ท่วงทำนองบทเพลงอันไพเราะดังก้องกังวานผ่านปลายนิ้วสัมผัสบนปากแก้ว ดั่งมีมนต์สะกดชวนให้หลงใหลระคนประหลาดใจ คนไทยรู้จักเครื่องดนตรีชนิดนี้ในชื่อพิณแก้วโดย “วีระพงษ์ ทวีศักดิ์” ศิลปินผู้ปลุกเครื่องดนตรีโบราณจากต่างประเทศในชื่อ Grass Harp ขึ้นมาให้คนไทยได้รู้จัก พิณแก้วสำหรับเขาไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องดนตรีที่ใช้โชว์เพื่อความบันเทิงเท่านั้น ณ วันนี้ ปรัชญาในการดำเนินของผู้ชายคนนี้คือต้องการใช้ดนตรีเพื่อเป็นสื่อในการพัฒนาจิตใจ และสร้างแรงบันดาลใจ โดยการถ่ายทอดให้แก่คนด้อยโอกาส ผู้พิการ และเด็กๆ
ศิลปะของดนตรีพิณแก้วต่างจากเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ รูปลักษณ์ภายนอกอาจจะดูเหมือนแก้วธรรมดา แต่พอนำมาใส่น้ำ และบรรเลงเป็นบทเพลง แก้วน้ำธรรมดาๆ ก็กลายเป็นเครื่องดนตรีสุดคลาสสิกดีๆ ชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ เป็นเรื่องแปลกใหม่ของวงการดนตรี และเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นจุดแข็งของ “พิณแก้ว”
พิณแก้วไม่ยากอย่างที่คิด
อาจารย์วีระพงษ์นัดพบกับเราที่โรงเรียนพระหฤทัยนนทบุรี เวลาช่วงเลิกเรียน ซึ่งเป็นวันที่อาจารย์เปิดการสอนการเล่นพิณแก้ว เป็นวิชาพิเศษให้เด็กๆ ได้ฝึกซ้อม
“สอนที่โรงเรียนนี้มาประมาณ 2 ปี ชุดที่ทำมาสอนที่โรงเรียน เป็นชุดเล็ก แก้วที่จะเริ่มเป็นเพลงได้ ประมาณ 5 ใบ คือ โด เร มี ฟา ซอล เริ่มจากเพลงง่ายๆ เพลงหนูมาลี แต่พอมาสอนเด็กอายุประมาณ สิบขวบขึ้นไป ถ้าให้เล่นเพลงง่ายเกินไปเขารู้สึกว่าไม่ท้าทาย เราก็ต้องให้เขาทำอะไรที่ยากขึ้น เราต้องมีโน้ตจำนวนหนึ่งที่สามารถเล่นเพลงได้หลากหลายพอสมควร ชุดนี้ก็มี โด เร มี ฟา ซอล โด เร มี แล้วก็มีเอฟชาร์ป (F#) กับบีแฟล็ต(Bb)”
สิ่งที่สังเกตได้อย่างหนึ่งคือชุดแก้วที่ใช้ในการสอนที่โรงเรียนนี้ ไม่ใส่น้ำ แต่ก็มีเสียงดังก้องกังวานไพเราะ
“จริงๆ แก้วมันต้องใส่น้ำ เพราะน้ำเป็นตัวจูน เวลาเราถูแล้วมีเสียง เอาน้ำใส่ไปเรื่อยๆ แล้วเสียงมันจะต่ำลง แล้วมันจะตรง แต่ชุดที่นำมาสอนนี้ไม่ได้ใส่น้ำ เพราะตอนที่เด็กเรียน ตอนซ้อม คือมันเป็นสิ่งน่าเบื่อสำหรับคนทั่วไป เวลาที่จูนเสียงมันต้องใส่น้ำ พอดีเป๊ะเลยนะ เสียงมันจะไม่เพี้ยน มันจะตรงพอดี แต่เวลาเราซ้อมเสร็จแล้ว พรุ่งนี้เช้ามาซ้อมอีก เสียงมันเพี้ยนไปแล้ว เพราะน้ำมันระเหย ก็ต้องจูนใหม่ แล้วเวลาจูนเนี่ยใช้เวลาเยอะมาก ผมก็อำนวยความสะดวกนักเรียนเพื่อให้เขาไม่เบื่อเวลาซ้อม ด้วยการทำแก้วชุดนี้ขึ้นมา เพื่อที่เวลาซ้อมจะได้ไม่ต้องใส่น้ำ คือเสียงมันก็ไม่ตรง เสียงจะเพี้ยน แต่ว่ามันเพี้ยนเท่ากันทุกใบ เอาไว้ซ้อมอย่างเดียว
เคล็ดลับคือแก้วต้องสะอาด แล้วเราก็ต้องล้างมือให้สะอาด เวลาเล่นมือเราต้องเปียกน้ำ ต้องจุ่มนิ้วตลอดเวลา อย่างที่เห็นคนเวลาร้องพลงต้องหายใจ คนเล่นแก้วต้องใช้มือจุ่มน้ำ
ผมก็สอนพื้นฐานให้เขา วิธีสอนก็เริ่มจากค่อยๆ สอนเหมือนเดิม สอนให้ถูให้มีเสียงก่อน ต่อมาให้เขาควบคุมเสียงให้มีคุณภาพ เสียงยาว เรียบเนียน อยู่ที่ความเร็วและน้ำหนักในการถู ฝึกเล่นโน้ตสั้น โน้ตยาว ไม่นานก็เล่นเพลงได้ คุณภาพเสียงอยู่ที่มือ น้ำหนักกด สม่ำเสมอ ไม่งั้นเสียงจะเป็น แง่ง...แง่ง”
“พิณแก้วเป็นเครื่องดนตรีที่ช่วยให้เด็กมีสมาธิมาก เด็กสมัยนี้มีปัญหาเรื่องสมาธิกันเยอะ เวลาที่เขาเล่นพิณแก้ว จิตใจ สมาธิต้องจดจ่ออยู่ตรงแก้ว เพราะว่านิ้วมันต้องแตะตรงจุดนี้ ถ้าแตะเลยมันเพี้ยน การเรียนที่ต้องใช้สมาธิสูงเนี่ย มันทำให้เขาเป็นคนมีสมาธิมากขึ้น นี่ที่ผมเห็นหลักๆ เลย อีกอย่างคือเขาได้เรื่องความอดทน เพราะถ้าเขาเล่นได้เพลงหนึ่งแสดงว่าเขาต้องมีความอดทนระดับหนึ่ง แล้วมันจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ช่วยเรื่องความจำด้วย เพราะว่าเวลาเล่นต้องท่องโน้ต
ผมว่าพิณแก้วมันไม่ค่อยแตกต่างจากเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ แต่ว่ามันเป็นเครื่องดนตรีที่จะดึงดูดเด็กเป็นพิเศษ เพราะว่ามันน่าอัศจรรย์ สิ่งที่เขาเห็นคือแก้วน้ำมันกลายเป็นดนตรี ถ้าเล่นดนตรีแล้วมันมีเสียงดนตรีออกมามันก็ปกติ แต่นี่มันคือแก้วน้ำแล้วออกมาเป็นเสียงโน้ต เนี่ยมันเป็นจุดแข็งของพิณแก้ว ที่มันสามาถดึงดูดเด็กๆ ได้ และเขาจะมีความภูมิใจในตัวเองด้วย”
ลงมือทำ...ความสำเร็จอยู่ไม่ไกล
มองภายนอกจากสายตาของคนทั่วไป การเล่นดนตรีพิณแก้ว เครื่องดนตรีที่ใช้แก้วไวน์ และน้ำ เป็นแหล่งกำเนิดเสียงอาจจะดูว่ายาก และไกลเกินความสามารถที่จะเล่นได้ แต่สำหรับวีระพงษ์ เขาได้ชมสารคดีการแสดงพิณแก้วเพียงครั้งเดียว ก็เกิดแรงบันดาลใจ และเริ่มลองทำในสิ่งที่ตนเองสนใจทันที ฝึกฝนอยู่นานจนสามารถเล่นได้ และได้เป็นนักดนตรีพิณแก้ว 1 ใน 20 คนของโลก
“ผมเริ่มเล่นพิณแก้วโดยการดูจากสารคดี นึกอยากจะเล่นก็ไปซื้อแก้วเลย เราจำได้ว่าเขาใช้แก้วที่มีก้าน แล้วเราสังเกตว่าเวลาเขาเล่นเขาต้องเอามือไปจุ่มน้ำ วันนั้นไปห้างไปซื้อแก้วที่มีก้าน ขอน้ำมากระป๋องหนึ่งแล้วลองถูเลย เฮ้ย! มีเสียงจริงๆ ครั้งแรกซื้อมาประมาณ 20 กว่าใบ ก็ลองผิดลองถูก ไม่รู้ว่าต้องเรียงอย่างไร ต้องหาแก้วอย่างไร ใช้เวลาอยู่กับมันประมาณ 6-7 เดือน
การที่เราเรียนดนตรีมามันมีส่วนมากจริงๆ เพราะถ้าเราไม่ได้เรียนดนตรีคงไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้อย่างนี้ เพราะว่ามันต้องใช้ทักษะในการฟังสูง ว่าแก้วใบไหนโน้ตอะไร ทักษะสำคัญในการเล่นดนตรีก็คือต้องรู้จักฟัง เรารู้ทฤษฎีดนตรี เรามันก็เร็วขึ้น เราก็ฟังออกว่าโน้ตมันสูงเกินไป ต่ำเกินไปไหม ต้องใส่น้ำเท่าไหร่”
ส่วนชื่อพิณแก้วที่หลายคนคงสงสัยว่ามาจากไหน อาจารย์วีระพงษ์เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปว่าตอนแรกก็ยังไม่มีชื่อภาษาไทย แต่พอถูกเชิญให้ไปแสดงพิณแก้วในรายการทไวไลท์โชว์ เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว พิธีกรรายการ (ต๋อย-ไตรภพ ลิมปพัทธ์) เป็นผู้ที่ตั้งชื่อเครื่องดนตรี “Grass Harp” ว่า “พิณแก้ว” จึงใช้มาจนทุกวันนี้”
พิณแก้วใน “เรือนจำ”
การเดินทางของการเล่นดนตรีพิณแก้วตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี เขาแสดงโชว์ และเป็นวิทยากรบรรเลงพิณแก้วตามสถานที่ต่างๆ แต่สถานที่สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของศิลปินคนนี้ก็คือเรือนจำ ซึ่งครั้งแรกที่เขาได้ไปบรรเลงในเรือนจำ ทำให้เขาเกิดแนวคิดที่อยากจะนำการเล่นดนตรีพิณแก้วมาใช้สอนผู้ต้องขัง และจากที่เคยเล่นพิณแก้วอย่างเดียวมาตลอด 13 ปี พอเกิดปัญหาในเรื่องข้อจำกัดของจำนวนที่มีอยู่ไม่เพียงพอจากจำนวนคนที่สนใจเรียนเพิ่มขึ้นเขาจึงเริ่มมองหาวัสดุชิ้นอื่นๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องดนตรีแทนแก้ว
“วิธีการสอนที่เรือนจำก็คือ ผมให้เขาถือแก้วคนละ 1 ใบ ผู้ต้องขังประมาณ 50 คน ให้เขาถูแก้วในมือให้มีเสียง พอรวมกันก็กลายเป็นเพลงที่ใช้วิธีนี้เพราะว่าเขาไม่มีทักษะทางดนตรีมาก และต้องการให้เขาทำสิ่งง่ายๆ แต่ว่ามีคุณค่า
มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาเชิญให้ผมไปสอนพิณแก้วผู้ต้องขังประมาณ 200 คน แล้วปัญหาคือหาแก้วไม่ได้ ผมก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรดี ก็เลยเปลี่ยนความคิด แต่ในเมื่อแก้วมันเป็นอุปสรรคเราก็หาเครื่องดนตรีอื่น
ผมก็ตั้งโจทย์ขึ้นมาว่าเรามันต้องเป็นเครื่องดนตรีที่ข้อแรกประหยัด เพราะว่าการไปตามสถานที่เหล่านั้นเขาไม่มีงบหรอก ข้อที่สองที่ผมตั้งโจทย์เองก็คือมันจะดีมากเลยถ้าเป็นเครื่องดนตรีที่เราทำเองได้ ข้อที่สามคือมันยังคงต้องเจ๋ง ต้องอะเมซิง เห็นแล้วต้องร้อง...เฮ้ย! ประมาณนี้แหละ มันจะได้ดึงดูดเขา
ตั้งโจทย์เสร็จแล้วก็มานั่งคิด แล้วก็มองไปรอบๆ ก็ดูว่ามีอะไรที่จะทำเป็นเครื่องดนตรีได้บ้าง ก็เริ่มมองถึงวัสดุเหลือใช้ อย่างแรกที่ลองคือขวดน้ำที่เป็นแก้ว แล้วเอามาเป่า มันก็มีเสียง แล้วทฤษฎีเดียวกันคือใส่น้ำไม่เท่ากัน มันก็จะเป็นโน้ต เราก็รู้สึกว่าเครื่องดนตรีนี้มันใช้ได้ แต่มันมีความยากอยู่ตรงการจูนน้ำ ตอนที่เราเทน้ำลงไปมันยากมาก ต้องเป๊ะ ไม่อย่างนั้นเสียงเพี้ยน ก็กลายเป็นว่าขวดน้ำมันเจ๋ง แต่ไม่เหมาะกับผู้ต้องขัง เพราะมันต้องใช้เวลาในการจูน และคนที่จะเป่าต้องมีทักษะในการเป่า
ขวดน้ำไม่เวิร์กสำหรับผู้ต้องขัง ผมก็คิดหาเครื่องดนตรีชิ้นอื่นต่อ ก็ไปได้ท่อพีวีซี ซื้อมา 4 เมตร เอามาตัดเป็นท่อนๆ สั้นๆ แล้วเอามาเป่าเหมือนกัน แต่อันนี้มันสะดวกกว่า เพราะไม่ต้องจูนน้ำแล้ว พอเราวัดระยะได้ว่ามันสั้นยาวเท่าไหร่ สมมติว่า 7 ซ.ม. เป็นโน้ตตัวโด มันก็เป็นตัวโดตลอดไป ท่อยิ่งสั้นก็เป็นเสียงสูงขึ้น ท่อยาวก็เป็นเสียงต่ำ”
“พอได้ลองทำเครื่องดนตรีชิ้นอื่น มันเหมือนเป็นการเปิดประตูบานใหม่ มันทำให้ชีวิตเราอะเมซิ่งสุดๆ พอเราเริ่มเจอปัญหา เราถึงมานั่งคิดว่าเราต้องหาเครื่องดนตรีชิ้นอื่น ก่อนหน้านี้เราก็รู้ว่ามันมี แต่เราไม่ได้สนใจมัน ตอนนี้มองไปรอบตัวเจออะไรมันก็เป็นเครื่องดนตรีได้หมดเลย ตอนนี้ก็เลยอยากทำโครงการหนึ่ง คือการนำเอาวัสดุเหลือใช้มาทำเป็นเครื่องดนตรี
สมัยผมเป็นเด็ก ผมอยากเล่นดนตรีมากเลย อยากเล่นกีตาร์ อยากจะไปเรียน แต่ไม่มี เพราะแม่ไม่มีตังค์ซื้อให้ เราก็ไม่มีตังค์ไปเรียนด้วยนะ พอเราดูเพื่อนๆ เขาเล่น เราก็ขอยืม แล้วก็ใช้วิธีอ่านหนังสือบ้าง ทำตามเขาบ้าง พอตอนนี้เราพบว่าเราสามารถหาวัสดุเหลือใช้มาทำเป็นเครื่องดนตรีได้ ผมอยากจะบอกเด็กๆ ว่า ถ้าอยากเล่นดนตรีนะ อย่าบอกว่าไม่มีตังค์ซื้อ เพราะคุณสามารถหยิบจับวัสดุเหลือใช้มาทำเป็นเครื่องดนตรีได้หมด”
ถึงแม้ตอนนี้แนวคิดของเขาจะเปลี่ยนไป เริ่มมองหาวัสดุอื่นๆ เพื่อมาทำเป็นเครื่องดนตรี แต่เขาก็ยังคงความคิดเดิมคือเครื่องดนตรีที่ใช้ ต้องเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสมบูรณ์แบบ คือเป็นเครื่องดนตรีที่เสียงไม่เพี้ยน และเล่นเพลงได้หลากหลาย
“ผมไม่ได้เล่นพิณแก้วเพราะว่ามันแปลกนะ แต่ผมเล่นเพราะว่ามันเป็นดนตรีที่เพอร์เฟกต์ เสียงไม่เพี้ยน เล่นเพลงช้า เพลงเร็วได้ เหมือนเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งเลย”
พอถามว่าชอบการสอนที่ไหนมากกว่ากัน เขาตอบได้ทันทีว่าสอนที่เรือจำสนุกที่สุด เพราะผู้เรียนมีความตั้งใจสูงและสิ่งที่ได้กลับมาก็คือคุณค่าทางจิตใจทั้งตัวคนสอนเอง และผู้ต้องขังที่ได้รับโอกาส
“ประโยชน์สูงสุดไม่ใช่ว่าเขาเล่นดนตรีเป็นนะ แต่มันทำให้ตัวเขาเองรู้สึกว่ามีคุณค่ามากขึ้น เพราะเขาโดนดูถูก โดนตราหน้าว่าเป็นนักโทษ แล้วเขาจะไม่ค่อยมีความมั่นใจตัวเอง เขาก็เป็นคนที่มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี เขาภูมิใจที่มีส่วนร่วมในการเล่น
สอนในเรือนจำสนุก เพราะว่าผู้ต้องขังในเรือนจำเขามีความตั้งใจ เขาอยู่ในสภาวะที่ไม่ค่อยมีโอกาส แต่พอมีคนหยิบยื่นโอกาสให้ เขากัดไม่ปล่อย และใส่เต็มร้อย แล้วสอนเขาสนุก มีพลัง ใช้เพลงราชนิพนธ์ เพลงที่เขาชอบ เพลงที่เขารู้จัก เพลงสายฝน เก็บตะวัน เพลงที่ให้กำลังใจ”
ลูกศิษย์คนแรกคือเด็กตาบอด
หลังจากที่พิณแก้วเริ่มเป็นรู้จักจากสื่อต่างๆ ก็มีคนให้ความสนใจ และขอสมัครเป็นลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก แต่เขาก็ยังไม่คิดที่จะเปิดการสอนอย่างจริงจัง เพราะความจำกัดทางด้านเวลา แต่ก็มีเด็กคนหนึ่งที่ทำให้เขายอมใจอ่อน สอนการเล่นพิณแก้วให้อย่างจริงจังเป็นคนแรก
“พอเราเริ่มออกทีวีได้สักพักหนึ่งก็มีคนสนใจมาสมัครเรียน แต่ก็ยังไม่เปิดสอนเพราะว่าไม่ค่อยมีเวลา ก็ใช้วิธีขอชื่อ-ที่อยู่เขาเอาไว้ ปรากฏว่ามีเด็กคนหนึ่งโทร.มาขอเรียน ผมขอชื่อ-ที่อยู่เขาก็ไม่ให้ ผมก็ประหลาดใจ แต่ก็รู้สึกว่าเขามีอะไรผิดสังเกต ก็เลยคุยกับเขา ชวนคุยเรื่องดนตรี ตะล่อมไปเรื่อยๆ คุยเป็นชั่วโมงเลยเราถึงรู้ว่าเขาตาบอด แล้วเขาบอกว่าเขาได้ยินผมทางทีวี เขาฟังแล้วรู้สึกเกิดแรงบันดาลใจอยากเรียน แล้วเขาก็จดเบอร์โทรศัพท์ แล้วเขาก็โทร.มาเลย
พอรู้ว่าเขาตาบอดนะ อยากสอนเลย เรารู้สึกว่าเหมือนเขาด้อยโอกาส เราต้องให้โอกาสเขา อีกข้อคือผมรู้สึกว่ามันท้าทายว่าจะสอนยังไงนะ ผมคิดว่าสอนคนตาบอดให้เล่นพิณแก้วมันยากมากนะ แต่เราชอบอะไรที่มันท้าทาย ก็เลยลองดู ก็ไปสอนเขาที่บ้าน ผมว่ามันเป็นการเรียนรู้ของผมเองด้วย คนตาบอดจะเล่นแก้ว ใครจะคิดว่าเล่นได้ เราเคยเห็นคนตาบอดเล่นหลายอย่าง เล่นเปียโน อย่างคีย์เปียโน แค่เราเอานิ้วไปกดมันโดนตรงไหนของคีย์เสียงมันก็ออก แต่แก้วถ้าให้มีเสียงมันต้องโดนตรงขอบมันพอดี ถ้าพลาดก็วืดเลยนะ”
อาจารย์วีระพงษ์เล่าถึงวิธีที่เขาใช้เพื่อเตรียมการสอนเด็กตาบอดซึ่งทั้งน่าสนุกและท้าทาย “ใช้วิธีปิดตาตัวเอง ตอนอยู่บ้าน เราไม่รู้เลยว่าแก้วอยู่ไหน ก็คลำๆ ไป ขั้นตอนในการสอนขั้นที่หนึ่งของเราก็คือให้เขา (น้องแตน) คลำแก้ว ให้เขาทำความรู้จักด้วยการคลำ แก้วมันเป็นอย่างไรมันกว้างแค่ไหน แล้วคนตาบอดเขาเรียนรู้ด้วยการคลำอยู่แล้ว หลังจากนั้นเราก็ให้เขาลองเอานิ้วจุ่มน้ำ แล้วก็แตะที่แก้วใบหนึ่ง ลองถูให้มันมีเสียง
พอถูมีเสียงแล้ว ลองให้ถู 2 ใบ แล้วจาก 2 ใบก็เป็น 3 ค่อยๆ เพิ่มจนครบ 5 ใบ ก็เล่นเป็นเพลงเลย ตอนแรกเรานึกว่าจะยากแต่ไม่นานเลย เพราะว่าคนตาบอดเขาจะมีสิ่งชดเชยคือเรื่องของการฟัง แล้วเขาตั้งใจมาก เรียนรู้ได้เร็ว เพลงแรกก็คือ เพลงแมงมุมลาย
พอเขาเล่นได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราก็หาเพลงที่มีโน้ตเพิ่มขึ้นตามลำดับ ใช้วิธีบอกโน้ตเขา พอดีน้องคนนี้เคยเรียนเปียโนมาก่อน เขาจะรู้โน้ตนิดหน่อย วิธีจดโน้ตของเขา พอเราบอกว่าน้องแตนเพลงนี้นะเริ่มด้วยโน้ตตัวโด 4 จังหวะ เขาก็หยิบกระดาษขึ้นมาจิ้มอักษรเบรลจึกๆๆ ถึงเวลาเขาก็ทบทวนด้วยการคลำ แล้วก็เล่นไป
สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกประทับใจคือ พอคนรู้วาน้องแตนเล่นพิณแก้วได้ ก็ชวนให้ไปออกรายการ ตอนนั้นน้องต้องเล่นเพลง “เพลงแก้วกัลยา” แต่ช่วงนั้นผมไม่มีเวลาไปสอนที่บ้าน ก็ใช้วิธีไปหาโน้ตมาแล้วบอกเขาทางโทรศัพท์ เขาก็ฝึกเล่น 2 วัน วันที่ 3 ให้เขาเล่นให้ฟังทางโทรศัพท์ เราก็แนะนำทางโทรศัพท์ รุ่งขึ้นเขาเล่นโชว์ออกทีวีเลย และน้องแตนเป็นคนแรกที่ผมทำชุดเครื่องดนตรีพิณแก้วให้ ประมาณ 20 ใบ”
เชื่อว่าดนตรีพัฒนาคน
“ถ้าพูดถึงเรื่องดนตรีคนจะมองว่าเป็นเรื่องของความบันเทิงสนุกสนาน เฮฮา แต่ถ้าถามผมเรื่องแนวคิดในการเล่นดนตรี ผมมีความรู้สึกว่าดนตรีแท้ที่จริงแล้วมันก็คือสื่อชนิดหนึ่ง มันอยู่ที่ว่าเราจะไปใช้ทำอะไร เราต้องการสื่อสารกับใคร และสื่อสารเรื่องอะไร ก็เลยกลายเป็นกิจกรรมทั้งหลายทั้งมวลที่ผมทำ ผมใช้ดนตรีเป็นสื่อในการพัฒนาคน ผมไม่คิดว่าตัวเองอยากจะเป็นนักดนตรีที่เล่นแล้วแสดง มีคนชมว่าเก่งจังเลย เพราะมาก สำหรับผมมันไม่พอ ดนตรีมันเป็นสื่อที่มีคุณค่ามากกว่านั้น
ผมอยากใช้ดนตรีเป็นสื่อในการทำอะไรบางสิ่งบางอย่างที่มีคุณค่ามากกว่าให้ความบันเทิง จนกระทั่งวันที่ผมรับเชิญให้มาแสดงที่เรือนจำ แนวคิดนำดนตรีมาสอนให้ผู้ต้องขัง พอเขาเล่นแล้วเขารู้สึกว่าตัวเขาพัฒนาขึ้น จิตใจเขาพัฒนาขึ้น วิธีคิด หรือว่าไปเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้เขา
สำหรับผม เวลาเล่นมันมีสมาธิ มันให้ทุกอย่าง เป็นสิ่งที่ทำให้ผมกลายเป็นคนที่มีคุณค่า ผมสามารถใช้มันในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คน ทำให้เราคิดว่าไม่เสียทีที่เราได้เกิดมา
รายละเอียดเพิ่มเติม
Glass Harp หรือ พิณแก้ว เป็นเครื่องดนตรีที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 500 ปี เสียงอันไพเราะงดงามของพิณแก้ว เกิดจากการสั่นสะเทือนของตัวแก้ว ในขณะที่เราเอานิ้วมือถูวนไปรอบๆ บริเวณขอบปากแก้ว โดยมี เคล็ดลับที่สำคัญ คือ
1. ใช้แก้วที่มีก้าน โดยปกติ แก้วก้านที่มีขายอยู่ทั่วไปจะมีรูปทรงต่างๆ หลากหลาย เช่นทรงกลม ทรงรี ทรงสามเหลี่ยม ทรงสูง ทรงเตี้ย มีทั้งก้านยาวและสั้น แต่แก้วก้านที่เหมาะจะนำมาใช้ทำพิณแก้ว คือ ทรงกลมที่มีก้านสั้น (ทรงบรั่นดี)
2. ล้างแก้วและมือให้สะอาด ปราศจากไขมัน
3. นิ้วมือที่ใช้ถูแก้วต้องเปียกน้ำอยู่เสมอ โดยจะใช้นิ้วใดก็ได้ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละบุคคล แต่นิ้วมือต้องเปียกอยู่เสมอ
การปรับระดับเสียงพิณแก้ว
องค์ประกอบที่สำคัญ 3 ข้อที่ใช้ในการปรับแต่งเสียงคือ
ขนาดของแก้ว :
แก้วใบใหญ่ จะให้เสียงต่ำ
แก้วใบเล็ก จะให้เสียงสูง
ความหนาบางของเนื้อแก้ว :
แก้วเนื้อบาง จะให้เสียงต่ำ
แก้วเนื้อหนา จะให้เสียงสูง
ปริมาณน้ำในแก้วที่ต่างกัน : ปริมาณน้ำที่เติมเข้าไป จะทำให้เสียงเปลี่ยนเป็นโน้ตต่างๆ ได้ โดย
น้ำน้อย เสียงสูง
น้ำมากขึ้น เสียงก็จะต่ำลงเรื่อยๆ
* ข้อควรระวัง : ไม่ควรเติมน้ำเกินครึ่งแก้ว เพราะจะทำให้ความกังวานของแก้วลดลงมากเกินไป
การติดตั้งแก้ว
ในการบรรเลงพิณแก้ว ซึ่งประกอบขึ้นจากแก้วจำนวนมาก จำนวนของแก้วขั้นต่ำที่สามารถใช้บรรเลงเพลงอย่างง่ายๆ ได้ ควรจะเริ่มต้นจากแก้ว 5 ใบ โดยแก้วแต่ละใบจะทำหน้าที่แทนตัวโน้ต 1 ตัว
ดังนั้น ในขณะที่เราใช้นิ้วมือถูวนไปบนขอบแก้ว แรงกดและแรงหมุนที่เกิดขึ้นจะทำให้แก้วล้มลงได้ สิ่งแรกที่เราควรทำ คือ ยึดแก้วให้ติดแน่นอยู่บนฐาน ที่เตรียมไว้ ซึ่งอาจจะเป็น แผ่นไม้ แผ่นกระจก พลาสติก หรือ อะคริลิก
การยึดติดแก้วบนฐานทำได้ 2 ลักษณะ คือ
แบบชั่วคราว : โดยใช้กาวดินน้ำมันติดใต้ฐานแก้ว
แบบถาวร : ใช้กาวซิลิโคน ที่ใช้สำหรับยึดติดกระจก
อ. วีระพงษ์ ทวีศักดิ์ เรียนจบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ครุศาสตร์ดนตรี) เป็นนักดนตรีพิณแก้วคนแรกในประเทศไทย
ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษ / วิทยากร หัวข้อ ดนตรีพิณแก้ว และ Music Appreciation ในสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ
และกรมราชทัณฑ์
ข่าวโดยทีมข่าว M-Lite/ASTV สุดสัปดาห์
ภาพโดย ธัชกร กิจไชยภณ