ก.แรงงาน หวั่นค่าจ้าง 300 บาท ทำแรงงานตกงานพุ่ง เตรียมสำรวจผลกระทบ หลังมีผล 1 เม.ย.นี้ หากประเมินแล้วมีผลกระทบมาก พร้อมชงมาตรการเสริมต่อ ก.คลัง ด้าน กพร.เดินหน้าขยับค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมืออีกร้อยละ 20-40 จูงใจแรงงานศักยภาพรับอาเซียน สภาพัฒน์ ชี้ ไทยเจอวิกฤตความเชื่อมั่นนักลงทุน แนะรัฐบาลประกาศแผนแก้น้ำท่วมให้ชัดก่อน พ.ค.55 เร่งฟื้นความเชื่อมั่น เผย ผลสำรวจเวิลด์แบงก์ชี้นายจ้างต้องการแรงงานเก่งภาษาอังกฤษ-ไอที
วันนี้ (6 ก.พ.) น.ส.ส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา “ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพในการทำงานของภาคอุตสาหกรรม ณ โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ ว่า ปัญหาด้านแรงงานในปัจจุบันมีหลายประเด็นที่ซ้อนกันอยู่ ทั้งในเรื่องการขาดแคลนแรงงาน และการว่างงาน ซึ่ง จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุด พบว่า ขณะนี้มีผู้ว่างงานประมาณ 1.7 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.4 ของกำลังแรงงานทั้งหมด แต่คาดว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะมีผู้ว่างานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีแรงงานในสถานประกอบการที่ถูกน้ำท่วมบางส่วนมีการเลิกจ้าง ขณะนี้ตัวเลขแรงงานที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมกว่า 3.3 หมื่นคน จากที่กระทรวงแรงงานเคยคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนคน
น.ส.ส่งศรี กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก ร้อยละ 40 ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 เมษายนนี้ ทำให้ใน 7 จังหวัดเช่น กรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรปราการ ได้รับค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท ทั้งนี้ สถานประกอบการบางแห่ง ก็นำเหตุอุทกภัยมาปลดคนงาน เพราะมองว่าหากฟื้นฟูโรงงานแล้ว เดือนเม.ย.ต้องจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 40 จึงนำ 2 เรื่องนี้มาปลดคนงาน อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับธุรกิจเอสเอ็มอีแจ้งว่าแบกรับต้นทุนไม่ไหว ทำให้ต้องปิดกิจการไปก่อน เพื่อรอดูมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล หากช่วยลดภาระต้นทุนได้ ก็จะเปิดดำเนินการใหม่
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้มีมาตรการช่วยเหลือสถานประกอบการเช่น การให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) พัฒนาฝีมือแรงงานโดยร่วมกับสถานประกอบการและสมาคมวิชาชีพต่างๆ จัดทำหลักสูตรอบรมพฤติกรรมในการทำงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้เหมาะสมกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ และให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำความเข้าใจนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างและให้คำแนะนำการลดต้นทุน เช่น การลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าแทนการลดกำลังคน เพื่อให้เกิดการเลิกจ้างน้อยที่สุด
“หลังจากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะสำรวจผลกระทบในเรื่องการจ้างงาน เนื่องจากขณะนี้ มีสัญญาณเตือนจากดัชนีชี้วัดด้านเศรษฐกิจหลายตัวชี้ว่าแนวโน้มการเลิกจ้างจะสูงขึ้น ซึ่งหากพบว่าผลสำรวจออกมาบ่งชี้ว่า จะมีการเลิกจ้างมาก กระทรวงแรงงานก็จะเสนอมาตรการเสริมอื่นๆ ต่อกระทรวงการคลัง นอกเหนือจากมาตรการลดภาษีนิติบุคคล จาก ร้อยละ 30 เหลือ ร้อยละ 23 ในปีนี้” น.ส.ส่งศรี กล่าว
รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีสภาองค์การนายจ้างและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ระงับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ขณะนี้ กระทรวงแรวงงานกำลังทำความเข้าใจกับฝ่ายต่างๆ ทั้งสภาองค์การนายจ้าง และสภาอุตสาหกรรมฯ อย่างไรก็ตาม หากพูดคุยกันแล้ว ยังยืนยันว่า จะยื่นฟ้อง กระทรวงแรงงานก็พร้อมจะชี้แจงต่อศาล ทั้งนี้ ขณะนี้การปรับขึ้นค่าจ้างเป็นมติของคณะกรรมการค่าจ้างและมติคณะรัฐมนตรี ก็จะต้องดำเนินการไปตามมติดังกล่าว หากจะมีการปรับเปลี่ยน ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการค่าจ้างกลาง
นายประพันธ์ มนทการติวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า กพร.จะเร่งพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อให้เหมาะสมกับการได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท โดยปีนี้ได้รับงบประมาณในการพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 374 ล้านบาท เพื่อจัดอบรม พัฒนาทักษะฝีมือและพฤติกรรมการทำงาน ทั้งผู้เข้าใหม่และผู้ที่ทำงานอยู่เดิม รวมทั้งจะเร่งพัฒนาทักษะด้านภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาในชาติอาเซียน ให้แก่แรงงานด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนของแรงงานไทยที่จะต้องเร่งแก้ไข
นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน กพร.ยังมีนโยบายจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีชั้นสูง ขึ้นใน 12 ภาค ซึ่งปีนี้ได้รับงบจากรัฐ 48 ล้านบาท ให้จัดตั้งศูนย์ฯขึ้นในปีนี้ก่อน 6 ภาค โดยศูนย์นี้จะทำหน้าที่อบรมเทคโนโลยีชั้นสูงในสาขาวิชาชีพต่างๆ เช่น ช่างยนต์ เครื่องจักรกล ให้แก่ช่างฝีมือและผู้ที่จบปวช.และปวส.
นอกจากนี้ กพร.ได้จัดโครงการ “แรงงานพันธุ์เอ็กซ์” โดยให้ศูนย์และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ รับสมัครเด็กที่จบชั้น ม.3 จำนวน 1,000 คน เข้ามาอบรมทักษะฝีมือช่างในสาขาต่างๆ รวมถึงทักษะภาษาอังกฤษ และ 9 พฤติกรรมสู่ความสำเร็จในการทำงานในช่วงเริ่มอบรมตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนกันยายนนี้ เพื่อป้อนเข้าสู่สถานประกอบการ ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้จะได้ค่าจ้างสูงกว่า 300 บาทเนื่องจากเป็นแรงงานกลุ่มที่ได้รับการอบรมแบบเข้มข้น และมีทักษะพร้อมทุกด้าน เริ่มรับสมัครตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้
“จะเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานปรับเพิ่มค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานชาติในสาขาที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 300 บาท ขยับเพิ่มอีกประมาณร้อยละ 40 และสาขาที่ปัจจุบันมีค่าจ้างอยู่ที่ 300-600 บาท ก็จะเสนอขยับเพิ่มอีกร้อยละ 20 เพื่อจูงใจให้แรงงานพัฒนาทักษะฝีมือ เพราะในอนาคตแรงงานไทยจะต้องเป็นแรงงานเทคนิคมากขึ้น และมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถสู้กับแรงงานชาติอื่นๆ ในประชาคมอาเซียนได้ และกพร.จะเร่งออกมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ได้ 120 สาขาภายในปีนี้ จากปัจจุบันที่มี อยู่แล้ว 22 สาขา” อธิบดี กพร.กล่าว
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในปลายปีที่แล้ว แค่ช่วงไตรมาสเดียวส่งผลกระทบทำให้ธุรกิจต่างๆ เกิดการสะดุดซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2555 ก็ยังไม่กระเตื้องขึ้นเท่าที่ควร จึงเป็นโจทย์ของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆว่าจะทำอย่างไรให้นิคมอุตสาหกรรมและสถานประกอบต่างๆฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระบบการผลิตได้เร็ว ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ค่อนข้างเป็นไปตามแผนและกำหนดที่รัฐบาลวางไว้
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อแรงงานกว่า 9 แสนคน แต่ถือเป็นความโชคดีที่เมื่อมาดูแลตัวเลขว่างงานช่วงปลายปี 2554 ถือว่าไม่สูง เนื่องจากสถานประกอบการส่วนใหญ่ยังคงจ่ายค่าจ้างและรักษาสภาพการจ้างงาน ทั้งนี้ ในปีนี้ปัจจัยที่โรงงานอุตสาหกรรม จะต้องเผชิญ คือ การประกันภัย ซึ่งบริษัทประกันภัยจะมีเงื่อนไขมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบป้องกันน้ำท่วมโดยจะเริ่มตั้งแต่ที่ตัวโรงงานมีการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมมาก รวมทั้งการป้องกันพื้นที่รอบนิคมอุตสาหกรรมมีมากน้อยแค่ไหน และการวางยุทธศาสตร์ป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลดีขึ้นกว่าปีที่แล้วแค่ไหน
“รัฐบาลจะต้องทำงานแข่งกับเวลาโดยเฉพาะระบบบริหารจัดการที่จะต้องมีกระบวนการทำให้เกิดความมั่นใจของนักลงทุนในระยะยาวก่อนเข้าสู่ช่วงเดือนพ.ค.นี้ซึ่งเข้าสู่ฤดูฝน รวมทั้งระบบเตือนภัยที่จะต้องทำให้มีประสิทธิภาพและสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชน” ดร.ปรเมธี กล่าว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาถือเป็นวิกฤตของความมั่นใจของนักลงทุน เนื่องจากมีกระแส ว่า นักลงทุนบางส่วนจะย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตอาจจะมีประเด็นอื่นๆมากกว่าเรื่องของน้ำท่วม ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะมีแผนการย้ายฐานก่อนที่จะเกิดน้ำท่วมแล้ว แต่นับเป็นโชคดีของไทยที่หลายอุตสาหกรรมที่ประกาศว่าจะไม่ย้ายฐานการผลิต ดังนั้น จะต้องนำมาวิเคราะห์ดูว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้ตัดสินใจลงทุนในไทยต่อไปโดยอาจจะเป็นจุดเด่นและความได้เปรียบของไทย
ดร.ปรเมธี กล่าวด้วยว่า ได้มีการสะท้อนจากนักลงทุนที่ไม่ย้ายฐานการผลิต ว่า ส่วนหนึ่งมาจากประเทศไทยมีแรงงานมีทักษะฝีมือสูง ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นลงทุนด้านแรงงานที่สะสมมายาวนาน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านยังไม่ได้มีการลงทุนในเรื่องนี้ อีกทั้งอุปนิสัยของแรงงานไทยก็สามารถทำงานร่วมกับผู้ประกอบการชาวต่างชาติได้อย่างดี ไม่มีปัญหา ทั้งนี้ เชื่อว่าอุตสาหกรรมไทยในอนาคต จะปรับเปลี่ยนไปจากเดิมโดยผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และรูปแบบการจ้างงานในเชิงปริมาณมาเป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือเพิ่มขึ้นและอาศัยเทคโนโลยีที่สูงขึ้น จะไม่ใช่การใช้แรงงานเข้มข้นเช่นที่ผ่านมา โดยเฉพาะต่อไปจะไม่มีแรงงานราคาถูก การพึ่งการนำเข้าวัตถุดิบและขยายพื้นที่โรงงานคงไม่มีอีกแล้ว โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังต้องการแรงงานฝีมือ จะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น ยานยนต์ เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งสอดรับกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปีพ.ศ.2588 ที่จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรี ทำให้มีการแข่งขันกันสูง รวมทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเตรียมรับมือ คือ ภัยธรรมชาติและปัญหาขาดแคลนแรงงาน ขณะเดียวกันการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมทำได้ยากขึ้น เพราะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกับชุมชน
“ปัจจุบันไทยขาดแคลนแรงงานฝีมือ รวมทั้งนักวิจัยสาขาต่างๆ ดังนั้น ไทยจะเตรียมการพัฒนากำลังคนเพื่อรับกับประชาคมอาเซียน ซึ่งผลสำรวจของเวิล์ดแบงก์ระบุชัดว่า ทักษะแรงงานที่นายจ้างต้องการอันดับ 1 คือ ทักษะด้านภาษาอังกฤษ รองลงมาเป็นทักษะด้านไอที”ดร.ปรเมธี กล่าว
วันนี้ (6 ก.พ.) น.ส.ส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา “ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพในการทำงานของภาคอุตสาหกรรม ณ โรงแรมดิ เอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ ว่า ปัญหาด้านแรงงานในปัจจุบันมีหลายประเด็นที่ซ้อนกันอยู่ ทั้งในเรื่องการขาดแคลนแรงงาน และการว่างงาน ซึ่ง จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุด พบว่า ขณะนี้มีผู้ว่างงานประมาณ 1.7 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.4 ของกำลังแรงงานทั้งหมด แต่คาดว่าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะมีผู้ว่างานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีแรงงานในสถานประกอบการที่ถูกน้ำท่วมบางส่วนมีการเลิกจ้าง ขณะนี้ตัวเลขแรงงานที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากปัญหาน้ำท่วมกว่า 3.3 หมื่นคน จากที่กระทรวงแรงงานเคยคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนคน
น.ส.ส่งศรี กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก ร้อยละ 40 ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 เมษายนนี้ ทำให้ใน 7 จังหวัดเช่น กรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรปราการ ได้รับค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท ทั้งนี้ สถานประกอบการบางแห่ง ก็นำเหตุอุทกภัยมาปลดคนงาน เพราะมองว่าหากฟื้นฟูโรงงานแล้ว เดือนเม.ย.ต้องจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 40 จึงนำ 2 เรื่องนี้มาปลดคนงาน อย่างไรก็ตาม จากการหารือกับธุรกิจเอสเอ็มอีแจ้งว่าแบกรับต้นทุนไม่ไหว ทำให้ต้องปิดกิจการไปก่อน เพื่อรอดูมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล หากช่วยลดภาระต้นทุนได้ ก็จะเปิดดำเนินการใหม่
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้มีมาตรการช่วยเหลือสถานประกอบการเช่น การให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) พัฒนาฝีมือแรงงานโดยร่วมกับสถานประกอบการและสมาคมวิชาชีพต่างๆ จัดทำหลักสูตรอบรมพฤติกรรมในการทำงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้เหมาะสมกับกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ และให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ส่งเจ้าหน้าที่ไปทำความเข้าใจนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างและให้คำแนะนำการลดต้นทุน เช่น การลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าแทนการลดกำลังคน เพื่อให้เกิดการเลิกจ้างน้อยที่สุด
“หลังจากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะสำรวจผลกระทบในเรื่องการจ้างงาน เนื่องจากขณะนี้ มีสัญญาณเตือนจากดัชนีชี้วัดด้านเศรษฐกิจหลายตัวชี้ว่าแนวโน้มการเลิกจ้างจะสูงขึ้น ซึ่งหากพบว่าผลสำรวจออกมาบ่งชี้ว่า จะมีการเลิกจ้างมาก กระทรวงแรงงานก็จะเสนอมาตรการเสริมอื่นๆ ต่อกระทรวงการคลัง นอกเหนือจากมาตรการลดภาษีนิติบุคคล จาก ร้อยละ 30 เหลือ ร้อยละ 23 ในปีนี้” น.ส.ส่งศรี กล่าว
รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีสภาองค์การนายจ้างและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ระงับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ขณะนี้ กระทรวงแรวงงานกำลังทำความเข้าใจกับฝ่ายต่างๆ ทั้งสภาองค์การนายจ้าง และสภาอุตสาหกรรมฯ อย่างไรก็ตาม หากพูดคุยกันแล้ว ยังยืนยันว่า จะยื่นฟ้อง กระทรวงแรงงานก็พร้อมจะชี้แจงต่อศาล ทั้งนี้ ขณะนี้การปรับขึ้นค่าจ้างเป็นมติของคณะกรรมการค่าจ้างและมติคณะรัฐมนตรี ก็จะต้องดำเนินการไปตามมติดังกล่าว หากจะมีการปรับเปลี่ยน ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการค่าจ้างกลาง
นายประพันธ์ มนทการติวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า กพร.จะเร่งพัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อให้เหมาะสมกับการได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท โดยปีนี้ได้รับงบประมาณในการพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 374 ล้านบาท เพื่อจัดอบรม พัฒนาทักษะฝีมือและพฤติกรรมการทำงาน ทั้งผู้เข้าใหม่และผู้ที่ทำงานอยู่เดิม รวมทั้งจะเร่งพัฒนาทักษะด้านภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาในชาติอาเซียน ให้แก่แรงงานด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นจุดอ่อนของแรงงานไทยที่จะต้องเร่งแก้ไข
นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน กพร.ยังมีนโยบายจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีชั้นสูง ขึ้นใน 12 ภาค ซึ่งปีนี้ได้รับงบจากรัฐ 48 ล้านบาท ให้จัดตั้งศูนย์ฯขึ้นในปีนี้ก่อน 6 ภาค โดยศูนย์นี้จะทำหน้าที่อบรมเทคโนโลยีชั้นสูงในสาขาวิชาชีพต่างๆ เช่น ช่างยนต์ เครื่องจักรกล ให้แก่ช่างฝีมือและผู้ที่จบปวช.และปวส.
นอกจากนี้ กพร.ได้จัดโครงการ “แรงงานพันธุ์เอ็กซ์” โดยให้ศูนย์และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ รับสมัครเด็กที่จบชั้น ม.3 จำนวน 1,000 คน เข้ามาอบรมทักษะฝีมือช่างในสาขาต่างๆ รวมถึงทักษะภาษาอังกฤษ และ 9 พฤติกรรมสู่ความสำเร็จในการทำงานในช่วงเริ่มอบรมตั้งแต่เดือนมีนาคมไปจนถึงเดือนกันยายนนี้ เพื่อป้อนเข้าสู่สถานประกอบการ ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้จะได้ค่าจ้างสูงกว่า 300 บาทเนื่องจากเป็นแรงงานกลุ่มที่ได้รับการอบรมแบบเข้มข้น และมีทักษะพร้อมทุกด้าน เริ่มรับสมัครตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้
“จะเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานปรับเพิ่มค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานชาติในสาขาที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 300 บาท ขยับเพิ่มอีกประมาณร้อยละ 40 และสาขาที่ปัจจุบันมีค่าจ้างอยู่ที่ 300-600 บาท ก็จะเสนอขยับเพิ่มอีกร้อยละ 20 เพื่อจูงใจให้แรงงานพัฒนาทักษะฝีมือ เพราะในอนาคตแรงงานไทยจะต้องเป็นแรงงานเทคนิคมากขึ้น และมีทักษะในการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถสู้กับแรงงานชาติอื่นๆ ในประชาคมอาเซียนได้ และกพร.จะเร่งออกมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ได้ 120 สาขาภายในปีนี้ จากปัจจุบันที่มี อยู่แล้ว 22 สาขา” อธิบดี กพร.กล่าว
ดร.ปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในปลายปีที่แล้ว แค่ช่วงไตรมาสเดียวส่งผลกระทบทำให้ธุรกิจต่างๆ เกิดการสะดุดซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2555 ก็ยังไม่กระเตื้องขึ้นเท่าที่ควร จึงเป็นโจทย์ของรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆว่าจะทำอย่างไรให้นิคมอุตสาหกรรมและสถานประกอบต่างๆฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระบบการผลิตได้เร็ว ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์ค่อนข้างเป็นไปตามแผนและกำหนดที่รัฐบาลวางไว้
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อแรงงานกว่า 9 แสนคน แต่ถือเป็นความโชคดีที่เมื่อมาดูแลตัวเลขว่างงานช่วงปลายปี 2554 ถือว่าไม่สูง เนื่องจากสถานประกอบการส่วนใหญ่ยังคงจ่ายค่าจ้างและรักษาสภาพการจ้างงาน ทั้งนี้ ในปีนี้ปัจจัยที่โรงงานอุตสาหกรรม จะต้องเผชิญ คือ การประกันภัย ซึ่งบริษัทประกันภัยจะมีเงื่อนไขมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบป้องกันน้ำท่วมโดยจะเริ่มตั้งแต่ที่ตัวโรงงานมีการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วมมาก รวมทั้งการป้องกันพื้นที่รอบนิคมอุตสาหกรรมมีมากน้อยแค่ไหน และการวางยุทธศาสตร์ป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลดีขึ้นกว่าปีที่แล้วแค่ไหน
“รัฐบาลจะต้องทำงานแข่งกับเวลาโดยเฉพาะระบบบริหารจัดการที่จะต้องมีกระบวนการทำให้เกิดความมั่นใจของนักลงทุนในระยะยาวก่อนเข้าสู่ช่วงเดือนพ.ค.นี้ซึ่งเข้าสู่ฤดูฝน รวมทั้งระบบเตือนภัยที่จะต้องทำให้มีประสิทธิภาพและสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชน” ดร.ปรเมธี กล่าว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาถือเป็นวิกฤตของความมั่นใจของนักลงทุน เนื่องจากมีกระแส ว่า นักลงทุนบางส่วนจะย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตอาจจะมีประเด็นอื่นๆมากกว่าเรื่องของน้ำท่วม ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะมีแผนการย้ายฐานก่อนที่จะเกิดน้ำท่วมแล้ว แต่นับเป็นโชคดีของไทยที่หลายอุตสาหกรรมที่ประกาศว่าจะไม่ย้ายฐานการผลิต ดังนั้น จะต้องนำมาวิเคราะห์ดูว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้นักลงทุนกลุ่มนี้ตัดสินใจลงทุนในไทยต่อไปโดยอาจจะเป็นจุดเด่นและความได้เปรียบของไทย
ดร.ปรเมธี กล่าวด้วยว่า ได้มีการสะท้อนจากนักลงทุนที่ไม่ย้ายฐานการผลิต ว่า ส่วนหนึ่งมาจากประเทศไทยมีแรงงานมีทักษะฝีมือสูง ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นลงทุนด้านแรงงานที่สะสมมายาวนาน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านยังไม่ได้มีการลงทุนในเรื่องนี้ อีกทั้งอุปนิสัยของแรงงานไทยก็สามารถทำงานร่วมกับผู้ประกอบการชาวต่างชาติได้อย่างดี ไม่มีปัญหา ทั้งนี้ เชื่อว่าอุตสาหกรรมไทยในอนาคต จะปรับเปลี่ยนไปจากเดิมโดยผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และรูปแบบการจ้างงานในเชิงปริมาณมาเป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือเพิ่มขึ้นและอาศัยเทคโนโลยีที่สูงขึ้น จะไม่ใช่การใช้แรงงานเข้มข้นเช่นที่ผ่านมา โดยเฉพาะต่อไปจะไม่มีแรงงานราคาถูก การพึ่งการนำเข้าวัตถุดิบและขยายพื้นที่โรงงานคงไม่มีอีกแล้ว โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังต้องการแรงงานฝีมือ จะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น ยานยนต์ เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งสอดรับกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปีพ.ศ.2588 ที่จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรี ทำให้มีการแข่งขันกันสูง รวมทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเตรียมรับมือ คือ ภัยธรรมชาติและปัญหาขาดแคลนแรงงาน ขณะเดียวกันการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมทำได้ยากขึ้น เพราะปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและการอยู่ร่วมกับชุมชน
“ปัจจุบันไทยขาดแคลนแรงงานฝีมือ รวมทั้งนักวิจัยสาขาต่างๆ ดังนั้น ไทยจะเตรียมการพัฒนากำลังคนเพื่อรับกับประชาคมอาเซียน ซึ่งผลสำรวจของเวิล์ดแบงก์ระบุชัดว่า ทักษะแรงงานที่นายจ้างต้องการอันดับ 1 คือ ทักษะด้านภาษาอังกฤษ รองลงมาเป็นทักษะด้านไอที”ดร.ปรเมธี กล่าว