหารอย่างไร ทั้งความพร้อมของอินเทอร์เน็ต และตัวซอฟต์แวร์ที่จะรองรับด้วย โดยขณะนี้สิ่งที่ประเทศไทยควรทำก่อนที่จะทำทั้งประเทศคือ ‘การนำร่อง’ เพื่อดูผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเสียก่อน
“ควรมีการนำร่องในโรงเรียน 3 กลุ่ม โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกล โรงเรียนขนาดกลาง และก็โรงเรียนขนาดใหญ่ ทั่วทั้งประเทศสัก 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อดูผลกระทบที่มันจะเกิด ผมคิดว่าถ้าแจกเลย มันมีความเสี่ยง ซึ่งความเสี่ยงที่มองว่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากเราใช้งบประมาณเยอะ และสิ่งที่เด็กได้ไปอาจจะไม่ได้ไปใช้ในด้านการศึกษา แต่อาจจะนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น จะทำให้งบประมาณสูญเปล่าและการใช้ของเด็กจะผิดประเภทไหม
“ถ้ารัฐบาลจะทำจริงๆ ก็ควรนำร่องแบบละเอียดถี่ถ้วน อย่างเข้มข้นเพื่อให้เกิดประโยชน์ที่สุด แล้วก็ดูผลที่จะเกิดขึ้นว่าครูใช้เป็นไหม ระบบหลักสูตรมันสอดคล้องกับตัวแท็บเล็ตรึเปล่า กระบวนการสอน การแสวงหา ข้อมูลการวิเคราะห์ การเรียนรู้ด้วยตนเอง กฎที่เราตั้งไว้มันตรงกับจุดประสงค์หรือเปล่า ถ้าคุณจะลดความเสี่ยงเพื่อให้เกิดความรอบคอบขึ้น จึงอาจต้องเลื่อนไปอีกนิดหนึ่ง คือควรใช้เวลานำร่องสักปีหนึ่งสำหรับการศึกษาข้อมูล”
ตัวอย่างในต่างประเทศที่เห็น ประเทศเกาหลีใต้ ไต้หวัน และยุโรปบางประเทศ รศ.ดร.สมพงศ์ ก็เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า มีการใช้แท็บเล็ตในโรงเรียนตัวอย่าง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อม ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ให้สอดคล้องกับระบบหลักสูตร และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในเรื่องเทคโนโลยี
“เขาเต็มที่กับรัฐบาล ฉะนั้นระบบการศึกษาจึงเป็นลักษณะทำไปด้วยกัน ฉะนั้นเขาจึงมีความพร้อมอยู่แล้ว มีการวางแผนอย่างต่อเนื่อง แต่ประเทศไทยไม่มีแบบแผน หรือวิธีการปูพื้นมาก่อนเลย เหมือนเป็นการลัดขั้นตอน ฉะนั้นถ้าเร่งรัดทำมากเกินไป ความเสี่ยงที่จะเกิด คือความสูญเปล่าและผลเสียจะเกิดขึ้นเยอะ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย ถึงตอนนี้ผมก็ยังไม่สนับสนุนการแจกแท็บเล็ตเลย มันคงต้องใช้ระยะเวลามาเกี่ยวข้อง”
ถึงอย่างไรการแจกแท็บเล็ตมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เราควรดูสังคมบริบทของเด็กไทย ผลกระทบรอบตัวของเด็ก ซึ่งเต็มไปด้วยสื่อที่เชื่อมโยงกับแท็บเล็ต เช่นร้านเกม อินเทอร์เน็ต ฯลฯซึ่งประเทศไทยยังปล่อยปละละเลย และต้องปรับเปลี่ยนเรื่องลักษณะนิสัย ดังนั้นการใช้แท็บเล็ตตามลำพังจึงคงไม่ดีเท่าไหร่
..........
อย่างไรก็ตาม การแจกแท็บเล็ตไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดีสำหรับคนไทย ถือว่าเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่เด็กไทยจะได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยกันอย่างทั่วหน้า แต่ที่ยังกังวลอยู่ที่ว่า ความพร้อมด้านระบบภายในต่างๆ ของประเทศ และความพร้อมของตัวเด็กเอง หรือจะเป็นครูผู้สอนตอนนี้ มีพร้อมแท้จริงหรือยัง ซึ่งถ้าขาดความพร้อมในด้านการวางแผนให้ดีก่อน นโยบายนี้ก็คงไม่ต่างกับเรียนฟรี 15 ปี ท้ายสุดแล้วก็นำงบประมาณของชาติไปใช้แล้วไร้ประโยชน์…
>>>>>>>>>>
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์