“จุรินทร์” แจงทิศทางพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ สมัยรัฐบาล ปชป.เริ่มต้นไว้แล้วในนามสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลัง 3 กองทุน หรือ สพคส. มีกำหนดแล้วเสร็จ 3 ปี แนะรัฐบาลเพื่อไทยให้โอกาสนำคำตอบที่ได้มาดำเนินการต่อเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทยต่อไป ชี้แนวทางที่ต้องทำคือทั้ง 3 ระบบต้องมีสิทธิประโยชน์เท่าเทียมกัน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้านและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในงานราชดำเนินเสวนาเรื่อง “ทางแพร่งระบบหลักประกันสุขภาพรัฐบาลยิ่งลักษณ์” เมื่อวันที่ 5 ก.พ.55 ว่า คำถามที่สังคมให้ความสนใจในเรื่องเกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพของประเทศไทย คือ อนาคตของระบบหลักประกันสุขภาพไทยควรไปทางไหน จะยุบรวมเป็นระบบเดียวกันทั้งหมดหรือไม่ ประเด็นที่มาของคำถามนี้ เข้าใจว่าอาจจะเกิดจากการส่งสัญญาณที่ทำให้เกิดความเข้าใจไปในทิศทางว่าอาจจะมีความพยายามยุบรวม 3 กองทุนที่เข้าด้วยกัน สัญญาณที่ว่านั้นเกิดจากกรณีที่ 1 ตอนที่นายกรัฐมนตรีไปให้นโยบายที่กระทรวงสาธารณสุข กับสัญญาณที่ 2 ก็คือ กรณีของเหตุการณ์เกี่ยวกับ สปสช.ที่กำลังถกกันอยู่ในขณะนี้ ถ้าเป็นคำถามว่าควรจะมีการยุบรวม 3 กองทุนเข้าด้วยกันหรือไม่ ตนคิดว่าเรื่องนี้ควรต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะนั่นหมายความว่ารูปแบบ 3 รูปแบบต่อไปก็จะเหลือรูปแบบเดียว และจะกลายเป็นกองทุนเดียว ถ้าเกิดผิดพลาด ก็จะพังทั้งระบบ เพราะฉะนั้นนี่เป็นเหตุผลประการที่หนึ่งที่ต้องดูด้วยความรอบคอบจริงๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนคนไทยทุกคนจริงๆ ประเด็นที่สองคือฐานที่มาของแต่ละกองทุนไม่เหมือนกัน คำถามคือถ้าไม่ยุบรวม 3 กองทุนนี้ทางที่ควรจะเดินคืออะไร
“ผมเห็นว่าจะต้องกำหนดให้คนไทยได้มีหลักประกันเรื่องสุขภาพ อย่างน้อยที่สุดขั้นต่ำว่าอย่างไร คำว่า ขั้นต่ำ ไม่ได้แปลว่าให้ต่ำ แต่อย่างน้อยที่ควรได้รับในฐานะคนไทย ไม่ว่าข้าราชการ ผู้ประกันตน คนไทยอื่นๆ อย่างน้อยมาตรฐานต่ำสุดที่เขาควรได้รับคืออะไร ส่วนแต่ละระบบจะเพิ่มเติมอย่างไร นั่นคืออยู่กับแต่ละกรณี และผมเรียนว่าทิศทางที่ผมรัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้เริ่มต้นนับหนึ่งแล้ว ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และตั้งเป็นองค์กรขึ้นมาคือสำนักงานพัฒนาการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ (สพคส.) เพื่อดำเนินการพิจารณา 3 ระบบนี้ ว่าที่สุดแล้วควรจะเดินไปในทิศทางอย่างไร มีการตั้งตัวบุคคลกำหนดระยะเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี ต้องมีคำตอบที่ชัดเจน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้โอกาสให้คณะทำงานชุดนี้ได้เอาคำตอบกลับมาก็จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยต่อไป และสิ่งที่ต้องเดินต่อไป คือ การเดินหน้าสู่ยุคการพัฒนาคุณภาพ ทั้งคุณภาพการรักษาพยาบาลและคุณภาพการบริการ” นายจุรินทร์กล่าว