เวทีเสวนา พ.ร.บ.การพนันฯ เล็งยื่นนายกรัฐมนตรีทบทวน พ.ร.บ.การพนันฯ เสนอตั้ง คกก.จากทุกภาคส่วนร่วมวางนโยบาย นักวิชาการเตือน! สังคมเสียหายไม่คุ้มกับรายได้ที่เข้ารัฐ แนะรัฐนำสิ่งผิดศีลธรรมเข้าระบบต้องควบคุมให้ได้
วันนี้ (22 ม.ค.) ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในเวทีเสวนาหัวข้อ “พ.ร.บ.การพนันผ่าน หวยถูกกฎหมาย รัฐได้ภาษี สังคมได้อะไร?” จัดโดยโครงการสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคมปลอดพนัน ภายใต้มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
โดย นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในเวทีเสวนามีข้อเสนอ 3 ประการ ได้แก่ 1 .ควรชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การพนันฯ ออกไปและจัดให้มีเวที ประชาพิจารณ์ทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำร่าง พ.ร.บ.การพนันฯฉบับประชาชน เพื่อเสนอควบคู่ไปกับร่างพ.ร.บ.การพนันฉบับนี้
2. ควรจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลนโยบายการพนันแห่งชาติ โดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เข้ามาเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ ทิศทาง และนโยบาย เกี่ยวกับเรื่องการพนันในสังคมไทยทั้งหมด
3. ให้มีการทบทวนเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.การพนัน ในส่วนที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนและสังคมในวงกว้าง เช่น มาตรา 4 ที่กำหนดให้หนี้การพนันเป็นหนี้ถูกกฎหมาย หรือในมาตรา 7 ที่อนุญาตให้การพนันบางประเภทสามารถเล่นได้อย่างถูกกฎหมาย โดยออกเป็นกฎกระทรวง ทั้งนี้ทางเครือข่ายจะทำจดหมายเปิดผนึกส่งถึงนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน คณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นำไปพิจารณาให้เกิดเวทีประชาพิจารณ์ 4. ขอให้มีมาตรการในการปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้เกี่ยวข้องกับการพนันที่ชัดเจนโดยมีการบังคับกฎหมายที่เคร่งครัด
“นอกจากนี้ เวทีดังกล่าวยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อประเด็นการจำหน่ายสลากด้วยเครื่องอัตโนมัติด้วยว่า ต้องมีการเพิ่มบทลงโทษทั้งต่อผู้เล่น เจ้ามือหวยเถื่อน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพนันหวยใต้ดิน รวมทั้งกำหนดบอลงโทษแก่ตัวแทนจำหน่ายหวยออนไลน์ในกรณีที่ขายหวยออนไลน์ให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยต้องดำเนินการทางกฎหมาย และริบเงินประกันกับตู้หวยออนไลน์คืนโดยไม่มีข้อยกเว้น และต้องมีการศึกษาถึงผลกระทบต่อการมีหวยออนไลน์กับสังคมอย่างจริงจัง โดยการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น ดูผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อย ได้แก่ คนพิการ เป็นต้น สุดท้ายต้องเสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล โดยมีการจัดตั้งกองทุนที่จัดโดยกองทุนสลากกินแบ่งที่ไม่ต้องผ่านรัฐและมีการปรับโครงสร้างการบริหารงาน” นายอนุสรณ์กล่าว
นายอนุสรณ์กล่าวต่อว่า ประเด็นการใช้เครื่องมือทางกฎหมายในการควบคุมในสิ่งที่สังคมไม่พึงประสงค์ที่ขัดต่อศีลธรรมมักเกิดขึ้นในทุกสังคม และเมื่อนำการพนันนอกระบบที่มีเม็ดเงินอยู่ประมาณหลายหมื่นล้านบาทเข้ามาในระบบแล้ว หากไม่สามารถควบคุมได้ก็ยิ่งทำให้เกิดธุรกิจใต้ดิน ที่จะเป็นช่องทางของผู้แสวงหาประโยชน์ ทำให้เกิดปัญหาการคอร์รัปชันและติดสินบนตามมา และจะเป็นปัญหาต่อๆ ไป
“ส่วนที่ผลพลอยได้ที่รัฐจะมีรายได้เข้ามา ทั้งจากการเก็บค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตกาพนันนั้น ผมคิดว่านั่นไม่ใช่ประเด็น เพราะอย่างไรเสียก็ไม่คุ้มกับการที่สังคมต้องเสียหาย ยิ่งถ้ามีการเปิดให้มีการพนันแพร่หลายทุกจังหวัด ประเทศก็ยิ่งเสียหาย เหมือนกับในอดีตที่มีการคิดสลากกินแบ่งรัฐบาลขึ้นมาก็มีรัฐคอยควบคุม ทำโรงงานยาสูบทั้งที่ยาสูบไม่ใช่เรื่องดีเลย แต่รัฐก็ต้องควบคุม ดังนั้น การทำให้สิ่งผิดถูกกฎหมายไม่ใช่เป็นให้เสรีกับสิ่งนั้น แต่ต้องควบคุมให้ได้ ไม่ใช่คิดแค่ว่ารัฐบาลจะได้เงินจากตรงนี้เท่านั้น” นายอนุสรณ์กล่าว
ขณะที่ นายกิติพงศ์ สุทธิ ผู้อำนวยการสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและการพัฒนา สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพสังคมโดยรวมถ้าปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างนี้จะเป็นผลกระทบในทางลบต่อสังคม ดังนั้นจึงต้องวางกรอบกฎหมายหรือวางแนวของรัฐที่เข้มแข็ง คือทำอย่างไรให้การพนันที่เกิดขึ้นอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย และทำให้คนมีภูมิคุ้มกันจากการพนันให้มีสติรู้เท่าทันการพนัน เพราะในชีวิตของตนเคยมีคนที่เล่นการพนันที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ จนถลำลึกและต้องบาดเจ็บทางเศรษฐกิจคือหมดตัว