xs
xsm
sm
md
lg

กกจ.ขอขยายเวลาให้แรงงานต่างชาติ อยู่ไทยต่อถึง มิ.ย.55

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
กกจ.ชง ครม.ขอขยายเวลาแรงงานต่างด้าวกว่า 1 ล้านคน อยู่ในไทยต่อจนถึง 14 มิ.ย.55 เร่งพิสูจน์สัญชาติให้เสร็จ เปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติพม่าอีก 5 แห่ง ชี้ อนาคตแรงงานต่างด้าวต้องผ่านเอ็มโอยูทั้งหมด

วันนี้ (9 ก.พ.) นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมชี้แจงแนวทางเปิดพิสูจน์สัญชาติต่อผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศที่กระทรวงแรงงาน ว่า ในสัปดาห์หน้าทาง กกจ.เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอขยายเวลาให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ทั้ง พม่า ลาว และ กัมพูชา ที่มาขึ้นทะเบียนทั้งหมดกว่า 1 ล้านคน สามารถอยู่ในประเทศไทยต่อไปจนถึงวันที่ 14 มิถุนายน นี้ เพื่อดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จ

ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวกว่า 1 ล้านคน แยกออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนไว้ก่อนปี 2554 ซึ่งยังเหลือจะต้องพิสูจน์สัญชาติอีกกว่า 1 แสนคน จากทั้งหมดกว่า 9 แสนคน โดยในจำนวนนี้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติไปแล้วกว่า 7 แสนคน และตามกำหนดเดิมจะต้องพิสูจน์สัญชาติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นี้

และกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนตั้งแต่เดือน เม.ย.2554 จำนวนกว่า 9 แสนคน ซึ่งแบ่งเป็นพม่ากว่า 6 แสนคน เขมร 2.5 แสนคน และลาว ประมาณ 1 แสนคน ทั้งนี้ ในจำนวนนี้ได้รับการทำไบโอดาต้าไปแล้วกว่า 4 แสนคน เพื่อเป็นฐานข้อมูลของแรงงานต่างด้าว

นายประวิทย์ กล่าวต่อว่า สำหรับการพิสูจน์สัญชาติรอบนี้ ทาง กกจ.ได้ปรับวิธีการดำเนินงานให้คล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยนำระบบไอทีเข้ามาใช้ในการเก็บข้อมูลแทนการใช้เอกสารเหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา เริ่มตั้งแต่นายจ้างกรอกข้อมูลแรงงานพม่าผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงแรงงานพม่า เพื่อยืนยันสัญชาติ จากนั้นกระทรวงแรงงานของพม่าก็จะส่งอีเมลยืนยันกลับมาที่ตัวนายจ้างโดยตรง และนายจ้างนำลูกจ้างเข้าไปยืนยันที่ศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานพม่า โดยล่าสุด ทางรัฐบาลพม่าร่วมกับรัฐบาลไทย เห็นชอบเปิดศูนย์พิสูจน์สัญชาติเพิ่มขึ้นอีก 5 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 3 แห่ง ที่จ.เชียงราย, ตาก และระนอง รวมกันเป็น 8 แห่ง ส่วนที่เปิดใหม่ ได้แก่ กรุงเทพฯ, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่

นอกจากนี้ ในส่วนของแรงงานกัมพูชา ทางรัฐบาลกัมพูชาได้เข้าตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติที่กรุงเทพฯ และใช้รถโมบายเคลื่อนที่ไปตามจังหวัดที่มีแรงงานกัมพูชาอยู่มาก ส่วนประเทศลาว ก็จะใช้วิธีการส่งเอกสารแบบเดิมเนื่องจากไม่เคยมีปัญหา

อธิบดี กกจ.กล่าวด้วยว่า ส่วนค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์สัญชาติ ประกอบด้วย ค่าใบอนุญาตทำงาน 1,900 บาทต่อคนต่อปี และค่าตรวจสุขภาพ 600 บาทต่อคนต่อปี รวมเป็นเงินทั้งหมดที่แรงงานต่างด้าวต้องใช้จ่าย 2,500 บาทต่อคนต่อปี และรวมค่าวีซ่า 500 บาทต่อคนต่อ 2 ปี ทั้งนี้ แรงงานที่ผ่านการพิสูจนสัญชาติแล้วสามารถทำงานในประเทศไทยได้ 2 ปี และต่อได้อีก 2 ปี จากนั้นก็จะถูกส่งกลับประเทศต้นทาง

“ในอนาคตแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยจะต้องเข้ามาโดยระบบเอ็มโอยู ผ่านการทำข้อตกลงแบบรัฐต่อรัฐ และการเดินทางต้องมาโดยทางเครื่องบินเท่านั้น และเข้าสู่กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งจะทำให้แรงงานเสียค่าใช้จ่ายถูกลง ไม่ต้องจ่ายค่าหัวคิวเช่นที่ผ่านๆมา และปัจจุบันโควตาเอ็มโอยูแรงงานพม่ายังค้างอยู่ประมาณ 1 แสนคน”นายประวิทย์ กล่าว

นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า หากพ้นกำหนดการพิสูจน์สัญชาติในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ ทาง กกจ.ก็จะผลักดันแรงงานด้าวที่ไม่ได้รับพิสูจน์กลับประเทศต้นทางโดยได้มีการประสานรัฐบาลของประเทศต้นทางให้ตั้งศูนย์รองรับแรงงานต่างด้าวที่ถูกผลักดันกลับประเทศไว้แล้ว ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการต้องการจ้างงานแรงงานต่างด้าวก็ให้ยื่นเรื่องต่อ กกจ.เพื่อนำเข้าแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น