xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายค้านดักคอแก้ รธน.ต้องไม่แตะหมวด 2 เลิกองค์กรอิสระ ล้างผิดให้คนคนเดียว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) จะยื่นกระทู้ถามสด การแปรรูป ปตท.และถามถึงความล่าช้าในการเยียวยาและการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และแสดงความห่วงใยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีหลักประกันที่จะไม่มีการแก้ไขในหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ และการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลพิเศษ ในประเด็น ของ สสร.ที่จะจัดตั้งขึ้นคงจะแตกต่างจาก ปี 2540 เพราะไม่มีการกำหนดห้ามสมาชิกพรรคการเมืองเป็น สสร. ที่ชั้น 3 อาคารรัฐสภา
วิปฝ่ายค้านดักคอรัฐบาลแก้ รธน.ต้องประกาศไม่แตะหมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือยกเลิกองค์กรอิสระ และมีผลล้างผิดเพื่อประโยชน์แก่คนคนเดียว ห่วงตั้ง ส.ส.ร.ยกร่าง รธน.แค่เอาประชาธิปไตยบังหน้า ไม่มีหลักประกันว่า ส.ส.ร.99 คนทั้งเลือกตั้งและลากตั้งไม่เป็นร่างทรงรัฐบาล เหตุไม่ได้กำหนดคุณสมบัติ ส.ส.ร.ต้องไม่สังกัดพรรคการเมือง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ในการประชุมรัฐสภาก็จะตั้งกระทู้ถามสดที่ค้างอยู่ที่นายกรัฐมนตรียังไม่ได้มาตอบในกระทู้เรื่องการแปรรูปการปิโตเลียมแห่งประเทศไทย หรือการขายหุ้นของ ปตท.จากรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน ซึ่งทางวิปฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย และกระทู้ที่ 2 กระทู้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ยังดำเนินการล่าช้า ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ประสบอุทกภัยที่ผ่านมา รวมทั้งในเรื่องความไม่ชัดเจนในเรื่องแผนปฏิบัติการที่ลงลึกถึงแผนการปฎิบัติงานที่จะทำให้ไม่เกิดความมั่นใจ ว่าการแก้ไขน้ำท่วมในปีนี้จะได้รับการคลี่คลาย หรือแม้แต่กรณีน้ำท่วมขังหรือน้ำท่วมทุ่งที่ยังภาระกับประชาชนอยู่ในขณะนี้ ข้อมูลของรัฐบาลและข้อมูลจากระบบดาวเทียมก็ไม่ตรงกัน ซึ่งทางรัฐบาลอ้างว่าเหลือปัญหาอยู่เพียงแค่จังหวัดเดียว แต่ดาวเทียมได้ระบุชัดว่ายังเหลืออีกถึง 7-8 จังหวัด

นายจุรินทร์กล่าวถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ทางฝ่ายค้านได้เตือนรัฐบาลมาโดยตลอดว่า จะเป็นประเด็นที่นำสังคมไปสู่ความขัดแย้ง และแตกแยก ซึ่งอาจจะนำประเทศไปสู่วิกฤตโดยไม่จำเป็น แต่ในที่สุดก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลที่มีเสียงข้างมาก ยังมีความพยายามที่จะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญต่อไป เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมาในอนาคต

นอกจากนี้ สิ่งที่วิปฝ่ายค้านได้เรียกร้องมาตลอดก็คือ รัฐบาลจะต้องชี้แจงเหตุผลให้สังคมได้รับทราบอย่างชัดเจนว่าการแก้รัฐธรรมนูญนั้นควรแก้ด้วยเหตุผลอะไร แต่จนถึงวันนี้นอกจากรัฐบาลจะอ้างเหตุผลว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันมาจากการรัฐประหารแล้ว แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติจากประชาชนทั้งประเทศมาแล้ว ก็ยังไม่มีเหตุผลอื่นที่จะอธิบายกับสังคม นอกจากเหตุผลดังกล่าวที่ถูกอ้างมา และประเด็นใดในรัฐธรรมนูญในฉบับปัจจุบันที่เป็นปัญหากับส่วนรวม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำคัญว่าการแก้ไขปัญหาประชาชนอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาน้ำท่วม ข้าวของแพง พืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ที่กำลังรุมเร้าประเทศอยู่ในขณะนี้ รัฐบาลไม่มีคำตอบในเรื่องนี้อย่างชัดเจน เพราะการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาลสุดท้ายแล้วไม่รู้ว่าจะแก้เพื่อใคร และเพื่ออะไร ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล

นายจุรินทร์กล่าวว่า จากประเด็นข่าวที่วิปรัฐบาลแถลง วิปฝ่ายค้านก็มีข้อห่วงใย 3 ประการ คือ 1. วิปฝ่ายค้านเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการตั้ง ส.ส.ร.รอบนี้แตกต่างจากการตั้ง ส.ส.ร.เมื่อการร่างรัฐธรรมนูญในปี 2540 ที่ว่าต่างกันเพราะว่า การตั้ง ส.ส.ร.ปี 40 ไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องอื่นใด นอกจากมีความเห็นตรงกันว่าจะยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เพื่อการปฎิรูปการเมือง แต่ว่าการตั้ง ส.ส.ร.ในปีนี้ สังคมเคลือบแคลงสงสัยว่ามีเป้าหมายที่ซ่อนเร้นที่อาจจะนำไปสู่การล้างความผิดให้แก่คนคนเดียว โดยการอ้างประชาธิปไตยบังหน้า

2. ที่มาของ ส.ส.ร.นั้นไม่มีหลักประกันใดๆ ว่า ส.ส.ร.99 คนที่จะได้มานั้นจะไม่เป็นร่างทรงของรัฐบาล ที่กล่าวเช่นนี้เพราะดูเหมือนว่ารัฐบาลจะมั่นใจว่า ส.ส.ร.77 คนที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง สุดท้ายแล้วรัฐบาลก็สามารถที่จะดำเนินการให้ได้คนของพรรครัฐบาลเข้ามาเป็น ส.ส.ร.ได้ ซึ่งดูได้จากการที่ไม่กำหนดคุณสมบัติห้ามสมาชิกพรรคการเมืองเข้ามาเป็น ส.ส.ร.นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการ 22 คนที่ระบุให้รัฐสภาเป็นผู้เลือก ซึ่งแน่นอนว่าองค์ประกอบของรัฐสภา รัฐบาลเป็นผู้มีเสียงข้างมากในสภาฯ ซึ่งรัฐบาลสามารถชี้เป็นชี้ตายได้ว่าใครจะเข้ามาเป็นสมาชิก ส.ส.ร.ในนามนักวิชาการ

3. ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าเมื่อตั้ง ส.ส.ร.ไปร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วจะออกมาในรูปแบบที่สังคมกังวลหรือไม่ เช่น (1. ไม่มีหลักประกันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่แตะหมวด 2 ที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ (2. จะไม่ยกเลิกองค์กรอิสระ (3. ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าการแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้จะไม่เป็นการล้างผิดให้กับคนพิเศษที่เป็นเป้าหมายซ่อนเร้นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นมาตรา 309 ว่าด้วย “บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้”

หรือมาตรา 102 ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส.ไม่ว่าจะเป็น (5) เป็นเรื่องของบุคคลที่มีลักษณะเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. คือเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไปและได้รับการพ้นโทษมาไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือ (7) เคยต้องห้ามพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นจะผิดปกติ ซึ่งหากเป็น ส.ส.ไม่ได้ก็เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้

นายจุรินทร์กล่าวว่า ตนไม่อยากให้สังคมหลงประเด็นที่รัฐบาลอ้างว่าจะไม่แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นการอ้างคนละเรื่องกัน และอีกสองเรื่องที่รัฐบาลบอกว่าจะไม่แก้ไข ก็คือ เรื่องของการปกครองประเทศไทยที่เป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขที่ประเทศไทยต้องเป็นรัฐเดียงแบ่งแยกไม่ได้ ซึ่งการที่ประกาศว่าจะไม่แก้ไขสองประเด็นนี้ ถือเป็นภาคบังคับที่เขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้วว่าแก้ไขไม่ได้ เพราะฉะนั้น การกล่างอ้างเช่นนี้ถือว่าไม่เพียงพอ รัฐบาลจะต้องมีหลักประกันให้ประชาชน จึงจะทำให้สังคมคลายความกังวลได้ รัฐบาลจะต้องการประกาศว่าหากรัฐบาลมีการแตะต้อง หมวด 2 หรือยกเลิกองค์กรอิสระ หรือมีผลเป็นการล้างผิดเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่คนคนเดียว รัฐบาลจะต้องไม่ยกมือรับรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น