xs
xsm
sm
md
lg

กพร.ตั้งเป้าออกค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติให้ได้ปีนี้ 120 สาขา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กพร.เร่งออกมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ 48 สาขา ภายใน 3 เดือนข้างหน้า ตั้งเป้าภายในปีนี้ออกให้ได้ 120 สาขา

วันนี้ (31 ม.ค.) นายประพันธ์ มนทกานติวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานสัปดาห์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ณ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดเชียงราย ว่า เป็นการเปิดทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานใน 14 สาขาอาชีพ อาทิ ช่างซ่อมรถยนต์ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ช่างอิเล็กทรอนิกส์ (โทรทัศน์) ช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร นวดแผนไทย ช่างเย็บผ้า ช่างก่ออิฐแลฉาบปูน เป็นต้น

ทั้งนี้ สาขาที่เปิดทดสอบอยู่ใน 22 สาขาอาชีพชุดแรก ที่ได้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ การจัดทดสอบในหลายสาขาจะเป็นตัวกระตุ้นและสร้างความสนใจให้นักศึกษาและกำลังแรงงานที่ต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เห็นความสำคัญของมาตรฐานฝีมือแรงงาน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังเร่งประสานสำนักเศรษฐกิจการแรงงาน ในการปรับอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติที่ประกาศไปแล้ว และมีอัตราที่ต่ำกว่า 300 บาท ให้แล้วเสร็จและทันประกาศใช้ในวันที่ 1 เมษายนนี้ พร้อมอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2555

อธิบดี กพร.กล่าวอีกว่า ภายใน 3 ปี กพร.จะต้องเร่งทำให้อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ เพื่อรองรับการเปิดเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในปี 2558 ขณะเดียวกัน ภายในปีนี้ต้องกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานให้ครบ 120 สาขา ตามเป้าที่ตั้งไว้ ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งจัดทำใน 48 สาขา เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบ คาดว่า ใน 3 เดือนนี้จะแล้วเสร็จ ก่อนจัดทำอีก 50 สาขา ใน 3 เดือนต่อไป

นายประพันธ์ กล่าวต่อไปว่า การเปิดเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558 ซึ่งจะเปิดนำร่องใน 8 สาขา ซึ่งมี 1 สาขาที่ไทยยังไม่ได้ร่วมกับประเทศอื่นกำหนดคุณสมบัติการเคลื่อนย้าย แต่ก็เชื่อว่า ในสาขาการท่องเที่ยวและบริการนี้จะสามารถกำหนดได้ทันการเปิดเสรีอาเซียนแน่นอน ทั้งนี้ มองว่า มาตรฐานของแต่ละประเทศจะมีไม่เท่ากัน ซึ่งของไทยหากยังไม่มีการกำหนดคุณสมบัติการเคลื่อนย้ายแรงงานในสาขาอื่นๆ แต่มีความจำเป็นที่ต้องเปิดเสรีในสาขาอื่นๆ ก็เชื่อว่า จะสามารถนำคุณสมบัติของอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน มาเป็นหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคนแรงงานได้

ทั้งนี้ มองว่า ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็มีการเตรียมความพร้อมที่ใกล้เคียงกัน ยกเว้น ลาว กัมพูชา และ พม่า ที่จะปรับตัวกับเรื่องนี้ได้ช้ากว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงาน ก็ได้มีการตั้งอนุกรรมการมาขับเคลื่อนเรื่องนี้แล้ว แต่เชื่อว่า ทุกประเทศจะต้องมีการกำหนดในเรื่องทักษะภาษาในอาเซียน ซึ่งไทยก็กำลังเร่งศึกษาภาษาของประเทศอื่นๆ ในอาเซียนให้แรงงานไทยสามารถแข่งขันได้

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการเปิดเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอาเซียน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาพิจารณาร่วมกันว่าการเปิดเสรีในครั้งนี้หน่วยงานใดต้องดูแลเรื่องอะไร แต่มีข้อติดขัดจุดไหน เพื่อที่จะได้ร่วมกันรับมืออย่างเป็นระบบ
กำลังโหลดความคิดเห็น