xs
xsm
sm
md
lg

“อุกฤษ” ร่อนคำแถลง อ้างขอชำแหละปัญหานิติธรรม ไม่ก้าวล่วงองค์กรอื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.)
ประธาน คอ.นธ.ออกคำแถลง เผยเปิดเว็บไซต์เผยแพร่ข่าวให้ประชาชนพิจารณา ชี้แจงตำแหน่งประธาน กก.อิสระชายแดนใต้ฯ หมดวาระไปแล้วหลังรัฐประหาร อ้างหลักการทำงานหยิบปัญหาหลักนิติธรรมพิจารณา ยันไม่ก้าวล่วงองค์กรอื่น แต่จะรายงานสรุปปัญหา-ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล รัฐสภา ศาล ส่วนการปฏิบัติเป็นเรื่องของหน่วยงาน

เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2554 ที่ผ่านมา นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ได้ออกคำแถลงฉบับที่ 2 โดยมีสาระสำคัญ คือ ก่อนอื่นขอขอบคุณสื่อมวลชนทุกฉบับและทุกแขนงที่ให้ความสนใจในการจัดตั้ง คอ.นธ. โดยมีการเสนอข่าวและบทความอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ประชาชนได้ทราบข่าวและความคิดเห็นของสื่อมวลชน จึงได้เปิด Website ของ คอ.นธ.ขึ้นโดยให้ลงข่าวและบทความทั้งหมด ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพื่อเป็นการให้ข้อมูลกับประชาชนเจ้าของประเทศ ชื่อ http://www.nrlcthailand.org

ในส่วนของสื่อมวลชนบางแขนงยังเข้าใจผิดว่า ประธานกรรมการอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ (กอยส.) ซึ่งตนเป็นประธานกรรมการยังคงดำรงสภาพอยู่ ขอชี้แจงว่า กอยส.ได้จัดตั้งขึ้นต่อเนื่องจากคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ชุดนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งได้เสร็จสิ้นการปฏิบัติภารกิจ และเสนอรายงานต่อรัฐบาลแล้ว หลังจากนั้นตนได้รับการขอร้องทาบทามให้เป็นประธาน กอยส. ถ้าคณะกรรมการ กอส.ยังไม่เสร็จสิ้นภารกิจ ตนจะไม่ยอมรับเด็ดขาด เพราะไม่ถูกต้อง และเป็นการกระทำที่ไม่มีมารยาท ทั้งนี้ คณะกรรมการ กอยส.ได้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เดือน มี.ค. 2549 จนถึงวันที่ 19 ก.ย. 2549 จึงได้ยุติบทบาทลง โดยผลของการปฏิวัติ รวมเวลาที่ทำงานเพื่อชาวใต้ที่จะมีผลต่อสันติสุขของประชาชนทั้งชาติเป็นเวลาประมาณ 7 เดือน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าตามกฎหมายภายหลังการปฏิวัติวันที่ 19 ก.ย. 2549 คณะปฏิวัติไม่ได้ยุบคณะกรรมการ กอยส. แต่ด้วยความชอบธรรมและมารยาททางการเมือง เมื่อ กอยส.ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลก่อนการปฏิวัติ ดังนั้นเมื่อมีการปฏิวัติ คณะกรรมการ กอยส.จึงได้ยุติการทำงานลงโดยสิ้นเชิง และสลายตัวไปแล้ว ในฐานะประธานคณะกรรมการ กอยส.ขอเรียนว่าได้ทำงานให้ประเทศชาติด้วยการทุ่มเทการทำงานด้วยจิตวิญญาณ โดยไม่เคยได้รับผลประโยชน์ตอบแทนแต่ประการใด เพราะเป็นการทำงานเพื่อชาติและประชาชนอย่างแท้จริง แม้ว่าจะต้องเสี่ยงอันตรายเพียงใดก็ตามเพราะธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม และเมตตาธรรมค้ำจุนโลก

ทั้งนี้ แนวทางการทำงานของ กอยส. ยึดแนวทางเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และหลักยุติธรรม เมตตาธรรม ด้วยหลักการทำงานดังกล่าวทำให้ กอยส. สามารถเดินทางไปศึกษาปัญหาและทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ที่ทางราชการกำหนดเป็น พื้นที่สีแดง เช่น ตันหยงลิมอ บ้านท่าน้ำ ฯลฯ โดยนำสื่อมวลชนจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ และสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ (ช่อง 9) ไปถ่ายทำรายการสด ณ สถานที่จริงทุกแห่ง ซึ่งเชื่อว่าไม่มีคณะใดได้กระทำในลักษณะนี้ ถ้ามีโอกาสจะได้เผยแพร่งานของ กอยส. ต่อสาธารณชนต่อไป

ในคำแถลงยังกล่าวอีกว่า ขอยืนยันหลักการทำงานของคณะกรรมการ คอ.นธ.ว่า จะยึดมั่นในหลักกฎหมายที่ว่าด้วยยุติธรรม นิติธรรม สันติธรรม ประกอบกับหลักเมตตาธรรม โดยเคร่งครัด โดยได้ประกาศแนวทางนี้มาตั้งแต่ 1 ม.ค. 2534 ซึ่งผลย่อมมาจากเหตุ ดังนั้น คอ.นธ.จะยกปัญหาหลักนิติธรรมมาพิจารณา อาทิ หลักนิติธรรมคืออะไร นิติรัฐคืออะไร ยุติธรรมคืออะไร ควรมีมาตรฐานเดียวหรือไม่ ความเสมอภาคในสังคมไทย เสรีภาพในสังคมไทย ฯลฯ

ทั้งนี้ จะเผยแพร่แนวทางการดำเนินงานทางสื่อมวลชน โดยเฉพาะทางโทรทัศน์ด้วยการหยิบยกปัญหาที่เกิดขึ้นจริงมาพิจารณา เพื่อสรุปการแก้ปัญหาที่ชอบด้วยหลักนิติธรรม และหลักยุติธรรม ที่แท้จริง เพื่อทุกองค์กรอาจยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ รวมทั้งเป็นแนวทางแก่คณาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมาย และผู้ใช้วิชาชีพทางกฎหมายอีกด้วย นอกจากนี้จะเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน ประชาชนทั่วไปถามปัญหาที่เกิดขึ้นจริงมายังคณะกรรมการ กอ.นธ. รวมทั้งจะเปิดตู้ไปรษณีย์รับฟังปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงด้วย

นอกจากนี้ คณะกรรมการ คอ.นธ.จะไม่ก้าวล่วงไปใช้อำนาจกับองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ แต่จะรายงานสรุปปัญหา และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล รัฐสภา ศาล องค์กรต่างๆ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 3 ส่วนการปฏิบัติใดๆ ให้เป็นรูปธรรมจะเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว และประการสุดท้าย นายอุกฤษชี้แจงว่า ขอยืนยันว่าตนจะไม่ยอมทรยศต่อวิชาชีพ ต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และต่อประชาชนชาวไทยเป็นอันขาด

ก่อนหน้านี้ นายอุกฤษได้ออกคำแถลงมาแล้วรอบหนึ่งเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ซึ่งกล่าวถึงการจัดตั้ง คอ.นธ.โดยงานสำคัญงานแรกคือการหาบุคคลที่จะมาร่วมเป็นกรรมการไม่เกิน 12 คน โดยจะพิจารณาจากนักวิชาการทางกฎหมาย และนักกฎหมายที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ได้แก่ คณบดี และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกนั้นจะเชิญนักกฎหมายอาวุโสที่ไม่มีตำแหน่งทางการเมือง มีตำแหน่งทางวิชาการในระดับศาสตราจารย์ มาร่วมเป็นคณะกรรมการ นอกจากนี้ คอ.นธ.จะไม่ประชุมพิจารณาเรื่องที่มีองค์กรส่วนอื่นๆ และภาคประชาชนดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรม หรือการพิจารณาเรื่องที่ดินรัชดาฯ ที่จะเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
กำลังโหลดความคิดเห็น