xs
xsm
sm
md
lg

เร่งนำเข้าแรงงานพม่าแทนต่างด้าวหนีน้ำกลับบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.แรงงาน นำเข้าต่างด้าวชดเชยน้ำท่วม หลังหนีกลับประเทศกว่า 2 แสนคน ประสาน “บัวแก้ว” นำเข้าทางเครื่องบิน เตือนต่างด้าวถูกกฎหมายฉวยโอกาสเปลี่ยนนายจ้างช่วงวิกฤตกลายเป็นแรงงานเถื่อน

นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กกจ.มีแนวคิดในการนำเข้าแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะแรงงานสัญชาติพม่า ผ่านข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่า เพื่อนำมาชดเชยแรงงานต่างด้าวที่หนีน้ำท่วมและเดินทางกลับประเทศ จำนวนประมาณ 2 แสนคน เฉพาะแรงงานพม่ามีอยู่ประมาณ 1.2 แสนคน ทั้งนี้ การหารือล่าสุดได้ข้อสรุปจะมีการนำเข้าผ่านทางเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำซึ่งอยู่ระหว่างการประสานกับทางกระทรวงการต่างประเทศในการตั้งด่านออกเอกสารรับรองแรงงานต่างด้าวที่สนามบินสุวรรณภูมิ

“เอ็มโอยูที่ไทยทำไว้กับพม่ามีโควตาอยู่ 1 แสนคน แต่นำเข้ามาแล้ว 3 หมื่นคน ยังขาดอยู่อีก 7 หมื่นคน เนื่องจากขณะนี้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบทางชายแดนไทย-พม่า ด่าน อ.แม่สอด จ.ตาก ทำให้การนำเข้าชะงัก บวกกับด่านชายแดนทาง อ.แม่สาย จ.เชียงราย และ อ.เมือง จ.ระนอง ใช้เวลาเดินทางนานและเสียค่าใช้จ่ายสูง โดยทาง กกจ.ได้เปิดให้สถานประกอบการที่ขาดแคลนแรงงานมายื่นเอกสาร เพื่อขอโควตาแรงงานต่างด้าวได้ตลอดเวลาที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด ซึ่ง กกจ.จะส่งเรื่องไปยังรัฐบาลพม่าให้จัดส่งแรงงานมาตามจำนวนที่ทางนายจ้างร้องขอ” อธิบดี กกจ.กล่าว

นายประวิทย์ กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์แรงงานต่างด้าวที่หนีน้ำท่วม ว่า ขณะนี้แรงงานต่างด้าวได้ทยอยเดินทางกลับประเทศไทยบ้างแล้ว ซึ่งเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย จึงขอเตือนแรงงานกลุ่มนี้ว่าให้เข้ากลับไปทำงานกับนายจ้างเดิมเท่านั้น หากเปลี่ยนนายจ้าง ถือว่าจะเป็นแรงงานเถื่อนทันที และทางกระทรวงจะดำเนินการปราบปรามและส่งกลับประเทศต้นทาง ส่วนแรงงานกลุ่มนี้ที่ต้องการเปลี่ยนนายจ้างก็สามารถมายื่นเรื่องกับ กกจ.ให้ถูกต้อง

อธิบดี กกจ.กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ กกจ.ได้พิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวไปแล้วกว่า 7 แสนคน จากทั้งหมดกว่า 9 แสนคน ยังค้างอยู่ 1 แสนคนที่ยังพิสูจน์สัญชาติไม่แล้วเสร็จ ซึ่งจะหมดเขตในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 หากพ้นกำหนดแล้ว แรงงานต่างด้าวที่ยังไม่ได้พิสูจน์สัญชาติ จะต้องถูกผลักดันกลับประเทศ

ทั้งนี้ ส่วนแรงงานต่างด้าวที่เปิดจดทะเบียน เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาพิสูจน์สัญชาติ แต่ กกจ.กำลังจัดทำทะเบียนประวัติแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้ในรูปแบบ Bio Data เช่น รูปถ่าย การสแกนลายนิ้วมือ เป็นต้น ซึ่งจะมีการพิจารณาเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติในคราวต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น