xs
xsm
sm
md
lg

“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ช่วยลดจำนวนคนจนกว่า 8 หมื่นครัวเรือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลประเมิน “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” พบช่วยลดจำนวนคนจนลงกว่า 8 หมื่นครัวเรือน ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติแนะนานาประเทศศึกษาประสบการณ์ประเทศไทย พร้อมเสนอผลักดันนโยบายสู่ “วาระแห่งชาติเพื่อลดปัญหาความยากจน”

วานนี้(24 ม.ค)ทีมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศนำเสนอรายงานประเมินผลระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยในช่วงทศวรรษแรก (พ.ศ.2545 - 2554) ภายใต้กรอบการประเมิน 5 ด้าน ประกอบด้วย การพัฒนานโยบายและการออกแบบระบบ บริบทด้านนโยบายรัฐการดำเนินนโยบาย ระบบอภิบาล และผลกระทบของนโยบาย ซึ่งผลประเมินชี้ให้เห็นว่าระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทยประสบ “ความสำเร็จ” ในหลายด้าน แต่ “มีความท้าทายที่จำเป็นต้องพัฒนาต่อไปในทศวรรษหน้า”

ทั้งนี้ Dr.Timothy Grant Evans หัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ กล่าวในเรื่องนี้ ว่า “ผลจากการศึกษาพบว่า ระบบหลักประกันสุขภาพสามารถครอบคลุมประชากรไทยได้ถึง 47 ล้านคน หรือ 75% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งระบบนี้เกิดขึ้นในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย (พ.ศ.2540) ในขณะที่ประเทศมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพียง 1,900 เหรียญสหรัฐฯ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศจำนวนหนึ่ง แต่ระบบนี้ยังสามารถขยายความครอบคลุมได้อย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องรอให้ประเทศร่ำรวยก่อนจึงจะเริ่มนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ได้ ทั้งนี้ ยังพบว่า ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งสามารถลดภาระรายจ่ายและปกป้องครัวเรือนไม่ให้ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลที่สูงหลักฐานชิ้นสำคัญ คือ จำนวนการใช้บริการผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นจาก 2.41 ครั้ง/คน/ปี ในปี พ.ศ.2546 เป็น 3.64 ครั้ง/คน/ปี ในปี พ.ศ.2554 ขณะที่อัตราการนอนรักษาตัวใน รพ.เพิ่มจาก0.067 ครั้ง/คน/ปี เป็น 0.119 ครั้ง/คน/ปี ในช่วงเดียวกันข้อมูลปี พ.ศ.2553 พบจำนวนประชาชนไทยที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น (unmet need) อยู่ในระดับต่ำมาก ครัวเรือนที่ล้มละลาย เพราะค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลลดลงจากร้อยละ 6.8 ในปี พ.ศ.2538เหลือร้อยละ 2.8 ในปี พ.ศ.2551 ป้องกันครัวเรือนไม่ให้ยากจนลงได้กว่า 8 หมื่นครัวเรือนนอกจากนั้น ระดับความพึงพอใจที่สูงของประชาชนซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 83 ในปี พ.ศ.2546เป็นร้อยละ 90 ในปี พ.ศ.2553 โดยกลุ่มผู้ให้บริการที่เคยมีระดับความพึงพอใจต่อระบบดังกล่าวค่อนข้างต่ำในระยะแรก คือ เพียงร้อยละ 39 ในปี พ.ศ.2547กลับเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ79 ในปี พ.ศ.2553”
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
Dr.Timothy Grant Evansกล่าว เพิ่มเติมว่า “การที่ประเทศไทยขยายความครอบคลุมได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีความพร้อมด้านโครงสร้างการให้บริการที่ครอบคลุมเต็ม มีหน่วยงานวิจัยนโยบายและระบบสาธารณสุข และการบริหารที่มีศักยภาพ และมีระบบฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรที่พร้อมใช้งาน ทั้งนี้ การจะทำให้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดความยั่งยืนต่อไปในทศวรรษหน้า ยังมีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป”

Dr.Maureen E.Birmingham ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ให้ความเห็นในเรื่องเดียวกันนี้ ว่า “ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยยังให้บทเรียนที่มีประโยชน์ต่อนานาประเทศที่กำลังมุ่งไปสู่การจัดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแก่ประชาชนของตน เช่น ความจำเป็นที่ต้องการการสนับสนุนจากการเมืองระดับสูงในการดำเนินนโยบาย ศักยภาพเชิงวิชาการในการออกแบบระบบและชุดสิทธิประโยชน์ที่รอบด้าน ศักยภาพของระบบสาธารณสุขที่จะดำเนินนโยบาย การปฏิรูปด้านการเงินการคลัง รวมถึงความโปร่งใสของโครงสร้างการอภิบาลระบบ เป็นต้น”

ทั้งนี้ ดร.นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) เครือสถาบันของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า “ข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญ จากการสรุปบทเรียน 10 ปีการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยในครั้งนี้ คือ 1) นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต้องเป็น“วาระแห่งชาติ” ที่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากฝ่ายการเมือง ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ซึ่งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแสดงให้เห็นแล้วว่า นอกจากจะช่วยทำให้สุขภาพประชาชนดีขึ้นแล้วยังเป็น “มาตรการ” ลดปัญหาความยากจนได้อย่างเป็นรูปธรรม 2) การพัฒนาโครงสร้างระบบบริการสุขภาพโดยเฉพาะที่ระดับปฐมภูมิให้ครอบคลุมโดยมีกำลังคนด้านสุขภาพที่พอเพียง และ 3) การออกแบบระบบที่ดี เช่น ระบบงบประมาณและการจ่ายเงินสถานพยาบาลแบบปลายปิด ระบบคู่สัญญา (contact model) ที่แยกบทบาทความรับผิดชอบชัดเจนรวมทั้งการกำหนดสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมรอบด้านให้แก่ประชาชน”

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผลการประเมินนี้ยังได้ระบุความท้าทายใหม่ กับการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสู่ทศวรรษหน้า คือ การแก้ไขปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสถานพยาบาลต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน การสร้างความเป็นธรรมระหว่างกองทุนประกันสุขภาพหลัก 3 กองทุน การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนและระบบบริการสุขภาพ โดยมุ่งเน้นที่สิทธิด้านการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคเพิ่มขึ้นการสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิให้มีความเข้มแข็ง พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะยาวในชุมชนและครอบครัว การประเมินเทคโนโลยีและยาต่างๆ ก่อนรับเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิประโยชน์ นอกจากนั้น กระทรวงสาธารณสุข ควรเป็นผู้นำผลักดันให้เกิดการกระจายบุคลากรด้านสุขภาพ โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ประกอบการพัฒนานโยบาย และการสร้างความเข้มแข็งกลไกอภิบาลระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยการพัฒนากระบวนการสรรหาผู้แทน การพัฒนาระบบให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ที่สำคัญคือ การพัฒนาระบบที่ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนในระดับนโยบายต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อมุ่งให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในทศวรรษหน้าของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไทย”
กำลังโหลดความคิดเห็น