xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ใช้ “ยี่ต๊อก” เป็นเกณฑ์แก้ใบเสร็จนอกระบบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯกทม.
กทม.ใช้แนวทางศาล “ยี่ต๊อก” เป็นเกณฑ์แก้ใบเสร็จนอกระบบ จัดส่วนแบ่งรายได้เทศกิจ ให้หัวหน้ากลุ่มโซนกำหนดอัตราค่าปรับตามพื้นที่เศรษฐกิจ ขนาด และเวลา พร้อมให้เขต และ สน.ท้องที่พิจารณาจุดผ่อนผัน เผยอาจเห็นภาพเทศกิจยกรถเข็นในที่กวดขันพิเศษ

วันนี้ (12 ม.ค.) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าฯ กทม.ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมร่วมกับคณะกรรมการหาบเร่แผงลอย ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการกำหนดสัดส่วนค่าปรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอย โดยยึดตามหลักเกณฑ์ดุลพินิจ หรือ ยี่ต๊อก ซึ่งเป็นแนวทางที่ศาลใช้ ตนจึงได้มอบหมายให้หัวหน้ากลุ่มโซนกรุงเทพฯทั้ง 6 โซน กำหนดหลักเกณฑ์เทียบเคียงตามข้อบัญญัติการรักษาความสะอาด โดยยึดตามหลักเกณฑ์ 1.พื้นที่เศรษฐกิจหรือทำเลทอง ซึ่งจะต้องมีอัตราการปรับที่สูงกว่าพื้นที่ชานเมือง หรือพื้นที่รอบนอก 2.ขนาดพื้นที่ อาทิ หากเป็นรถเข็นธรรมดาขนาด 1 ตารางเมตร หรือพื้นที่ขายอาหารแบบตั้งโต๊ะ จะต้องมีอัตราค่าปรับไม่เท่ากัน และ 3.เวลา โดยดูว่าผู้ค้ามาขายทุกวัน หรือมาขายในช่วงเวลาใดบ้าง ทั้งนี้ได้วางกรอบเวลาที่จะต้องได้ข้อสรุปภายในวันที่ 31 มกราคม

“สาเหตุที่ที่ประชุมเลือกใช้ยี่ต๊อกเป็นเกณฑ์นั้น เพราะ กทม.ต้องการแก้ไขปัญหาการปรับโดยไม่ออกใบเสร็จ ซึ่งเป็นผลที่ต่อเนื่องมาจากกรณีใบเสร็จปลอมที่เขตบางรัก ส่วนเงินที่ปรับมาได้นั้น จะนำเข้าเป็นเงินกองกลาง แล้วจะแบ่งสัดส่วนรายได้ให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยมากกว่าชั้นผู้ใหญ่ เนื่องจากข้าราชการชั้นผู้น้อยมีจำนวนมาก และไม่ให้เกิดปัญหาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เอาเปรียบ สร้างความเป็นธรรมให้แก่ข้าราชการ รวมถึงเงินนอกระบบก็จะหายไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับอัตราค่าปรับแต่ละโซนพื้นที่ ซึ่งแต่ละโซนอาจจะมีรายได้จากการปรับไม่เท่ากันโดยในเรื่องส่วนแบ่งของค่าปรับนั้น ผมให้ผู้ที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปช่วยดูแลคือสำนักเทศกิจและสำนักงานกฎหมายและคดี กทม.” นายธีระชน กล่าว

นายธีระชน กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบในการกำหนดจุดผ่อนผันใหม่ โดยให้สำนักงานเขตและสถานีตำรวจท้องที่ตรวจสอบพื้นที่จุดต้องการขายใหม่ที่มีอยู่กว่า 20,000 ราย ตามโครงการประชาวิวัฒน์ จากนั้นให้เสนอมายังผู้อำนวยการสำนักเทศกิจพิจารณา ก่อนจะเสนอให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาลงนามแล้วจึงจะประกาศ ทั้งนี้ได้วางกรอบเวลาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มกราคมนี้เช่นกัน ทั้งนี้ ใน 6 เดือนแรกของปีนี้ตนให้เวลาหัวหน้าฝ่ายเทศกิจของแต่ละเขตใช้เวลาในการปรับตัวดูแลกวดขันไม่ให้มีการค้าขายในจุดผ่อนผันพิเศษ 5 จุด ได้แก่ ทางขึ้นสะพานลอย ศาลาที่พักผู้โดยสาร ทางข้ามทางแยก ตู้โทรศัพท์และตู้ไปรษณีย์ จากนั้นอีก 6 เดือนที่เหลือก่อนผู้ว่าฯ กทม.จะหมดวาระในวันที่ 11 มกราคม 2556 ตนจะลงไปดูแลด้วยตนเอง เพื่อกวดขันเป็นพิเศษ ซึ่งอาจจะเห็นภาพเจ้าหน้าที่เทศกิจยกรถเข็น ยกแผงลอยของผู้ค้าก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น