xs
xsm
sm
md
lg

อนุ กก.หารือ 3 กรอบหลักพัฒนาระบบสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
คณะอนุกรรมการชุดสิทธิประโยชน์ หารือ 3 กรอบหลัก “ทั้งสิทธิพื้นฐาน 3 กองทุน-เน้นระบบผู้ป่วยฉุกเฉิน-ศึกษาแนวทางสิทธิประโยชน์เพิ่มในอนาคต” เตรียมเสนอบอร์ด สปสช.รับทราบ

วานนี้ (16 ก.พ.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์และระบบบริการ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาสิทธิประโยชน์ฯ เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า ที่ประชุมมีการหารือถึงกรอบการทำงานใหญ่ๆ 3 เรื่อง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ประกอบด้วย 1.การหารือตามกรอบนโยบายของนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์พื้นฐานของ 3 กองทุน คือ กองทุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ โดยต้องหาจุดร่วมของสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นพื้นฐาน และต้องมีมาตรฐานเหมือนกันทั้ง 3 กองทุนให้ได้ เบื้องต้นได้สรุปสิทธิแต่ละกองทุนออกมาแล้ว เหลือเพียงการหาจุดร่วมของสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะมีการหารือในรายละเอียดอีกครั้ง

นพ.ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า 2.การหารือถึงกรอบการทำงานในเรื่องผู้ป่วยฉุกเฉิน การส่งต่อต่างๆ ให้ครอบคลุมทั้ง 3 กองทุน เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดปัญหาผู้ป่วยฉุกเฉิน และส่งต่อ ที่ไม่สามารถใช้สิทธิของตนเองได้ บ้างก็ถูกหน่วยบริการถามว่า อยู่สิทธิไหน ซึ่งทำให้เกิดรักษาล่าช้า การหารือประเด็นนี้มุ่งหวังให้ผู้ป่วยฉุกเฉิน ไม่ว่าอยู่ในสิทธิระบบใดก็ตาม สามารถรับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องห่วงว่าหน่วยบริการรับสิทธิหลักประกันสุขภาพฯ หรือประกันสังคม หรือข้าราชการหรือไม่ ส่วนแนวทางการดำเนินงานนั้น จะต้องมีการหารือในแต่ละระบบ ว่า เมื่อมีระบบรองรับผู้ป่วยฉุกเฉินเหมือนกัน การบริหารงบประมาณของแต่ละกองทุนในส่วนนี้จะจัดสรรอย่างไร เรื่องนี้ต้องหารือในการประชุมคณะอนุกรรมการอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

ปลัด สธ.กล่าวด้วยว่า 3.การหารือถึงกระบวนการได้มาซึ่งชุดสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ ในอนาคต โดยภาพรวมต้องมีผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาและเลือกชุดสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นต่อผู้ป่วยในกลุ่มต่างๆ เบื้องต้นต้องแบ่งออกเป็น 3 คณะทำงาน คือ คณะทำงานจากภาคประชาชน ซึ่งต้องมาจากตัวแทนผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องมีคณะทำงานภาควิชาการ และคณะทำงานในการประเมินเรื่องยา เทคโนโลยี ความคุ้มค่าต่างๆ ในชุดสิทธิประโยชน์นั้นๆ ด้วย เรียกว่าการหารือที่ผ่านมา เป็นเพียงกรอบการทำงาน ซึ่งต้องมีการหารือในรายละเอียดอีก อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า กรอบการหารือดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น ไม่ใช่มติชี้ขาด ทั้งหมดต้องผ่านการพิจารณาและประกาศออกมาเป็นมติจากบอร์ด สปสช.ชุดใหญ่ อีก
กำลังโหลดความคิดเห็น