โดย...จารยา บุญมาก
หากจะหาของขวัญ เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ...จะเลือกให้จุใจต้องไป “จตุจักร” ตลาดนัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของเมืองไทย สินค้ามากมายหลากหลายกลายเป็นเสน่ห์และเป็นจุดนัดพบของผู้ซื้อ ผู้ขาย ทั้งของค้าปลีก ค้าส่ง รวมทั้งเป็นที่พักผ่อน...
ทว่า วันนี้ ตลาดนัดจตุจักรกำลังจะเปลี่ยนมือการบริหารจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ที่หลายฝ่ายกำลังเป็นกังวลว่า “ตลาดนัดจตุจักร” ที่เคยรู้จากจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหรือไม่
หากถามผู้คนที่คลุกคลีกับจตุจักรมานาน ว่า อยากให้พรุ่งนี้ของจตุจักรเป็นอย่างไร “ขจรศักดิ์ ดำรงค์ไทย” เจ้าของร้านขายผ้าที่ดำเนินกิจการมาเกือบ 20 ปี ตอบอย่างไม่ลังเล ว่า การอนุรักษ์ความเก่าแก่ของจตุจักร จำต้องดำเนินไปเช่นเดิม เพื่อให้สมกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับสองของ กทม.รองจาก วัดพระแก้ว และสะท้อนถึงวิถีชีวิตแบบพื้นที่เปิดโล่งสำหรับคนรักการเดินชอปปิ้ง และมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ หรือสินค้า ซึ่งเป็นศูนย์รวมผลงานของแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ มารวมกันใจกลางกรุง ซึ่งเป็นเสน่ห์แท้จริงของตลาดแห่งนี้ ที่ผู้บริหารควรคำนึงถึงเป็นลำดับแรก ซึ่งหากมีการประชาสัมพันธ์ที่ดี และมีข้อมูลส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนจัดการจำนวนร้านค้าอย่างเหมาะสม เชื่อว่า จตุจักร จะสวยงามเสมอ
รองลงมาจากการอนุรักษ์พื้นที่ให้คงเดิม ก็คือ การจัดการความสะอาดและความปลอดภัย โดยควรมีการอำนวยความสะดวกในการกระจายเจ้าหน้าที่อย่างเหมาะสม จัดเวรเพื่อตรวจตราบริเวณโดยรอบ จะได้ไม่เกิดเหตุอันตรายขึ้น ซึ่งหลังจากที่ ร.ฟ.ท.มีการเข้ามาบริหารก็เริ่มมีการกระจายถังดับเพลิง ไว้ตามจุดต่างๆ แล้ว แต่ต้องมีการตรวจสอบมาตรฐานมากขึ้นด้วย เพื่อให้ประชาชนทั้งผู้ขายและผู้ซื้อมีความมั่นใจ ขณะที่ความสะอาดของห้องน้ำ พื้นทางเดิน ถนนโดยรอบก็ควรมีการจัดการสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพด้วย
และหากถามถึงแนวโน้มที่จะมีการขึ้นค่าเช่า ผู้ประกอบการโต้แย้งทันที ว่า ในเรื่องการขึ้นค่าเช่านั้น นอกจากจะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น กระทบต่อผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการสกัดการกระจายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นอีกด้วย เพราะปัจจุบันจตุจักร เปิดปิดเป็นเวลา หากค่าเช่าแพง ขายสินค้าได้น้อย ผู้ประกอบการก็จะสั่งสินค้าจากภาคท้องถิ่นได้น้อยลง แน่นอนว่า ไม่เป็นผลดีแน่นอน
“ไม่รู้ว่า การรถไฟฯ จะปรับค่าเช่าร้านไปเพื่อเหตุผลใด แต่หากเป็นอย่างข้อมูลที่สื่อเคยเสนอไว้ ว่า จะปรับค่าเช่าเพื่อไปบริหารในองค์กร เพื่อที่จะเลี้ยงดูพนักงานในสังกัดนั้น เชื่อว่า เป็นความคิดที่ผิด เนื่องจากผู้ประกอบการในจตุจักร มีแค่หลักพัน เป็นไปไม่ได้ที่จะให้จ่ายเงินค่าเช่าเพื่อช่วยพนักงานจำนวนมหาศาลในองค์กร จึงอยากให้มีการทบทวนเรื่องนี้ด้วย” ผู้ประกอบการรายเดิม แสดงความคิดเห็น
ด้าน “โอม” พิชญาวรรณ มูลเขียน นักศึกษามหาวิทยาลัยรังสิตนั้น ยอมรับว่า จตุจักร เป็นเหมือนสิ่งที่ขาดไม่ได้แล้ว เพราะมาเดินแทบทุกสัปดาห์ ส่วนมากจะมากับเพื่อน เพราะว่าเป็นพื้นที่ ที่เดียวที่สินค้าหลากหลายที่สุดและมีหลายราคา
“จตุจักรมีเสน่ห์ที่ความเรียบง่าย จะแต่งตัวยังไง รองเท้าแบบใด มาเดินก็ยังได้ ที่นี่สะท้อนความเป็นตัวเองของผู้คนมากที่สุด มีผู้คนหลากหลายวันมาเลือกซื้อสินค้า ตามความสนใจ โดยส่วนตัวชอบไปเดินเล่นในโซนสัตว์เลี้ยง และโซนเสื้อผ้ากับต้นไม้ แม้ว่าที่นี่ไม่มีแอร์เย็นฉ่ำเหมือนกับห้างสรรพสินค้าทั่วไป แต่คิดว่า มันเป็นความบันเทิงซึ่งมีรูปแบบแตกต่าง ทำให้ไม่เคยเบื่อกับการมาที่จตุจักรบ่อยๆ” โอม อธิบาย
ส่วนมุมมองในเรื่อง จตุจักร ในอนาคตภายใต้การบริหารของ ร.ฟ.ท.นั้น นักศึกษาสาวอธิบาย ว่า การอยู่ภายใต้ปกครองของใครไม่สำคัญ แต่ขอแค่คนบริหารจริงใจ และจริงจังกับแผนการพัฒนาก็พอแล้วแล้วสำหรับคนไทยและนักท่องเที่ยว แต่อยากให้เพิ่มเติมเรื่องของความสะอาด และอยากให้ปับปรุงทางเดินแบบทางเดียว (One way ) เพื่อให้ได้เห็นจุดขายสินค้าอย่างทั่วถึงและรอบด้าน นั่นจะเป็นการอำนวยความสะดวกที่ดีมาก