xs
xsm
sm
md
lg

ทุกข์เพราะน้ำท่วม : ทุกข์ที่บรรเทาได้ถ้าไม่อ่อนหัด

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

หลังจากมีข่าวสับสนว่าน้ำท่วมหรือไม่ท่วม กทม.อยู่ระยะหนึ่ง ในที่สุดนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแถลงการณ์ว่าน้ำจะท่วม กทม. และระดับน้ำจะอยู่ที่ 10 เซนติเมตรถึง 1.5 เมตร ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่สูงหรือต่ำ ถ้าเป็นพื้นที่สูงก็ท่วมน้อย และถ้าเป็นพื้นที่ต่ำก็จะท่วมมาก

ถ้าทุกอย่างที่นายกฯ บอกเป็นความจริง ก็แปลว่าคำพูดก่อนหน้านี้ที่ว่า น้ำมากแต่เอาอยู่ คือสามารถป้องกันได้ ก็ไม่ตรงต่อความเป็นจริง

ถ้าบังเอิญว่าน้ำไม่ท่วม กทม.ตามที่นายกฯ บอก ก็แปลว่าท่านนายกฯ คาดการณ์ผิดหรือได้ข้อมูลมาจากนักคาดการณ์ประเภทกระต่ายตื่นตูม

อีกประการหนึ่ง ไม่ว่าคำแถลงการณ์ของนายกฯ ที่ว่านี้ผิดหรือถูก คือน้ำท่วมหรือไม่ท่วมตามที่ผู้นำประเทศแถลงไปแล้ว สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นและผิดไปแล้ว และไม่มีโอกาสแก้ไขให้กลับมาเป็นถูกได้อีกแล้ว นั่นก็คือ การที่ต่างฝ่ายต่างคิด ต่างฝ่ายต่างพูด แต่ไม่รวมกันทำหรือทำแต่ทำได้น้อยกว่าที่พูด อันถือได้ว่าเป็นการทำงานที่ขาดเอกภาพ ก่อให้เกิดความสับสน ประชาชนได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือถูกต้องแต่ช้ากว่าที่จะเตรียมการป้องกันหรือแก้ไขได้ทันท่วงที ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน และเป็นรูปธรรมในเรื่องนี้ก็คือ การที่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในการนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายเนื่องจากไม่ได้เตรียมการป้องกันไว้เท่าที่ควรจะเป็น หรือถ้าป้องกันไม่ได้ แต่ถ้ารู้ล่วงหน้าก็ย้ายเครื่องจักรและวัตถุดิบ รวมไปถึงสินค้าสำเร็จรูปออกได้ทัน

จริงอยู่ ปริมาณน้ำในปีนี้อาจมากเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ใช่ว่าจะมากกว่าในบางปีที่หนัก เช่นปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมากนัก แต่ทำไมในปีก่อนๆ เสียหายน้อยกว่านี้ และที่เป็นเช่นนี้น่าจะอนุมานได้ว่าเกิดจากปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ในปีก่อนๆ การแก้ไขและป้องกันปัญหาน้ำท่วมมีเอกภาพมากกว่าในปีนี้หรือว่ามีเวลาเตรียมการมากกว่าปีนี้ จะด้วยการมีเวลาเตรียมแผนปล่อยน้ำในเขื่อนแต่ละเขื่อนให้เหลือน้ำในปริมาณที่คาดว่าจะรับน้ำฝนที่ตกลงมาเหนือเขื่อนได้ โดยที่ไม่ต้องเร่งปล่อยเพื่อรักษาความมั่นคงของตัวเขื่อนเช่นในปีนี้

2. การขุดลอกคูคลอง รวมไปถึงการประสานงานในการเปิดปิดประตูน้ำเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมไปถึงการได้รับความร่วมมือด้วยดีจากชาวบ้าน จะเห็นได้จากการที่ชาวบ้านไม่ออกมาขัดแย้งให้เห็นทางสื่อเช่นในปีนี้

จากเหตุปัจจัย 2 ประการดังกล่าวนี้ อนุมานได้ว่าช่วยให้การแก้ไขและป้องกันปัญหาน้ำท่วมทำได้ง่ายขึ้น

อะไรคือเหตุให้ปัจจัย 2 ประการที่ว่านี้ไม่ได้ดำเนินการ และถ้ามีการดำเนินการคาดว่าน้ำจะท่วมน้อยกว่าที่เป็นหรือไม่?

ก่อนที่จะเข้าสู่เหตุแห่งปัญหานี้ ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูแนวทางแก้ปัญหาที่คนไทยส่วนใหญ่ยึดติดอยู่กับคำสอนของพระพุทธเจ้า ตามนัยแห่งอริยสัจ 4 คือ

1. ทุกข์ อันเปรียบได้กับปัญหา

2. สมุทัย เหตุเกิดแห่งปัญหาหรือที่มาแห่งทุกข์

3. นิโรธ อันเปรียบได้กับการแก้ปัญหา

4. มรรค อันเปรียบได้กับมาตรการหรือแนวทางปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือแนวทางไปสู่การดับทุกข์

ถ้าจะนำแนวทางนี้มาเป็นเครื่องมือมาตรการในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ก็จะต้องเริ่มที่การค้นดูเหตุหรือที่มาของน้ำท่วม ก็พอจะอนุมานได้ว่าน้ำที่ท่วมทั้งพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง อันได้แก่ นครสวรรค์ เป็นต้น ภาคกลางตอนบน อันได้แก่ ลพบุรี เป็นต้น และสุดท้ายบริเวณที่ลุ่มภาคกลาง ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี เป็นต้น จะมีอยู่ 3 ประการ คือ

1. น้ำเหนือ ซึ่งเกิดจากฝนตกหนัก และไหลลงเบื้องล่าง มีทั้งที่ผ่านเขื่อนกักน้ำ และไม่ผ่านเขื่อนไหลมาตามแรงโน้มถ่วงของโลกลงสู่ทะเล

2. น้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่แต่ละแห่งโดยตรง และมาผสมกับน้ำเหนือ

3. น้ำทะเลหนุน จะมีผลโดยตรงต่อพื้นที่ที่อยู่ติดแม่น้ำซึ่งเชื่อมต่อกับทะเลโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน

เมื่อไหร่ก็ตามที่ปรากฏการณ์น้ำ 3 ประการนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน จะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขัง หรือล้นตลิ่งเข้ามาท่วมพื้นที่ราบลุ่มทันที

ในปีนี้ก็เกิดปรากฏการณ์น้ำประการที่ว่านี้เหมือนปีก่อนๆ แต่ที่แปลกกว่าปีก่อนๆ ก็คือ เมื่อก่อนถึงฤดูฝน น้ำในเขื่อนถูกเก็บกักไว้ในปริมาณมากกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อฝนตกลงมาปริมาณมาก ทำให้น้ำไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำหน้าเขื่อนเกินพิกัดเกินกว่าเขื่อนจะรองรับได้ จึงต้องปล่อยออกมาพร้อมๆ กันในปริมาณที่พื้นที่ด้านล่างจะรองรับ และไหลลงสู่ทะเลในภาวะปกติได้ จึงไหลบ่าเข้าสู่คูคลอง ทำให้ประตูกั้นน้ำไม่สามารถปิดกั้นไว้ได้จึงเข้าท่วมไร่นา และที่อยู่อาศัยก่อให้เกิดความเดือดร้อนดังที่เป็นอยู่

อีกประการหนึ่ง เมื่อมวลน้ำขนาดใหญ่ไหลบ่าผ่านลงมาในพื้นที่ราบลุ่มอันเป็นพื้นที่เกษตร ก็มีการป้องกันไม่ให้น้ำไหลผ่าน จึงทำให้มวลน้ำสะสมเป็นก้อนใหญ่ และมีความรุนแรงจนทำให้พนังกั้นน้ำพัง และท่วมพื้นที่ต่างๆ สูงกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อเทียบกับการปล่อยให้น้ำไหลไปสู่ทะเลตามปกติโดยที่ไม่ถูกกักไว้จนเอ่อท่วม และนี่เองคือข้อผิดพลาดอันเรียกได้ว่าเป็นความอ่อนหัดของผู้ที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาน้ำท่วม เพราะถ้าไม่อ่อนหัดก็ควรบริหารจัดการโดยแบ่งมวลน้ำให้ไหลลงสู่ทะเลในปริมาณที่สอดคล้องกับคูคลอง และทางน้ำผ่านรับได้โดยที่ไม่เอ่อท่วมสองฝั่ง หรือท่วมก็ไม่นาน

ยิ่งกว่านี้ ถ้าไม่อ่อนหัดก็ควรอย่างยิ่งที่จะได้ระดมสมอง โดยเชิญผู้ที่มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหามาวางแผนร่วมกัน และทำงานอย่างเป็นระบบ ทั้งในส่วนแก้ปัญหาน้ำท่วม และส่วนให้การช่วยเหลือผู้เดือดร้อน

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ควรจะได้รับการยกย่องในการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนก็คือ กองทัพ และสื่อมวลชน ที่ช่วยกันแข็งขันทั้งๆ ที่เป็นหน่วยงานเสริม แต่รัฐบาลที่เป็นหน่วยงานหลักกลับทำงานแบบคนตาบอดจูงคนตาบอด เลยตกตายทั้งคู่
กำลังโหลดความคิดเห็น